PwC จัดทำรายงานความโปร่งใส หรือ Transparency Report เพื่อเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของสำนักงาน ระบบการกำกับดูแลกิจการ นโยบายและระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี ให้แก่ลูกค้าและสาธารณชนทราบ ด้านเลขาธิการ ก.ล.ต. เชื่อช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของงบการเงินและเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ พร้อมหนุนให้สำนักงานสอบบัญชีจัดทำและเปิดเผย Transparency Report ต่อสาธารณะ เพื่อยกระดับให้การเสนองานสอบบัญชีเป็นการแข่งขันด้านคุณภาพมากกว่าด้านราคา
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนของ PwC เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดทำ รายงานความโปร่งใส หรือ (Transparency Report) ภายใต้หัวข้อ A conversation on transparency, quality and value เป็นครั้งแรก หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอความร่วมมือจากสำนักงานสอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 25 แห่งให้จัดทำรายงานความโปร่งใส เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจการทำงาน และการควบคุมคุณภาพงานของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่ง PwC ถือเป็นรายแรกของวิชาชีพสอบบัญชีในประเทศไทยที่จัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้นมา
นายศิระ กล่าวว่า ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศในสหภาพยุโรป มีข้อบังคับให้สำนักงานสอบบัญชีต้องจัดทำและเปิดเผยรายงานความโปร่งใสอย่างสม่ำเสมอ
“รายงานความโปร่งใสฉบับนี้ จะทำให้ลูกค้าและสาธารณชน เข้าใจการทำงานของสำนักงานสอบบัญชีมากขึ้น และสะท้อนให้เห็นว่า PwC มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพงานสอบบัญชีและบุคลากรของสำนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตรงกับความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าให้มากที่สุด”
ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “transparency report จะมีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงิน เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และทำให้เกิดความโปร่งใสในวิชาชีพสอบบัญชี ซึ่งบริษัทจดทะเบียนยังสามารถใช้ transparency report ในการเลือกสำนักงานสอบบัญชีที่เหมาะสมกับกิจการของตนได้ และรายงานนี้ยังช่วยผลักดันให้สำนักงานสอบบัญชีเร่งพัฒนาคุณภาพงานสอบบัญชีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้สำนักงานสอบบัญชีทุกแห่งจัดทำและเผยแพร่ transparency report ต่อสาธารณะ เพื่อให้การเสนองานสอบบัญชีเป็นการแข่งขันด้านคุณภาพงานสอบบัญชีมากกว่าที่จะแข่งขันกันด้านราคา ”
เนื้อหาในรายงานความโปร่งใสของ PwC แบ่งเป็น 5 ส่วนหลัก ได้แก่ ข้อมูลที่เกี่ยวกับสำนักงานและแผนกที่ให้บริการด้านการสอบบัญชี (PwC Thailand and our Assurance practice) คุณภาพของบุคคลากร (Quality people) คุณภาพของการให้บริการ (Quality service) การติดตามผลเกี่ยวกับคุณภาพงาน (Monitoring of quality) และแผนงานในอนาคต (Our plan for the future) โดยเนื้อหาในรายงานสอดคล้องกับ มาตรฐานการควบคุมคุณภาพฉบับที่ 1 (ISQC 1 : International Standard on Quality Control 1 )
นาย ศิระ กล่าวว่า PwC คาดว่า รายงานความโปร่งใสฉบับนี้จะช่วยกระตุ้นให้สำนักสอบบัญชีรายอื่นๆ หันมาจัดทำรายงานในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกค้าและสาธารณชน เข้าใจการทำงานของสำนักสอบบัญชีแล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพของวิชาชีพสอบบัญชี และส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ทั้งนี้ PwC จัดพิมพ์รายงานความโปร่งใส หรือ Transparency Report จำนวนกว่า 500 ฉบับ ให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทที่ต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงสถาบันการเงิน สำหรับนักลงทุนทั่วไปหรือท่านที่สนใจสามารถ download รายงานฉบับนี้ได้ทางเว็บไซต์ PwC ที่ www.pwc.th