xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอเอเปก ชี้ไทยติดท็อปเท็นน่าลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

‘ซีอีโอ’เอเชีย-แปซิฟิกมั่นใจธุรกิจและรายได้เติบโตใน 12 เดือนข้างหน้า ชี้ไทยติดอันดับ 8 น่าลงทุนในอีก 3-5 ปี ระบุภาคเอกชนขาดความพร้อมดำเนินธุรกิจยุคดิจิตอล วอนภาครัฐเร่งหารือข้อตกลงการค้าเสรี เพื่อหามาตรการลดข้อจำกัดและอุปสรรคการกีดดันทางการค้า เพิ่มความคล่องตัวและดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ภูมิภาค

PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจซีอีโอในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประจำปี 2557 พบซีอีโอส่วนใหญ่มั่นใจธุรกิจและรายได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเติบโตเพิ่มขึ้น ชี้การขยายตัวของชุมชนเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เกิดการขยายตัวของอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการใหม่ๆในระบบเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดโอกาสทางการค้า-การลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค

PwC ได้จัดทำ APEC CEO Survey 2014 ‘New Vision for Asia Pacific: Connectivity creating new platforms for growth’ ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม 2557 โดยเก็บข้อมูลจากซีอีโอและผู้นำในอุตสาหกรรมชั้นนำ จำนวน 635 ราย ใน 39 ประเทศ รวมถึงสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) จำนวน 21 ระบบเศรษฐกิจ โดยผลสำรวจนี้ถูกใช้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit ประจำปี 2557 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เอเปกถูกก่อตั้งขึ้นมาครบรอบเป็นปีที่ 25 ในปีนี้

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ซีอีโอที่ทำการสำรวจเกือบครึ่งหรือ 46% แสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตรายได้ทางธุรกิจ (Revenue Growth) ของตนในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2556 ที่ 42% และ ปี 2555 ที่ 36%

“แม้เอเปกจะต้องเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกในช่วงที่ผ่านมา แต่ความมั่นใจของผู้บริหารในการทำธุรกิจในภูมิภาคนี้ยังคงแข็งแกร่ง เห็นได้จากสัญญาณการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อในภูมิภาคที่เพิมขึ้น การพัฒนากำลังคน รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นในภูมิภาค” นายศิระ กล่าว

“ประเด็นหารือในปีนี้ยังเน้นไปที่ข้อตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ตลอดจนความร่วมมือด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การวางผังเมือง และข้อตกลงด้านอื่นๆที่ยังไม่คืบหน้า แต่สัญญาณบวกที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ มีซีอีโอถึง 67% จาก 600 กว่ารายที่มีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าเอเปกยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก”

ผลสำรวจในปีนี้ยังระบุว่า ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในตลาดน่าลงทุน 10 อันดับแรกของภูมิภาค (43%) โดยอยู่ในอันดับเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (43%) และตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น (43%) ที่อันดับ 8 โดยประเทศที่นักลงทุนสนใจขยายการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ อันดับ 1 จีน (72%) อันดับ 2 สหรัฐอเมริกา (61%) อันดับ 3 อินโดนีเซีย (57%) อันดับ 4 ฮ่องกง (51%) อันดับ 5 สิงคโปร์ (50%) อันดับ 6 ฟิลิปปินส์ (47%) และอันดับ 7 เวียดนาม (45%)

“แม้ไทยจะมีปัจจัยการเมืองเข้ามากระทบในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจัยพื้นฐานและบรรยากาศการลงทุนของบ้านเราในภาพรวมยังดีอยู่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งในปีนี้จะเห็นว่า อินโดฯ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มีอันดับนำหน้าเราหมด” นาย ศิระ กล่าว

ทั้งนี้ ผลการศึกษาจัดทำโดย Oxford Economics คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของจีนจะลดความร้อนแรงลงจาก 10% (ในช่วงปี 2546-2556) มาที่ 6.5% (ในช่วงระหว่างปี 2556-2566) ในขณะที่เอเปกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 3.2% (ในช่วงระหว่างปี 2546-2556) เป็น 3.5% (ในช่วงระหว่างปี 2556-2566)
อุปสรรค-ความท้าทายข้างหน้า

ด้านนายเดนนิส แนลลี่ ประธาน บริษัท PricewaterhouseCoopers International Ltd. กล่าวว่า ผู้บริหารในกลุ่มเอเปกเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางธุรกิจ ผู้นำหลายรายต้องการหาบทสรุปข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) อีกทั้งความชัดเจนประเด็นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา และส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคในการออกกฎระเบียบ-ข้อบังคับทางการค้าระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก

ผลสำรวจในปีนี้ระบุว่า การค้าในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา เป็นผลจากการส่งเสริมมาตรการสนับสนุนเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าในด้านต่างๆ ขณะที่ประเทศสมาชิกหลายรายได้มีการเจรจาเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จข้อตกลงเขตการค้าเสรีในภูมิภาค เพื่อลดข้อจำกัดและขจัดกำแพงภาษีของสินค้าและบริการระหว่างกัน

“ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา ภาคธุรกิจและเอกชนจะเห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ ในการเจรจาเรื่องเขตการค้าเสรีในภูมิภาค แต่จากผลสำรวจในครั้งนี้ พบว่ามีซีอีโอมากกว่าครึ่งหรือ 55% ที่มองว่าการเจรจาดังกล่าว ไม่คืบหน้า หรือมีการดำเนินการอย่างล่าช้าในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา” นายแนลลี่ กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นที่ถือเป็นความท้าทายสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การขาดความพร้อมของผู้ประกอบการในการก้าวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจในระบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่นำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศ (Digital Economy) แม้การทำธุรกิจออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในแถบเอเชียอย่างมากก็ตาม

ผลสำรวจพบว่า ในขณะที่การเข้าถึงการใช้งานทางอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านช่องทางเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่ต่างๆมีอัตราที่สูงขึ้น และเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างยอดขายให้แก่หลายองค์กร แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำแนวปฏิบัติกลยุทธ์ออนไลน์มาใช้ โดยมีผู้บริหารเพียง 12% เท่านั้นที่เชื่อมั่นว่า ธุรกิจของตนสร้างกำไรหรือได้รับผลตอบแทนจากการนำโซเชียลเน็ตเวิร์กมาใช้ในการขยายธุรกิจ

‘โครงสร้างพื้นฐาน’ รากฐานสำคัญของความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาค

ผลสำรวจระบุว่ามีซีอีโอถึง 57% ที่ต้องการที่จะขยายธุรกิจของตนภายในภูมิภาคในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ส่งผลให้แต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต้องเร่งพัฒนาการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อการค้าขาย และเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

ผู้บริหารส่วนใหญ่ หรือ 6 ใน 10 รายที่ทำการสำรวจ กล่าวว่า ตนมีแผนที่จะลงทุนในโครงการศูนย์ข้อมูล (Data Centre) ศูนย์กระจายสินค้า และ คลังสินค้า โรงงาน รวมไปถึง ร้านค้าปลีกต่างๆในภูมิภาค นอกจากนี้ ผลสำรวจยังคาดว่า เม็ดเงินลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิกจะมีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาทในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพื่อขยายโครงการในกิจการขนาดใหญ่ในจีน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

“การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการ และบริการต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมา จะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้แก่ธุรกิจขนาดกลางกลางและขนาดย่อมในอันที่จะขยายกิจการของตนออกไปยังตลาดต่างประเทศ” นายศิระ กล่าว

“สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือการที่ภาครัฐของแต่ละประเทศต้องแสดงความจริงใจในการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการลดอุปสรรค กฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับทางการค้าต่างๆอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความได้เปรียบ และศักยภาพในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆนำไปสู่การลดต้นทุนในการผลิตและก่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว” นาย ศิระ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น