xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกยังคงเผชิญ 2 ปัญหาใหญ่ การบริหารงาน - การแยกความแตกต่างระหว่างครอบครัวกับความเป็นมืออาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


PwC เผยผลสำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลกพบ 7 เรื่องน่าสนใจ ชี้ยังคงเผชิญปัญหาการบริหารงานและแยกความแตกต่างระหว่างครอบครัวกับความเป็นมืออาชีพ แนะเร่งยกระดับพัฒนาองค์กร เน้นสร้างนวัตกรรมใหม่ และวางระบบบริหาร ส่วนธุรกิจไทยต้องปรับตัวให้ทันยุคดิจิตอลและเออีซี

PwC ประเทศไทย หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการทางด้านการตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาทางด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก เผยผลสำรวจล่าสุด Up close and professional: the family factor

ทั้งนี้ ผลสำรวจประจำปีครั้งที่ 7 ถูกจัดทำขึ้นระหว่างเดือนเมษายนถึงสิงหาคมโดยทำการเก็บข้อมูลจากบรรดาผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจครอบครัว จำนวน 2,378 ราย ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกยังคงเผชิญปัญหาการบริหารงานและแยกความแตกต่างระหว่างครอบครัวกับความเป็นมืออาชีพ ผู้ประกอบกิจการครอบครัวต้องเร่งยกระดับการพัฒนาองค์กร เน้นสร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมวางระบบบริหาร เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และส่งต่อกิจการไปสู่ทายาทรุ่นลูกหลานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ส่วนธุรกิจครอบครัวในไทยต้องเร่งปรับตัวทั้งการบริหารงานและเปลี่ยนโฉมธุรกิจให้ทันยุคดิจิตอล เพื่อเตรียมก้าวสู่เวทีเออีซีปลายปี 58

ผลจากการสำรวจที่น่าสนใจ 7 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวทั่วโลกยังคงเผชิญกับปัญหาการปฏิรูปธุรกิจครอบครัว โดยผู้ประกอบการถึง 40% มองว่า การจัดโครงสร้างบริหารอย่างมืออาชีพ จะเป็นยังปัจจัยเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจครอบครัวในอีก 5 ปีข้างหน้า

สอง 65% ของธุรกิจครอบครัวที่ทำการสำรวจ มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้บริหารกว่า 70% คาดว่าธุรกิจของตนจะเติบโตได้อย่างมั่นคงในอีก 5 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจครอบครัวยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจโลก และเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนสังคมและระบบเศรษฐกิจ โดยมีธุรกิจและรายได้คิดเป็น 70-90% ของจีดีพีโลก

สาม มีผู้บริหารอีก 15% ที่มีแผนที่จะขยายกิจการ (Business expansion) โดยธุรกิจครอบครัวที่มีความต้องการที่จะขยายกิจการของตนมากที่สุด 3 อันดับแรกในโลก ได้แก่ ธุรกิจครอบครัวในสาธารณรัฐประชาชนจีน (57%) ตะวันออกกลาง (40%) และอินเดีย (40%)

สี่ ความท้าทายภายใน (Internal challenges) องค์กรของธุรกิจครอบครัว 3 อันดับแรก ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ (64%) การดึงดูดพนักงานที่มีทักษะ (61%) และ การรักษาทาเลนต์ให้อยู่กับองค์กร (48%) ในขณะที่ การแข่งขันทางด้านราคา (58%) สภาวะทางเศรษฐกิจ (56%) และการแข่งขัน (42%) ถูกจัดให้เป็นความท้าทายภายนอก (External challenges) 3 อันดับแรก

ห้า 68% ของธุรกิจครอบครัวที่ถูกสำรวจ มีการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ 75% คาดจะยังส่งออกสินค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า โดยบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ในระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไปและอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) และเกษตรกรรม (Agriculture)

หก ธุรกิจครอบครัวที่มีความต้องการในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมากที่สุด คือธุรกิจครอบครัวที่ประกอบกิจการอยู่ในตลาดยุโรปตะวันออก (Eastern Europe) กลุ่มเศรษฐกิจ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) และกลุ่มประเทศคลื่นลูกใหม่ของเศรษฐกิจโลก หรือ MINT ประกอบด้วย เม็กซิโก อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และตุรกี

เจ็ด การวางแผนสืบทอดกิจการ (Succession planning) ยังคงเป็นปัญหาหลักของธุรกิจครอบครัวไทยในระยะข้างหน้า แม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะบอกว่าตนเล็งเห็นความสำคัญของการส่งต่อความเป็นเจ้าของไปสู่รุ่นลูกหลานซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มในระดับโลกที่พบว่า 53% ของธุรกิจครอบครัว มีแผนสืบทอดกิจการในตำแหน่งสำคัญๆ แต่มีบริษัทเพียง 16% เท่านั้น ที่มีการพูดคุยถึงแผนและมีการจดบันทึกกันอย่างจริงจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น