xs
xsm
sm
md
lg

สี จิ้นผิง เผยศก.สุ่มเสี่ยงจริงแต่ไม่น่ากลัว ตัวเลขนำเข้า-ส่งออกหดตัวทำจีนพลาดเป้าฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวปราศรัย ณ ที่ประชุมเอเปก ซีอีโอ ซัมมิต (APEC CEO summit) ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติจีน กรุงปักกิ่ง วันที่ 9 พ.ย. 2557 (ภาพรอยเตอร์ส)
เอเจนซี - จีนเผยตัวเลขนำเข้า-ส่งออก ประจำเดือน ต.ค. หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า อาจทำจีนพลาดเป้าหมายเศรษฐกิจเติบโตเป็นปีที่สาม ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลั่นกลางเวทีประชุมเอเปกฯ “เศรษฐกิจจีนสุ่มเสี่ยงจริง แต่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว”

สำนักงานศุลกากรส่วนกลาง (General Administration of Customs) ของจีนเปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า ปริมาณการส่งออกเขยิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ลดลงจากเดือน ก.ย. ก่อนหน้า ซึ่งกระโดดขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 15.3

อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่เหนือการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ที่สำนักข่าวรอยเตอร์สทำการสำรวจ ซึ่งคาดเดาตัวเลขไว้ที่ร้อยละ 10.6 แต่มันก็ชี้ให้เห็นว่าอัตราการส่งออกของจีน จะอ่อนตัวต่อเนื่องในช่วงสองถีงสามเดือนข้างหน้านี้

“เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญภาวะกดดันขาลงครั้งใหญ่ ด้วยตัวเลขส่งออกที่ไม่แน่นอน ขณะที่ความต้องการภายในประเทศก็เฉื่อยชา” เนี้ย เหวิน เศรษฐกรของ Hwabao Trust ในเซี่ยงไฮ้กล่าว “ธนาคารกลางคงต้องดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อรักษาทิศทางสู่เป้าหมายที่วางไว้ต่อไป”

ด้านปริมาณการนำเข้าก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 4.6 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์และลดลงจากร้อยละ 7 ของเดือน ก.ย. ทำให้จีนมียอดการค้าเกินดุลถึง 45.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเวลานานร่วมเดือน

ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าและส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ในช่วงสิบเดือนแรกของปีนี้ ทำให้จีนอาจพลาดเป้าหมายการเติบโตทางการค้าติดต่อกันเป็นปีที่สาม ซึ่งเป้าหมายของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.5 โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลกลางพลาดเป้าหมายร้อยละ 8 ของปี 2556 และร้อยละ 10 ของปี 2555

กระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวในรายงานที่เผยแพร่ในวันเสาร์ (8 พ.ย.) ระบุว่า สถานการณ์การส่งออกของจีนอาจพัฒนาขึ้นเล็กน้อยในปี 2558 เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจ โดยเมื่อไม่นานนี้ทางการจีนเผยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำไตรมาสที่ 3 ของปี อยู่ที่ร้อยละ 7.3 ซึ่งถือว่าอ่อนตัวที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลก

ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขจำนวนมากที่ไหลบ่าตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูจะแสดงให้เห็นภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจแดนมังกร ตอกย้ำว่าทางการจีนจำต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ดีกว่านี้

พญามังกรเปรยเศรษฐกิจจีนชะลอตัวไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

ณ ที่ประชุมเอเปก ซีอีโอ ซัมมิต (APEC CEO summit) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในวันอาทิตย์ (9 พ.ย.) ที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวต่อผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่และนักธุรกิจว่า รัฐบาพร้อมรับมือกับทุกความท้าทาย ท่ามกลางช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสู่การเติบโตที่เน้นการบริโภคมากขึ้น

“ประชาชนบางส่วนกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และสงสัยถึงหนทางข้างหน้าอันขรุขระ … แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะผจญกับความสุ่มเสี่ยงจริง แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเกินไป”

“แนวทางพัฒนาด้านต่างๆ รวมถึงนวัตกรรมและความเป็นเมืองมากขึ้น จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดยทางการตั้งเป้าโยกย้ายชาวสวนชาวไร่ราว 20 ล้านคน เข้าสู่เมืองใหญ่น้อยในแต่ละปี เพื่อเป็นไปตามความพยายามเพิ่มรายได้ครัวเรือนและบีบช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทให้แคบลง”

นอกจากนั้น สียังกระตุ้นชาติเอเชีย-แปซิฟิก ให้กล้าเผชิญ “ความย้อนแย้งของตัวเลือก” (paradox of choice) ในข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ เพื่อคัดเลือกสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม นำไปสู่ความใกล้ชิดของความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

สีเสริมว่า “ความฝันของเอเชีย แปซิฟิก” (dream of Asia Pacific) จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทรงพลัง ก่อให้เกิด “ครอบครัวเศรษฐกิจขนาดใหญ่มหึมา”

“ภูมิภาค (เอเชีย-แปซิฟิก) ต้องตัดสินใจว่าจะเล่นบทบาทผู้นำเพื่อสรรสร้างอนาคตอันรุ่งโรจน์ หรือคอยวิ่งตามและตกเป็นรองคู่แข่ง” สีกล่าว “ต้องตัดสินใจว่าจะช่วยกันบูรณาการอย่างลึกซึ้ง หรือจะจมดิ่งสู่วังวนแห่งความแตกระแหง”

ทั้งนี้ จีนได้ส่งกระแสชักชวนการทำข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคฉบับใหม่ในชื่อ “เขตการค้าเสรีเอเชีย แปซิฟิก” (Free Trade Area of the Asia Pacific) เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญอย่างทรานส์แปซิฟิก (TransPacific) ที่มีสหรัฐฯ หนุนหลัง

ด้านสำนักข่าวซินหวายืนยันคำกล่าวของสีว่า จีนจะดำเนินโครงการจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) จำนวน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนเม็ดเงินแก่โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในภูมิภาค ทำให้คาดการณ์ว่าการลงทุนในต่างประเทศของจีนจะแตะหลัก 1.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษหน้านี้

กำลังโหลดความคิดเห็น