PwC เผยจำนวนมหาเศรษฐีนีทั่วโลกเพิ่มขึ้นรวดเร็วแซงหน้าผู้ชายภายในช่วงเวลาเพียง 20 ปี เหตุผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการบริหารธุรกิจครอบครัว บริษัทมหาชน และเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น ชี้สาวเอเชียสร้างฐานะ ดันตัวเองเป็นมหาเศรษฐีนีตั้งแต่อายุยังน้อย แถมสัดส่วนแซงหน้าสหรัฐฯและยุโรป แย้มเคล็ดลับรักษาความมั่งคั่งให้ยั่งยืน ต้องติดตามเศรษฐกิจ ยืดหยุ่นต่อกฎระเบียบและภาษี วางแผนสืบทอดมรดก และสร้างธรรมาภิบาลในครอบครัว
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมหาเศรษฐีที่รวยระดับหลายพันล้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงหันมาเป็นเจ้าของกิจการและเข้ามามีบทบาทในระดับบริหารเทียบเท่ากับผู้ชายมากขึ้น โดยพบว่า สัดส่วนผู้บริหารหญิงในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของโลกนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงกิจการครอบครัว (Family Business) ส่วนใหญ่ยังถูกบริหารงานโดยผู้หญิงด้วยเช่นกัน ขณะที่เศรษฐีนีเกิดใหม่จากการได้รับมรดกจากบรรพบุรุษก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สอดคล้องกับผลสำรวจ Billionaires Report: The changing faces of billionaires ซึ่งจัดทำโดย UBS Group AG และ PwC ฉบับล่าสุด ที่ระบุว่า อัตราส่วนการเพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐีหญิงในโลกมีสัดส่วนสูงกว่าผู้ชาย โดยพบว่า จำนวนเศรษฐีผู้หญิงที่ทำการสำรวจเพิ่มขึ้น 6.6 เท่า ภายในระยะเวลา 20 ปีจาก 22 คนในปี 2538 เป็น 145 คนในปี 2557 ขณะที่จำนวนเศรษฐีผู้ชายเพิ่มขึ้นเพียง 5.2 เท่า โดยจำนวนเศรษฐีนีรุ่นใหม่ชาวเอเชียเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่น จากข้อมูลพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอัตราส่วนการเพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐีหญิงเอเชียเพิ่มขึ้น 8.3 เท่า หรือจาก 3 คนในปี 2548 เป็น 25 คนในปี 2557 ขณะที่สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเพียง 1.7 เท่าและยุโรปเพิ่มขึ้นเพียง 2.7 เท่า
“ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันผู้หญิงเอเชียมีหัวก้าวหน้ากว่าในอดีต และต้องการที่จะมีกิจการเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่คุณผู้หญิงเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ไปศึกษาในต่างประเทศ และได้แนวคิดการทำธุรกิจและการบริหารเงินทุนมาปรับใช้ในการก่อร่างสร้างธุรกิจของตัวเอง บางคนก็นำมาต่อยอดธุรกิจครอบครัว จึงไม่น่าแปลกใจที่เรายังพบว่า เศรษฐีนีเอเชียกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ประกอบการรุ่นแรกหรือ First-generation entrepreneurs ด้วยกันทั้งสิ้น”
ทั้งนี้ พบว่าสัดส่วนของมหาเศรษฐีนีที่สร้างฐานะด้วยตนเอง (Self-made billionaires) ในเอเชียมีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยหญิงสาวที่สร้างความมั่งคั่งด้วยตัวเองในภูมิภาคนี้มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของเศรษฐีพันล้านทั่วโลก ถือเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐที่ 19% และยุโรป 7% โดยผู้หญิงเอเชียส่วนใหญ่ร่ำรวยจากการเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) และอายุเฉลี่ยของมหาเศรษฐีนีเอเชียอยู่ที่ประมาณ 53 ปี น้อยกว่ามหาเศรษฐีนีเอเชียอเมริกาหรือยุโรปเกือบ 10 ปี (มหาเศรษฐีนีเอเชียอเมริกาอายุเฉลี่ย 59 ปี และยุโรปอายุเฉลี่ย 65 ปี)
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า 3 กลุ่มธุรกิจที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้หญิงเอเชีย ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) กลุ่มอุตสาหกรรม (Industrials) และสุขภาพ (Health) ขณะที่มหาเศรษฐีนีที่รับสืบทอดกิจการมาจากรุ่นพ่อแม่นั้น 72% ยังดำเนินธุรกิจเดิมของครอบครัว แต่ 24% เริ่มขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ได้รับประโยชน์จากอัตราการเศรษฐกิจของเอเชียที่เติบโตเพิ่มขึ้น
ความมั่นคั่งมีความผันผวน
นายศิระ กล่าวต่อว่า หากพิจารณาภาพรวมของมหาเศรษฐีทั่วโลกจะพบว่า การรักษาความมั่งคั่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จากข้อมูลพบว่า จำนวนมหาเศรษฐีรุ่นเก่าลดลงไปเกือบครึ่ง โดยปัจจุบันมีมหาเศรษฐีโลกรุ่นเก่าในยุคปี 2538 หลงเหลืออยู่เพียง 126 คน จาก 289 คนที่ทำการสำรวจ ส่วนหนึ่งเพราะเสียชีวิต และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวล้มละลายหรือธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ ในระยะเวลาเดียวกัน ก็พบว่ามีมหาเศรษฐีหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 1,221 คน ส่งผลให้ ณ ปี 2557 มีมหาเศรษฐีทั่วโลกรวมกันทั้งสิ้น 1,347 คน
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามหาเศรษฐีรุ่นเก่าสะสมความมั่งคั่งรวมราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 36 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% ของมูลค่าความมั่งคั่งของมหาเศรษฐกิจทั้งโลก โดยความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นจาก 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.04 แสนล้านบาทเมื่อปี 2538 เป็น 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.95 แสนล้านบาทในปี 2557 คิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณ 3.8 เท่า ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีโลกและดัชนี MSCI World Index ที่มีอัตราการเติบโตเพียง 2.5 เท่าเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำธุรกิจของเหล่ามหาเศรษฐีทั่วโลกที่ฝ่าฝันวิกฤตการเงินในตลาดทุนตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้
“มหาเศรษฐีจะรักษาความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นไว้ได้นั้น นอกจากดูแลทรัพย์ที่มีอยู่เดิมแล้ว ยังต้องหาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินทรัพย์ด้วย อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การวางแผนมรดกหรือถ่ายโอนความมั่งคั่งไปยังรุ่นต่อไป ซึ่งเราพบว่ามหาเศรษฐีทั่วโลกส่วนใหญ่จะมีลูกหลานมากกว่าสองคนขึ้นไป ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ความมั่งคั่งลดลงเมื่อลูกหลานโตขึ้น จึงต้องมีการนำกลยุทธ์ในการรักษาระดับความมั่งคั่งที่ชัดเจนมาใช้”
สำหรับประเทศไทยนั้น นายศิระกล่าวว่าในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนมหาเศรษฐีหน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน เนื่องจากคนรุ่นใหม่หันมาประกอบธุรกิจส่วนตัว และลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนมหาเศรษฐีนีของไทยก็เติบโตมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทายาทหญิงที่ได้รับมรดกจากรุ่นพ่อแม่ ขณะที่ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจมากขึ้นแต่ยังไม่สูงเท่าในต่างประเทศ
นายศิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า การรักษาความมั่งคั่งให้ยั่งยืนนั้น ไม่ว่ามหาเศรษฐีหรือผู้ประกอบการน้อยใหญ่จะต้องรู้จักปกป้องความมั่งคั่งของพวกเขาจากสถานการณ์ต่างๆ ทั้งความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและภาษี รวมถึงการส่งต่อความมั่งคั่งให้รุ่นต่อไป โดยหมั่นติดตามความเคลื่อนไหวของภาวะเศรษฐกิจ มีความยืดหยุ่นในการตอบสนองกฎระเบียบข้อบังคับ มีการวางแผนภาษีที่ถูกต้อง และเตรียมความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆภายในครอบครัว นอกจากนี้ ยังต้องประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน ตอบแทนสังคม และสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดแก่คนในครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องอีกด้วย