xs
xsm
sm
md
lg

พี่เลี้ยงพนักงานใหม่ ควรมีทัศนคติอย่างไร โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
 

Q: บุคคลที่จะเป็นพี่เลี้ยง ให้กับพนักงานใหม่ ควรเป็นคนที่มีทัศนคติดี หรือเป็นคนทำงานเก่งครับ คือคนที่ทัศนคติดีเลิศ มักไม่ใช่คนเก่ง ส่วนคนที่ทำงานเก่ง มักมีทัศนคติกลางๆ ดังนั้น เราควรเลือกอย่างไรดี

A: ขึ้นอยู่กับ ความคาดหวังขององค์กร ว่าต้องการให้พี่เลี้ยง มีหน้าที่ทำอะไร

ขออนุญาต ยกตัวอย่างบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กร ที่มีระบบพี่เลี้ยงพนักงานใหม่ ที่ประสบความสำเร็จ มายาวนานหลายสิบปี

หน้าที่ของพี่เลี้ยง คือสอนพนักงานใหม่ ทุกเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน (เพราะหัวหน้าโดยตรง มีหน้าที่สอนงานอยู่แล้ว จึงหลีกเลี่ยงไม่ให้ เกิดความซ้ำซ้อน) เช่น สอนวิธีการวางตัว และการปรับตัว เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร เป็นต้น

ปูนซิเมนต์ไทย กำหนดเกณฑ์ ในการคัดเลือก พี่เลี้ยงพนักงานใหม่ ดังนี้

1. มีอายุงานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป (เพราะต้องการเลือก พนักงานที่มีความคุ้นเคย กับวัฒนธรรมองค์กร และรู้จักผู้บริหาร รวมทั้งบุคลากร ที่สำคัญในองค์กร พอสมควร)

2. มีทัศนคติดี (เพราะเชื่อว่า ทัศนคติเป็นโรคติดต่อ เด็กใหม่อยู่กับพี่เลี้ยง ที่มีทัศนคติดี ก็จะมีทัศนคติดี ตามไปด้วย)

3. เพศเดียวกัน (เพราะต้องการ ป้องกันปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นในทางที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นการตัดไฟ แต่ต้นลม)

4. อยู่คนละหน่วยงาน กับพนักงาน (เพราะต้องการให้ พนักงานใหม่ มีช่องทางอื่นๆ ในการสื่อสาร นอกจากบุคลากร ในแผนกเดียวกันเท่านั้น)

5. มีผลการปฏิบัติงาน 3 ปีย้อนหลัง ในระดับ “ดี” (เพราะเชื่อว่า ผลงานดี สะท้อนให้เห็นถึง ความเป็นคนมีความรับผิดชอบ ในการทำงาน)

ดังนั้น หากยึดตามกติกา ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เป็นตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าทั้ง “ทัศนคติ” และ "ผลการทำงาน” ต่างเป็นปัจจัยสำคัญ ในการคัดเลือกพี่เลี้ยงพนักงานใหม่ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกผู้ที่มี ทั้งทัศนคติ และผลการทำงาน ที่อยู่ในระดับ “ดี” แต่หากจำเป็นต้องเลือก สิ่งในสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว ผมแนะนำให้เลือก “ทัศนคติ” เพราะเป็นสิ่งที่ปลูกฝัง และปรับเปลี่ยนได้ยากกว่า

 

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น