ชุมพร - นายอำเภอท่าแซะ จ.ชุมพร ร่วมกับชาวประมง อ.ปะทิว เก็บศาลพระภูมิเก่าที่ถูกกองทิ้งไว้ริมถนนจำนวนมากนำไปทำบ้านปลากลางทะเล สร้างที่อยู่อาศัยให้สัตว์น้ำได้แพร่ขยายพันธุ์ พบผลดำเนินการประสบความสำเร็จทั้งจำนวนปลาที่เพิ่มมากขึ้น และศาลพระภูมิที่ถูกทิ้งริมถนนลดลง
วันนี้ (10 ก.ค.) ที่ท่าเทียบเรือคลองท่าเสม็ด เขตเทศบาลตำบลสะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอท่าแซะ นายนิวัฒน์ สังข์มาลา หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า ชพ.2 (ยายไท) นายพิศิษฐ์ ลีวิริยะไพฑูรย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.สะพลี นายณรงค์ ม่วงทองคำ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน พร้อมชาวประมงร่วมกันเก็บซากปรักหักพังของศาลพระภูมิเก่าชำรุดเสียหายที่ชาวบ้านนำไปทิ้งไว้ตามริมถนนจุดต่างๆ ในพื้นที่ของ อ.ปะทิว จำนวนนับพันชิ้นมาเก็บรวบรวมมาไว้ที่ริมชายหาดท่าเทียบเรือ
และขนใส่เรือประมงนำไปทิ้งลงสู่ท้องทะเลห่างฝั่ง 3,000 เมตร บริเวณกองหินลิปู หมู่ 5 ตำบลสะพลี ให้เป็นบ้านปลา แหล่งปะการังเทียมเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งอาหาร เพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำ หลังจากทิ้งศาลพระภูมิลงทะเลแล้วได้มีการสำรวจดูปริมาณปลาโดยการนำเบ็ดมาวางตก ปรากฏว่า ทุกคนที่หย่อนเบ็ดลงไปในทะเลบริเวณบ้านปลาดังกล่าวเพียงไม่ถึง 5 นาที ก็มีปลานานาชนิด เช่น ปลาแดง ปลาทู ปลาสีกุน และปลาเก๋า ติดเบ็ดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอท่าแซะ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมดังกล่าวที่ชาวบ้านเชิญตนมาร่วมด้วยนั้น เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่า ตนได้คิดริเริ่มทำสมัยที่ตนเป็นนายอำเภอปะทิวเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ตนจะย้ายไปเป็นนายอำเภอท่าแซะ เพราะตนได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่ตามท้องที่ต่างๆ มักจะเป็นศาลพระภูมิเก่า ชำรุดเสียหายถูกนำมาทิ้งกองไว้ริมถนนตามจุดต่างๆ ตามความเชื่อ เมื่อทิ้งสะสมเป็นเวลานานก็จะเป็นกองขนาดใหญ่ ซึ่งคนในหมู่บ้านก็ไม่กล้าขนย้าย หรือทำลาย เพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ทำให้ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพความสวยงาม และเกิดความกลัวในหมู่ชาวบ้านที่สัญจรผ่านบริเวณนั้น
ตนจึงได้ปรึกษากับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านสะพลี ซึ่งชาวประมงก็เห็นด้วย พร้อมกับไปปรึกษาขอคำแนะนำจากเจ้าอาวาสวัดเอราวัณ ในพื้นที่ อ.ปะทิว ก็บอกว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการลบหลู่ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด เนื่องจากเรานำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านส่วนรวม จึงเป็นที่มาของโครงการบ้านปลาดังกล่าว
นายนักรบ กล่าวต่อว่า หลังจากชาวประมงได้สร้างบ้านปลาบริเวณดังกล่าว จนถึงขณะนี้ 2 ปีแล้ว พบว่า มีสัตว์น้ำชุกชุมมากขึ้น ชาวประมงจับปลาได้มาก และมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังสามารถต่อยอดให้นักท่องเที่ยวมาเช่าเรือออกไม่พักผ่อนตกปลาที่มีอยู่ชุกชุมบริเวณดังกล่าวด้วย ทางกลุ่มประมงพื้นบ้านจึงได้ขยายพื้นที่ทำบ้านปลามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันในพื้นที่จะไม่พบศาลพระภูมิเก่า ชำรุดที่ถูกนำมาทิ้งริมถนนแล้ว ขณะนี้ตนกำลังขยายแนวคิดนี้ไปยังพื้นที่อำเภออื่นๆ ให้ใช้วิธีดังกล่าว ส่วนพื้นที่ใดไม่ติดกับทะเลก็สามารถนำมาไว้ที่จุดกองวัสดุสร้างบ้านปลาของแต่ละพื้นที่ได้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการทิ้งศาลพระภูมิเก่าไว้ตามริมถนน ซึ่งจะได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป