xs
xsm
sm
md
lg

"ข้อมูล มิตร และปาฏิหาริย์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย - ดร. ภิญโญ รัตนาพันธุ์

ผมค่อยๆ ตรึกตรองมองหาความแตกต่างระหว่างคนที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว มองลึกเข้าไปหาว่าอะไรที่ทำให้สองฝ่ายมีความแตกต่างกัน คนล้มเหลวคือฮ่องเต้ที่ครองราชย์อยู่ ที่ประสบความสำเร็จคือคนที่ไม่ใช่ฮ่องเต้ และหากใครขึ้นมาเป็นได้แล้ว รุ่นลูกรุ่นหลานมักไปไม่รอด ฮ่องเต้รุ่นหลังก็จะถูกขุนนางรุ่นหลัง ก้าวขึ้นมาแทน

คุณเห็นหรือไม่ครับว่ามันมีรูปแบบซ้ำๆ กันอยู่ สรุปแล้วขุนศึกเก่งกว่าฮ่องเต้ ใครมาเป็นขุนศึก สักพักจะเก่งและแกร่งขึ้นเรื่อย แต่เมื่อเป็นฮ่องเต้ สักพักจะเริ่มอ่อนแอ

ขุนศึกดูเหมือนว่าจะตัดสินใจอะไรก็ถูกต้องขึ้นเรื่อยๆ ส่วนฮ่องเต้จะตัดสินใจอะไรก็พลาดขึ้นเรื่อยๆ

แสดงว่า "การตัดสินใจ" มีผลมากๆ

แล้วมนุษย์เราตัดสินใจจากอะไร ก็จาก “ข้อมูล”

เป็นไปได้ว่าที่ขุนศึกตัดสินใจได้ถูกต้องก็เพราะได้ข้อมูลดี ส่วนฮ่องเต้ตัดสินใจพลาดเพราะได้ข้อมูลไม่ดี (ที่อาจนำไปสู่การไม่ตัดสินใจ หรือถึงขั้นตาบอดไปเลย)

ดูเหมือนบรรดาขุนศึกจะได้ข้อมูลดีกว่า ทำให้ตัดสินใจได้ดีกว่า แม่นกว่า

แล้วอะไรที่ขุนศึกกับฮ่องเต้มีต่างกัน ...บอกได้เลย “สถานที่”

ขุนศึกอยู่ในสมรภูมิ เห็นสถานที่เกิดเหตุ สัมผัสของจริงด้วยตนเอง ได้ข้อมูลดิบๆ ที่เห็นกับตา ผ่านการสังเกต การสัมภาษณ์ ตรงนี้ในโลกของวิชาการเราเรียกว่า “ข้อมูลปฐมภูมิ” ตรงนี้คุณจะได้ข้อมูลเชิงลึก ถ้าคุณจัดการดีๆ นี่เอาไปใช้ประโยชน์ได้มากๆ จะว่าไปการตัดสินใจจาก “ข้อมูล” ที่เห็นด้วยตาตนเอง ล้วนแล้วแต่ทำให้มนุษย์เราสามารถตัดสินใจได้ดีมากๆ เช่น เล่าปี่ ช่วงแรกๆ สังเกตเห็นกวนอูและเตียวหุยทะเลาะกันในตลาด ก็เห็นเลยว่าสองคนนี้มีฝีมือ ที่สุดก็ตัดสินใจเข้าไปคุย ข้อสันนิษฐานแรกๆ ก็ชัดขึ้น ที่สุดเมื่อได้คุยถึงอุดมการณ์ ก็เลยเกิดตำนานสามก๊กขึ้นมา คุณจะเห็นว่ากรณีซุนเซ็ก ที่หนีจากกองทัพอ้วนเสี้ยวไปก็เช่นกัน โจโฉก็เริ่มต้นทำนองเดียวกัน

ส่วนฮ่องเต้อยู่ในวัง ได้ข้อมูลจากคนอื่นมาอีกทอด ข้อมูลที่ผ่านการเก็บและ วิเคราะห์มาโดยผู้อื่นอีกที เราเรียกว่า “ทุติยภูมิ” คุณจะเห็นว่า ฮ่องเต้ปลายราชวงค์ฮั่นนั้นได้รับข้อมูลต่างๆ จากคนอื่น นี่ครับเป็นจุดที่ผมสนใจมากๆ ...

คนอื่นนั่นคือขันที ที่พระเจ้าเหี้ยนเต้เรียกว่าเป็นพ่อทีเดียว ฮ่องเต้ให้ความเชื่อถือในข้อมูลของขันทีมากๆ ... ซึ่งน่ากลัวครับ เนื่องจากขันทีคิดไม่ดีต่อประเทศชาติ ข้อมูลต่างๆ จึงถูกบิดเบือนไป การตัดสินใจของฮ่องเต้จึงพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพลาดมากขึ้น ความน่าเชื่อถือก็ลด ที่สุดอำนาจก็ลด ที่สุดราชวงค์เริ่มตกต่ำ จนพังในที่สุด

แต่พอรุ่นลูก รุ่นหลานของเล่าปี่ ซุนกวน โจโฉ ขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้ ทั้งหมดก็เข้าไปอยู่ในวัง แล้วต่างก็เริ่มเสพข้อมูลทุติยภูมิ จากผู้ให้ข้อมูลที่มีปัญหาต่อไป แล้วคนที่พังเป็นคนแรกก็คือเล่าเสี้ยน ตามมาด้วยลูกหลานโจโฉ และซุนกวน Garbage in Garbage out จริงไหมครับ

ส่วนสุมาอี้และลูก ซึ่งเสพข้อมูลปฐมภูมิมาแต่ต้น แถมสั่งสมคนดีไว้ใกล้ตัวได้ข้อมูลทุติยภูมิชั้นยอด ก็เปล่งประกายเรืองอำนาจขึ้นจนพิชิตสามก๊กได้

ข้อมูลปฐมภูมิกับทุติยภูมิเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ ครับ เรียกว่าในทางวิชาการข้อมูลปฐมภูมิ ถือว่าเป็นอะไรที่ทรงพลัง เป็นความรู้ชั้นหนึ่งครับ น่าเชื่อถือกว่าตำราอีก เพราะตำรานั้นคนอื่นเขียนมา อาจเขียนมาด้วยอคติอะไรบางอย่าง

มหาราชบ้านเรา เช่น พระนเรศวร รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านมีการเสด็จประภาสต้น ไปสังเกตประชาชน รัชกาลที่ 5 ไปถึงยุโรป นี่ก็คือไปเก็บข้อมูลปฐมภูมิด้วยตนเอง ผมว่าข้อมูลที่ “เห็นด้วยตา” ตนเองมีประโยชน์มากๆ รัชกาลที่ 4 ก็สัมภาษณ์ฝรั่งมา 27 ปีระหว่างที่ท่านบวช ท่านเลยมีความรู้ความเข้าใจโลกตะวันตกอย่างลึกซึ้ง

แต่ถ้าไม่เห็นกับตาหล่ะ จะทำอย่างไร คุณก็ต้อง “คัดคน” ผู้ให้ข้อมูลครับ เพราะถ้าคนดีและเก่ง ที่สุดเขาจะรวบรวมข้อมูลดีๆ ผ่านการสังเกตดีๆ แล้วมาวิเคราะห์ให้คุณ

ถ้าคุณคัดคนไม่ดีเข้ามานี่ยุ่งมากๆ ครับ อาณาจักรของคุณอาจล่มสลายได้ รัชกาลที่ 5 นั้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อท่านส่งเจ้าชายท่านไปเรียน ไปสัมผัสโลกต่างประเทศหมด กลับมาก็มารับราชการเป็นหูเป็นตา ท่านก็มีคนช่วยเก็บข้อมูลปฐมภูมิ มาวิเคราะห์เป็นทุติยภูมิที่น่าเชื่อได้ ที่สุดก็ไปไกล พ้นภัยครับ

การคัดคนดีๆ จึงมีความสำคัญมากๆ ...วันนี้ผมขอแนะนำ คนดีนี่ทางพุทธเราเรียกว่า "กัลยาณมิตร" ผมว่ากัลยาณมิตรน่าจะอธิบายเรื่องนี้ ลองมาสำรวจกัน จากพจนานุกรมพุทธศาสน์

Groups of Seven

กัลยาณมิตรธรรม 7 (องค์คุณของกัลยาณมิตร, คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ คือท่านที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ — qualities of a good friend)

1. ปิโย (น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม — lovable; endearing)

2. ครุ (น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย — estimable; respectable; venerable)

3. ภาวนีโย (น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ — adorable; cultured; emulable)

4. วตฺตา จ (รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี — being a counsellor)

5. วจนกฺขโม (อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว — being a patient listener)

6. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา (แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป — able to deliver deep discourses or to treat profound subjects)

7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย — never exhorting groundlessly; not leading or spurring on to a useless end)

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

ลองดูเรื่องกัลยาณมิตรนี้ให้ดีนะครับ ผมว่าเป็นนิยามเรื่องคนที่สุดยอดที่สุด ดูเหมือนเล่าปี่ได้ขงเบ้ง ที่มีคุณสมบัติเป็นกัลยาณมิตร ครบถ้วนมากๆ และทายาททางการเมืองของขงเบ้ง เช่น เกียงอุย ก็มีบุคลิกแบบนี้ ... โจโฉก็ได้กุยแก สุดยอดที่ปรึกษา ก็มีบุคลิกภาพประมาณนี้ และคนที่มีบุคลิกแบบกัลยาณมิตรนี้ได้รับการเคารพจากผู้นำยุคสามก๊ก และได้รับการยกย่องให้มีบทบาทนำในกองทัพ

ลองคิดถึงพลังอำนาจสิครับ คุณสัมผัสกับข้อมูลปฐมภูมิที่ก็สุดยอดอยู่แล้ว แหล่งข้อมูลทุติยภูมิก็สุดยอด ข้อมูลของคุณจะคมชัด จนกระทั่งการตัดสินใจใดๆ จะทรงพลังมากๆ ...

ในขณะที่ฮ่องเต้ตัดวงจรตัวเองจากสมรภูมิ นอกจากไม่รู้ข้อมูลปฐมภูมิแล้ว ยังขาดแหล่งข้อมูลทุตยิภูมิดีๆ ก็พังครับ พังอย่างเดียว

แต่ก่อนผมมีโอกาสสังสรรค์กับคนหลายคน ชัดมาก ไม่น่ารัก ขี้เมา ไม่อดทน บางคนเป็นถึงครู กลับทำตัวน่ากลัว ขาดสติ ผมถอยครับ เชิญเลยครับ ไม่อยากลงเหว ไม่เสวนาด้วยครับ เพราะนอกจากไม่ดีแล้วยังไม่ฉลาด (ไม่แถลงเรื่องล้ำลึกให้เข้าใจง่าย แถมชักนำไปในทางไม่ดี) เป็นบาปมิตรแน่นอน ผมไม่อยากอยู่กับแหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่ Error ครับ เพราะชีวิต Error แน่นอน ก็ตัวใครตัวมันครับ ถ้ารอบตัวคุณไม่มีคนที่มีคุณสมบัติเป็นกัลยาณมิตร ผมว่าชีวิตคุณไม่ไปไหนแน่ น่ากลัวมากๆ

สรุปบทเรียนเกี่ยวกับสามก๊กวันนี้นะครับ ถ้าชีวิตเราจะประสบความสำเร็จ

1.ต้องลงพื้นที่จริง คลุกคลีกับข้อมูลโดยตรง ได้ยินว่าบริษัทใหญ่ๆ บางแห่งของไทย มีนโยบายว่า ไม่ว่าคุณจะมีตำแหน่งสูงแค่ไหน ใน 10 วันของทุกปี คุณจะต้องลงไปทำงานคลุกคลีกับพนักงานที่อยู่หน้าร้านจริงๆ ทำงานเหมือนพนักงานเลย คุณจะได้เห็นของจริงครับ ผมเคยเจอร้านดังสมัยก่อนเจ้าของจะมาคุยกับลูกค้าครับ มารับ Order เอง ร้านดังเลยครับ พอมาถึงรุ่นลูก เธอนั่งอยู่ข้างในครับ ไม่เคยเห็นมาคุยกับลูกค้า ที่สุดปิดตัวไป ทะเลาะกับแม่ครัว ทะเลาะกับลูกค้า

2.ต้องคบหาดึงคนที่เป็นกัลยาณมิตรมาร่วมงานด้วย ลองดูคุณสมบัติเบื้องต้น ท่านอาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญท่านสอนให้เราดูที่ Key Behavior กตัญญูไหม ดูแลลูกเมียดีไหม ผมว่าท่านอาจารย์วรภัทร์พูดถึงเรื่องนี้ไว้ชัดมากๆ ลองดู CD เรื่องนี้ของท่านก็ได้ หรือไปดูหนังสือของท่านก็ได้ ดีมากๆ ลองหาหนังสือพูดได้ “กล้าได้อีก” ของท่านมาดู ผมเห็นที่ร้าน
3.ท่านต้องรักษาสมดุลให้ได้ เรื่องข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิ เพราะเป็นที่มาของการตัดสินใจดีๆ การตัดสินใจดีๆ นำมาสู่ความสำเร็จ ถ้าไม่ดีก็นำมาสู่ความล้มเหลว ที่ชัดเจนมากๆ

4.ยิ่งงานใหญ่ขึ้นก็ต้องการข้อมูลดีมากๆ ปฐมภูมิไม่พอครับ เพราะงานใหญ่ใช้ข้อมูลมาก เช่น กรณียุทธภูมิผาแดง ที่โจโฉแพ้พันธมิตรซุนกวนเล่าปี่ จะเห็นว่าโจโฉถึงกับรำพึงว่า “นี่ถ้ากุยแก ยังอยู่ ข้าคงไม่พ่ายศึกครั้งนี้” ชัดมากๆ ครับว่างานใหญ่ขนาดนี้บางทีต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาล ถึงจะตัดสินใจได้ และโจโฉแพ้ก็เพราะถูกลวงด้วยแหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่เป็นปัญหา ชัดไหมครับ

ผมว่าคนที่บอกว่าก่อนจะคิดการณ์ใหญ่ ต้องอ่านสามก๊ก ผมว่าตรงนี้เลยครับ

"ข้อมูลแท้ บวกกับมิตรแท้ สร้างปาฏิหาริย์ได้เลย"

ไม่มีสองตัวนี้ก็อย่างเพิ่งคิดการณ์ใหญ่นะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น