xs
xsm
sm
md
lg

เรียน OD จากหนังดัง "Tomorrowland

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย - ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์

มีเหตุการณ์บังเอิญสองสามเรื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมา เรื่องแรกคือได้ไปดูหนังเรื่อง Tomorrowland ที่ก็น่าตื่นเต้นยิ่งนัก หนังเป็นเรื่องราวของคนในอนาคตและหุ่นยนต์แสนรู้ ที่พยายามเสาะแสวงหาคนเก่ง ที่จะไปกอบกู้วิกฤติกาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์สูญสิ้น ที่สุดก็เจอเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ที่สุด ก็ถูกดึงมาช่วย ผ่านการผจญภัยที่น่าตื่นตาตื่นใจในโลกปัจจุบันและโลกอนาคต ตัวเธอเองสามารถวิเคราะห์ และหาสาเหตุจนเจอว่าโลกจะสูญสิ้นเพราะอะไร และย้อนกลับไปแก้ไขจนทุกอย่างคืนกลับมาดีดังเดิม มนุษย์ชาติปลอดภัย โลกก็ปลอดภัย

ถ้ามองดีๆ จะเห็นตัวละครหลักๆอยู่สี่ตัว มีหุ่นยนต์จากอนาคต มีมนุษย์โลกปัจจุบันที่เคยเป็นอนาคต เด็กวัยรุ่นผู้หญิง และศัตรูตัวเอ้ และทั้งๆที่ศัตรูมีกำลังมหาศาล เทคโนโลยีที่ล้ำยุค แต่กลับพ่ายคนเพียงสามคน ที่ดูธรรมดาๆ เป็นคนบ้านๆ ...

ที่มาจะเห็นว่าเกิดจากการที่หุ่นยนต์ (ที่ดูมีความเป็นมนุษย์) ค้นพบเด็กวัยรุ่นผู้หญิงที่ดูเป็นคนกล้าหาญ กล้าลุย เมื่อเจอก็เห็นโอกาส ที่จะเอาเธอมาแก้ไขปัญหาบางเรื่อง ที่เป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่จะพลิกประวัติศาสตร์ที่เดินมาผิดพลาด และก็ได้ดึงเธอมาเป็นแนวร่วม จากโอกาสรางๆ เมื่อสามารถเข้าถึงและทำงานร่วมกันได้ นางเอกเลยกลายเป็นแนวร่วมและเป็นจุดแข็ง ของคณะปฏิวัติในที่สุด เรื่องราวก็ดำเนินมาเรื่อย เมื่อทำงานร่วมกันได้ จุดแข็งก็คือความกล้าหาญกล้าคิดกล้าลุยก็ทำให้เด็กสาว ค้นพบต้นเหตุที่แท้จริงและต่อสู้ได้ถูกทาง นำไปสู่การเจอพันธมิตรเพิ่มเติม ที่ก็ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน จนเอาชนะทุกอย่างได้ในที่สุด

ในมุมมองของนักพัฒนาองค์กรแบบผม เรื่องนี้ทำให้ผมตื่นเต้นมากๆ เพราะทำให้นึกถึงเรื่องทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) มากที่สุด เพราะถามว่าศัตรูเก่งไหม เก่งมาก แต่กลับสู้ปัญญาของคณะปฏิวัติสามคนนี้ไม่ได้ ในทางพัฒนาองค์กร คำว่าปัญญาไปไกลกว่าความฉลาด เราอาจฉลาด แต่หากรู้ว่าอะไรควรไม่ควร อะไรเหมาะกับเราไม่เหมาะกับเราก็ยุ่งแน่นอน

ทุนทางปัญญาประกอบด้วยทุนสามทุนคือ Human Capital หรือทุนมนุษย์ ซึ่งคือคนที่มีทักษะสูง ทัศนคติดี (High Skill/Good Attitude) ทุนสองคือ Social Capital หรือทุนทางสังคม หรือความสามารถในการทำงานร่วมกัน และสุดท้ายทุนโครงสร้าง Structural Capital คือเรื่องของนโยบาย ขั้นตอนการทำงาน ระบบการทำงานที่ดี จะเห็นว่าฝ่ายที่ชนะตอนแรกเสียเปรียบมาก เพราะไม่มีต้นทุนอะไรเลย ต่อมาคนจากอนาคตเริ่มคิด Structural Capiatal ขึ้นมา คือเริ่มคิดว่าต้องหาคนที่กล้าหาญที่สุดเท่านั้น มาแก้ปัญหา นี่คือออกนโยบาย (Policy) ที่ดีแล้ว จากนั้นก็เริ่มคิดค้นขั้นตอน (Process) ตามหาคนจากอดีต เพราะอนาคตไม่เหลือแล้ว รวมทั้งออกแแบบขั้นตอนตามหา และขั้นตอนการหนีการไล่ล่าจากโลกอนาคต

ที่สุดก็เจอเด็กสาวที่ทักษะ Skill ได้ แต่ยังไม่มีทัศนคติที่ดีที่จะมาช่วย เพราะไม่เข้าใจว่าคืออะไร แต่หุ่นยนต์ก็เก่งมาก ได้พยายามให้ข้อมูลและทำให้เด็กสาวไว้ใจ คือหุ่นยนต์มันเก่งเรื่อง Social Capital จนที่สุดเด็กสาวไว้ใจ ครบแล้ว Human Capital เกิด พลังเริ่มเปล่งประกาย ..เมื่อทุนสามทุนรวมกัน เริ่มมีปัญญา เริ่มหลบหลีก ที่สุดมาเจอพระเอกอีกคน ที่ตอนแรกก็ไม่ไว้วางใจ แต่ด้วย Social Capital ของทั้งเด็กสาว ก็ทำให้ที่สุดสามคนมารวมตัวกัน ที่สุดปัญญาเกิดเด็กสาวค้นพบวิธีเอาชนะอุปสรรค จนกระทั่งเอาชนะคนจากอนาคตได้

เรื่องนี้ทำให้ผมเห็นกลไกการมององค์กร จากทุนทางปัญญาชัดมากๆ คุณจะพัฒนาอะไรลองดูว่าทุนสามทุนมันได้ไหม มีทักษะ แต่ทัศนคติไม่ได้ ก็ดึงศักยภาพมาไม่ได้ (Human Cpaital มีปัญหา แต่หากทำงานร่วมกันได้ (Social Capital ดี) ก็อาจพลิกทัศนคติ หรือเพิ่มทักษะได้ แต่ทั้งหมดอาจเข้าป่าไปเลย ถ้าไม่คิดทุนโครงสร้างดีๆ มาแต่แรก (Structural ไม่ได้ เช่นนโยบาย ขั้นตอนการทำงาน ระบบงาน ไม่ได้) แต่เรื่องนี้สะท้อนว่าด้วย Structural Capital ดีแต่แรก คือการตั้งเป้าเฟ้นหาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะกับภารกิจที่โหดหิน บวกกับ Social Capital ที่ดี สองอย่างนี้ ก็ทำให้สามารถได้ Human Capital มาเติมเต็ม จนมีปัญญาเหนือศัตรู

ถ้าใกล้ตัวล่าสุดไปทำงานร่วมกันผศ.ดร.ดวงจันทร์ อาจารย์คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์เป็นรองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ทำงานวิจัยด้านนิเทศศิลป์มานาน มีนโยบายที่ชัดมากๆ คือนำความรู้ที่มีมาช่วยชาวบ้านอิสานออกแบบผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่โดดเด่น ขายได้ มาหลายปี นี่คืออาจารย์มี Structural Capital แล้ว แถมมี Human Capital พร้อมคือทักษะและทัศนคติ ไม่พออาจารย์มีบุคลิกที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นง่าย เป็นคนง่ายๆ นี่คือ Social Capital ที่สำคัญคือ เป็นนักวิชาการที่สามารถทำงานร่วมกับคนต่างสาขาวิชาได้ดี ครบไหมครับ ล่าสุดมีโอกาสไปทำงานช่วยอาจารย์ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านที่ตำบลบ้านอ้อ จ.เลย ภายใต้โครงการของศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ล่าสุดผมเจอสิ่งนี้ครับ ....กระติ๊บข้าวเหนียว ..เล็กๆ ครับขนาดเหมาะมือ ผมก็นึกว่าเป็นกระติ๊บข้าวสำหรับเด็กๆ เพราะอันเล็ก ไม่ใช่ครับ มันเป็นกระติ๊บขนาดเล็กที่อาจารย์ออกแบบมาเพื่อให้คนเป็นเบาหวานกะขนาดข้าวเหนียวที่จะกินเข้าไป ไม่ให้มากเกินไปจนน้ำตาลกระฉูด ... โครงการนี้เกิดจากอาจารย์ไปทำงานร่วมกับพยาบาลด้านเบาหวาน ที่เห็นปัญหาชาวบ้านกินข้าวเหนียวจนเพลิน กะไม่ถูก ที่สุดนำมาสู่การออกแบบที่เรียบง่าย กลายเป็นกระติ๊บข้าวเหนียวสำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ...น่าสนใจไหมครับ เห็นไหมครับ Intellectual Capital ชัดๆ ... ครบสามทุนพื้นฐาน ที่สุดทำให้อาจารย์เห็นอะไรที่คนอื่นอาจมองข้าม จนสามารถสร้างนวัตกรรมที่แสนเรียบง่ายได้

จะเห็นว่าจะ Tomorrowland หรือปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น สิ่งสำคัญคือทุนทางปัญญา ที่ต้องบ่มเพาะขึ้นมาทั้งในระดับบุคคล ระดับทีม และองค์กร เริ่มจากการสร้าง Structural Capital ดีๆ Social Capital ดีๆ ก็จะทำให้สามารสร้าง Human Capital ดีๆ จนนำมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม หรืออเอาชนะอุปสรรคใดๆ ได้ในที่สุด น่าคิดครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น