xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มพลังการตัดสินใจด้วยแนวคิด 4 M

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ดร. ภิญโญ รัตนาพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กร
www.aithailand.org

ทุกวันนี้ผู้บริหารไม่ว่าจะในระดับใด ต่างต้องเจอกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ กันไป ทำให้ในบางครั้งต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “ภัยคุกคาม” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจให้ได้ และหากตัดสินใจผิดอาจส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) แตกต่างไปจากเดิม

ในบางครั้งอาจส่งผลให้ถึงกับไปไม่รอด และถึงแม้จะไปได้ดี แต่อาจต้องพบเจอกับความคับข้องใจหลายๆ เรื่อง เช่น จริยธรรมของอาชีพ เป็นต้น ที่ว่ากำไรมาก อยู่ได้ แต่อาจต้องประนีประนอมความถูกต้องทางศีลธรรม แต่บางครั้งจะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะไม่ว่าผู้บริหารคนไหนก็ต้องทำแบบนี้ เรียกว่าถ้าทำให้ถูกต้อง ถูกใจนั่นได้ แต่กลับมีปัญหาเรื่องถูกธรรม ครั้นจะทำให้ถูกธรรม ก็ไม่ถูกต้อง ถูกใจ ตามระบบที่เป็นอยู่ จะเอาอย่างไรกันแน่ ?

ช่วงนี้ผู้เขียนเห็นผู้บริหารลำบากใจเรื่องการตัดสินใจมาก เลยอยากนำเสนอแนวทางการตัดสินใจ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่เรียกว่า ถูกต้อง แต่อาจไม่ถูกใจ แต่ถูกธรรมแน่นอน หรืออาจได้ครบทั้งสามองค์ประกอบก็ได้ ผู้เขียนขอเสนอ Model การตัดสินที่เรียกว่า “ 4M “ ของปรมจารย์นักคิด Edward de Bono ที่ว่าเก่าแล้ว แต่ก็ยังดีอยู่

4M ประกอบด้วย Me Value (คุณค่าของเรา หมายถึงอะไรที่เราเชื่ออยู่ ทำอยู่) Mate Value (คุณค่าที่เพื่อนของเรา หรือองค์กรอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกันยึดถือ ทำกันอยู่) Mankind Value (คุณค่าที่คนในระดับสากลยึดถึง เห็นดีเห็นงาม ทำกันอยู่) สุดท้ายคือ Moral Value (คุณค่าที่เราประเมินจากความเชื่อทางศีลธรรม ศาสนา ที่เรานับถืออยู่)

แนวคิดคือเวลาจะตัดสินใจอะไร เราควรประเมินจากกรอบทั้งสี่นี้ครับ ถ้าสมบูรณ์แบบก็คือ Me Value, Mate Value, Mankind Value อาจไม่เหมือนกันก็ได้ แต่สุดท้ายต้องสอดคล้องกับหลักศีลธรรมจริยธรรม คือ Morale Value

ลองมาดูกรณีศึกษากัน ในโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ผมมีโอกาสคุยกับผู้บริหารที่กำลังจะต้องตัดสินใจเรื่องภาระการดูแลคนไข้ เพราะมีงบประมาณต่อหัวมาเกี่ยวข้อง และตอนนี้มี KPI มาเกี่ยวข้อง ต้องบริหารต้นทุนกันแล้ว ซึ่งเวลาเอาต้นทุนมาคุยกัน ทำให้เห็นปัญหาเช่น เรื่องคนไข้เรื้อรังที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ความเสี่ยงของโรงพยาบาลเครือข่าย ที่มีงบประมาณจำกัดที่อาจจะพยายามรั้งผู้ป่วยไว้ เพียบจริงๆ จึงส่งไปที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า หลายเรื่องกำไร ความอยู่รอด ปัญหาจริยธรรมดูจะปนเปกัน แล้วจะตัดสินใจกันอย่างไรดีครับ ก็ 4M ได้เลย

Me Value (โรงพยาบาลของเรา) โรงพยาบาลเราต้องดู KPI ยึด KPI เป็นหลัก การตัดสินใจตอนนี้ต้องดูต้นทุน ซึ่งบางครั้งคนไข้อาจเสียโอกาส เช่น ใครจะไปรู้ หมอบางโรงพยาบาลอาจพยายามรักษาโรคที่ตัวเองไม่เชี่ยวชาญให้มากที่สุด ด้วยความกดดันเรื่องต้นทุนต่อหัว เมื่อไม่ได้จริงๆ ก็ส่งข้างโรงพยาบาล แต่ไปถึงก็เพียบแล้ว นอกจากไปเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ที่อื่น ยังทำให้คนไข้มีปัญหาตามมา

Mate Value (โรงพยาบาลในประเทศไทย) โรงพยาบาลในไทยที่ไหนก็ทำแบบนี้

Mankind Value (โรงพยาบาลในระดับสากล หรือในประเทศที่โดดเด่น) เราอาจต้องไปหาจากระดับสากลว่าทำอย่างไร ประเทศดีๆ เช่นที่ญี่ปุ่น ยุโรปดีๆทำอย่างไร เช่นผมเคยได้ยินว่าที่อังกฤษมีการกำหนด KPI ที่น่าสนใจ เป็น KPI เชิงป้องกัน เช่นกำหนดว่าถ้าแพทย์สามารถทำให้คนไข้เลิกบุหรี่ได้ นี่ได้เงินโบนัสเพิ่ม เพราะอะไร เพราะคนติดบุหรี่ หนึ่งคนถ้าติดมากนี่นำมาหลายโรคเรื้อรัง เรียกว่าต้นทุนในอนาคตของโรงพยาบาลและสังคมจะสูงขึ้น มาถึงตรงนี้ผู้บริหารอาจเริ่มคิดดึง KPI เชิงป้องกันเข้ามาเสริมสิ่งที่เราและคนในประเทศไม่ทำกันก็ได้

แต่คำถามคือถ้าเราก็ทำ องค์กรในประเทศไทยก็ทำ ระดับสากลก็เหมือนกัน จะทำอย่างไร ก็ต้องมาดูตัวสุดท้ายว่า "ถูกศีลธรรม" ไหม นั่นคือ Morale Value

Morale Value เช่น มาพิจารณากันว่าจริงๆ แล้วการดูแลคนไข้ที่ตนเองอาจไม่เชี่ยวชาญที่สุด จนทำให้คนไข้เสี่ยงนี่คงไม่ถูกศีลธรรมนัก ไม่ว่าศาสนาไหน

ตรงนี้ก็เอาเป็นหลักได้เลยว่า ต่อให้ประเทศที่เจริญแล้วทำ โรงพยาบาลของเรา และโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในกรุงเทพก็ทำ แต่ถ้ารู้สึกว่ามันขัดหรือหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม ก็ไม่ควรทำตามครับ

เอาเป็นว่าถ้าลังเลกับการตัดสินใจเมื่อไร ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านนึกถึง 4M เพราะนับเป็นทางเลือกที่ดีมากๆ จะทำให้เราตัดสินใจอะไรๆ ดีขึ้นมาครับ เป็นมองครบทุกมิติจริงๆ เรียกว่าทำให้เกิดการคิด การทำอย่างเป็นระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น