โดย - ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์
ผมชอบดู Series หนึ่งของ HBO ชื่อ Games of Thrones ละครซีรี่ย์เรื่องนี้ เป็นอะไรที่ดังมากๆ ฤดูกาลนี้เป็น Series ที่ 5 แล้ว เรื่องนี้คุณภาพของบท การถ่ายทำ แม้เป็นละครทีวี แต่ทำได้ดีเท่าหรือเหนือกว่าหนังโรงมาก ตัวเรื่องพูดถึงการชิงบังลังค์ของเจ็ดอาณาจักร ที่ต่างดำเนินกลยุทธ์อย่างเข้มข้น ที่แต่ละตอนล้วนมีสิ่งที่เหนือความคาดหมาย เรียกว่าถ้าคุณดูบทวิจารณ์ จะมีคนบอกว่าตอนนี้ไม่กล้าชอบตัวละครตัวไหนเป็นพิเศษ เพราะถ้าชอบตัวไหน ตัวนั้นตายหมด
มาเรื่องวิจารณ์ วันก่อนผมดูถึง Series 5 ตอนที่ 5 ผมมองไปที่จอห์น สโนว์ ผู้บัญชาการหน่วย Night Watch ประจำป้อม Black Castle ที่กั้นอาณาจักรทั้ง 7 จากเผ่าอานารยชนทางเหนือ มีสีหน้ากังวล พร้อมทั้งเปรยกับคนสนิทว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องไปผูกมิตรกับศัตรูเก่า ที่พวกเขาทำหน้าที่เฝ้าไม่ให้บุกผ่านกำแพงมานับพันๆปี เพราะตอนนี้มีภัยคุกคามที่น่ากลัวกว่าใคร ก็คือพวกกองทัพผีดิบ หรือ Sleepwalker (เหมือนกับพวกซอมบี้ปัจจุบัน) เรียกว่าถ้าพวกนี้บุกข้ามกำแพงมาได้ ทุกคนตายหมด จอห์นดูหน้าตาตึงเครียดกังวลตลอด
ภาวะกังวลของจอห์น ทำให้ผมนึกถึงทฤษฎีทางจิตวิทยาบวกทฤษฎีหนึ่งคือ FLOW หรือภาวะลื่นไหล ซึ่งเป็น ความสุขประเภทที่มนุษย์จะสุขแบบลืมเวลา เพลิน เพราะได้ทำสิ่งที่ท้าทายมากและก็มีทักษะมากพอที่จะทำสิ่งนั้นได้ เป็นภาวะที่มนุษย์จะทำอะไรได้ผลมาก และมีความสุขมากที่สุด เป็นภาวะที่ในทางจิตวิทยาบวก ถือว่าเป็นสุขภาวะอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรบรรลุเลยครับ ภาวะ FLOW เกิดขึ้นเมื่อมีสมดุลย์ระหว่างทักษะและความท้าทาย จอห์นไม่อยู่ตรงนี้แน่ ดูในรูปจะเห็น ช่องว่างขาวตรงกลางที่พาดผ่านจุด A1 และ A 4 ที่เรียกว่า Flow Channel
พื้นที่ A1 เป็นภาวะที่คนอยู่ในภาวะสับสน เหมือนหมดอาลัยตายอยาก คือประมาณว่าทุกอย่างมันง่าย ไม่ต้องมีอะไรท้าทาย และไม่ต้องใช้ทักษะอะไร จอห์นไม่ได้อยู่ตรงนี้อีก A3 เป็นช่วงที่คนเรา อยู่ในช่วงเจอความท้าทายสูง แต่ทักษะไม่พอ ต้องฝึกทักษะเพิ่ม หรือต้องหาเครืองมือ/คน ช่วย นี่เลยใช่ จอห์นอยู่ที่ A3 สุดท้าย คือ A2 เป็นช่วงที่คนรู้สึกเบื่อ เพราะทักษะสูงแต่ความท้าทายต่ำ ตรงนี้ไม่ใช่แน่นอน
ผมเห็นว่าตอนแรกจอห์น สโนว์กังวลมาก เขาอยู่ไม่มีความสุขอย่างที่เห็นในเรื่องครับ เขากังวลเครียดตลอด แต่เมื่อตระหนักได้ว่าเขาไม่มีทักษะ เขารู้เลยเขาอยู่ A3 การจะทำให้ตัวเองขยับมาอยู่ในจุดที่สมดุลขึ้นโดยเฉพาะ A4 เขาเองต้องการตัวช่วย เนื่องจากคนน้อยกว่า และหันไปก็ไม่มีใคร เขาเลยคิดแผนใหม่ คือเดินทางไปเผ่าคนเถื่อน เพื่อผูกมิตร แล้วเชิญให้พวกเขาเดินทางมาอยู่หลังกำแพง แล้วหันมาช่วยกันต่อต้านกองทัพผีดิบ ชัดเลยเขาพยายามสร้างสมดุลความสุขให้กับตัวเขาและอาณาจักรทั้งเจ็ด โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อนตลอดพันปี เรียกว่าไม่ยึดติดเลย เรียกว่าจอห์นรู้จักสร้าง Flow ผ่านการยกระดับทักษะ และกำลังของตนจากการไปร่วมมือกับศัตรูเก่า เพราะตอนนี้มีศัตรูร่วมกัน จอห์นฉลาด และมองขาดมาก
ดูจากทั้งเรื่องไม่ว่าจะอาณาจักรไหนก็ตาม ถ้าคุณมองหน้ากษัตริย์และตัวละครที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คุณจะเห็นแต่ความกังวล คือทั้งเรื่องดูไม่มีใครเจอกับ Flow เลย ทุกคนจะอยู่ที่ A3 และทุกคนต่างพยายามดิ้นรนหาทางที่จะมีความสุขบ้าง ด้วยการพยายามอ่านสถานการณ์ให้ขาด และประเมินตัวเองให้ถูก เมื่อกำลังหรือทักษะไม่พอ ก็จะพยายามเกาะเกี่ยวไขว่คว้าหาตัวช่วย ได้ตัวช่วยดีก็ดีไป ได้ไม่ดีก็ถึงกับหมดวาสนาลงทัน
เหมือนกันราชินีเซอร์ซี่ที่ประเมินสถานการณ์คนผิด คือรู้ว่ากำลังเจอความท้าทาย แต่เลือกตัวช่วยผิด ที่สุดคนที่น่าจะกลายเป็นพันธมิตรที่น่ากลัวที่สุด แต่ไม่มีใครคาดหัวหน้านักบวชกลับหันมาจับราชินีขังลืมไปเลย น่ากลัวมากๆ ความต่างระหว่างจอห์น สโนว์ที่ดูไร้อำนาจ และไม่มีทุน แต่มองสถานการณ์ขาด กับราชินีที่ทรงอำนาจ เจ้าเล่ห์ และมีทุนมาก แต่กลับมองอะไรไม่ขาด ทั้งสถานการณ์และตัวช่วย ก็คือ "ความประพฤติส่วนตัว" หรือ "นิสัย" นั่นเอง
จอห์นรักพวกพ้อง มีสัจจะ คนที่เคยไปศัตรูก็หันมาเป็นมิตร เพราะไว้ใจ มั่นใจในการชี้นำของจอห์น ส่วนราชีนีมีปัญหาทางศีลธรรมในทุกๆ ด้าน ทั้งชู้สาว การมีส่วนปลงพระชนม์สามีตนเอง ที่สุดขาดความน่าเชื่อถือไว้ใจ มิตรเลยกลายเป็นศัตรู เรียกว่าถ้าในสาย MBA เราเรียกว่าเป็นปัญหาเรื่อง Personal Branding หรือภาพพจน์นั่นเอง
สรุปบทเรียนในเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าคนเราล้วนแล้วแต่มีโอกาสตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะว่าความท้าทายสูงกว่าทักษะหรือกำลังที่เรามี เราต้องมองให้ออก ที่สำคัญต้องรู้จักหาตัวช่วยหรือคนช่วย วิธีหนึ่งคือการสร้างพันธมิตร แต่คนจะมาร่วมหัวจมท้ายกับคุณได้ คุณก็ต้องมีความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ น่าฝากชีวิตไว้ได้ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยการสร้างบารมี เป็นเรื่องของเวลา ดังนั้น การมีนิสัยที่ดี น่าเชื่อถือ มีสัจจะ จะกลายเป็นสินรพย์ที่มีค่าในระยะยาว เวลาคุณต้องการกำลังหรือทักษะจากคนอื่น เรียกว่าต้องรู้จักผูกใจคน
เนื่องจากวันที่เขียนเป็นวันพระใหญ่ คือวันวิสาขบูชา ผมมองเห็นชัดครับว่าจอห์น สโนว์รวมใจคนได้ เพราะจอห์น สโนว์ค่อนข้างจะใช้สังคหวัตถุ 4 เรียกว่าใช้จนเป็นนิสัยครับ เห็นชัดตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ของท่านประยุต เลย ดูตามนี้ครับ
สังคหวัตถุ 4 (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี, หลักการสงเคราะห์)
1. ทาน (การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน)
2. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม)
3. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม)
4. สมานัตตตา (ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี)
ถ้าตามดู แม้ไม่สมบูรณ์แบบนักด้วยอยู่ในภาวะสงคราม แต่จะเห็นเลยครับ ว่ามาแนวนี้ ซึ่งต่างจากราชินีเซอร์วี่ ที่แทบไม่มีเลย เรียกว่าทำตัวไม่น่าอยู่ร่วมด้วยมานาน
ที่สุดชัดครับถ้าคุณจะตอบรับความท้าทาย ด้วยทักษะหรือกำลังของคุณ ซึ่งถ้าไม่พอต้องยืมจากคนอื่นเมื่อไหร่ มันไม่ได้มาจากฟากฟ้านะครับ หากแต่มาจากรากฐานที่คุณวางไว้อย่างมั่นคง จากสังฆหวัตถุ 4 นั่นเอง ไม่วางไว้ ก็ตัวใตรตัวมัน ชีวิตจะยากครับ