xs
xsm
sm
md
lg

ปัญญาจากฝูงชน (Crowdsourcing)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย - ดร. ภิญโญ รัตนาพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กร (Organization Development)

เวลาเราต้องการได้ความรู้ ต้องการสร้างสิ่งประดิษฐ์ หรือได้มาซึ่งสิ่งใดที่เราไม่มี เรามักเข้าหาผู้เชี่ยวชาญ หรือสถาบันต่างๆ เช่น หากขาดความรู้เราต้องไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่อาจเป็นนักวิจัยในองค์กรต่างๆ หรือไม่ก็อาจารย์มหาวิทยาลัย หากต้องการเงินเราก็ไปธนาคาร หากต้องการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมก็ต้องไปหาวิศวกร

แต่ปัญหาคือ “ต้นทุน” ในการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของตัวเงิน หรือแม้กระทั่ง “โอกาส” จริงๆ ที่จะเข้าถึงคนเหล่านั้น เนื่องจากบุคคลที่มีความรู้ก็มีอยู่อย่างจำกัด ในเรื่องของธนาคารเองหากเราต้องการเงินจริงๆ ก็ต้องทำตามเงื่อนไขที่ธนาคารต้องการ เช่น ต้องมีทรัพย์สินมาค้ำประกัน แผนธุรกิจที่ชัดเจนที่ผู้กู้จะสามารถใช้คืนธนาคารได้ ซึ่งคนที่คิดสร้างสรรค์ นักคิด ที่คิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ อาจถูกตัดโอกาสไปโดยปริยาย เนื่องจากสิ่งที่คิดขึ้นมาดีจริง แต่เนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ ในขณะเดียวกันนักคิดจำนวนมากก็ไม่มีสินทรัพย์มาค้ำประกัน

ปัญหาเหล่านี้คือความท้าทายที่เกิดขึ้นในทุกสังคม เมื่อมีกระแสอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น ก็เริ่มมีการค้นพบว่าหลายครั้ง เมื่อคนอยากแก้ปัญหา เมื่อขอความช่วยเหลือไป กลับได้รับความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้าจำนวนมาก ที่น่าทึ่งคือคนเหล่านั้น ไม่จำกัดอาชีพ อายุ ประสบการณ์ หลายครั้งกลับแก้ปัญหาที่เชื่อว่าจะแก้ได้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญในสถาบันดังๆ เท่านั้น

จึงเกิดแนวคิดใหม่ที่เรียกว่าปัญญาจากฝูงชน (Crowdsourcing) แนวคิดมีง่ายๆ คืออยากแก้ปัญหาอะไร ก็ขอให้ฝูงชนช่วยกันแก้ให้ ยิ่งมีอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือแนวคิดนี้ยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ในต่างประเทศมี Kickstarter ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางระดมทุนจากฝูงชนให้กับคนที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ เช่น ทำหนัง หรือเพลงใหม่ๆ แต่ไม่สามารถระดมทุนด้วยช่องทางปกติได้ ซึ่งแนวทางการระดมทุนจากฝูงชนโดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลางนี้เรียกว่า Crowdfunding และต่อมามีการนำมาประยุกต์ใช้กับการให้สินเชื่อ ที่ตัดตัวกลางคือธนาคารออกไป เช่น www.lendingclub.com

Innocentive เป็นบริษัทที่เป็นตัวกลางช่วยแก้ปัญหาทางวิศวกรรม เช่น คุณต้องการแก้ปัญหาทางเทคนิคอะไรก็ตาม ก็ไปที่ Innocentive ซึ่งจะเอาปัญหาของคุณไปแจ้งให้กลุ่มผู้ลงทะเบียนทราบ จะมีคนมาเสนอตัวแก้ปัญหานั้น ซึ่งหลายครั้งผลออกมากลายเป็นว่าคนที่แก้ปัญหาด้านวิศวกรรมยากๆ ได้กลายเป็นครูสอนฟิสิกส์ชั้นม.4

นี่ยิ่งเป็นพิสูจน์ความเชื่อว่า จริงๆ แล้วฝูงชนมีความรู้ มีความสามารถ มีปัญญาจริงๆ ที่จะช่วยเราแก้ปัญหาที่ยากเพียงใดก็ตาม และนี่คือความหวังใหม่ของโลก

ขณะนี้ แนวคิด Crowsouring ได้เข้ามาเมืองไทยแล้ว
ผู้ที่อยู่แถวหน้าคือองค์กรแห่งหนึ่งชื่อ เทใจดอทคอม ( https://taejai.com ) ที่เข้ามาเป็นสื่อกลางระดมเงินทุนบริจาคให้กับโครงการดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โครงการที่ทำสำเร็จแล้ว ได้แก่ โครงการระดมทุนสร้างรองเท้าเพื่อสุขภาพ Hopewear ซึ่งเป็นรองเท้าที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีรูปเท้าที่ผิดออกไป โครงการนี้ส่งมอบรองเท้า Hopewear ให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยกว่า 60 ราย นี่เป็นเพียงตัวอย่างดีๆ ตัวอย่างเดียว จากนับสิบๆโครงการที่ระดมทุนจากเทใจ เทใจดอทคอม ถือเป็น Crowdfunding ต้นแบบทีเดียว

ส่วนอีกแห่งคือ Ma.D Hub for Social Entrepreneurs ตั้งอยู่เอกมัยซอย 4 เป็นสถานที่ให้เช่าพื้นที่ทำงานอาจจะเป็นเช่ารายวัน หรือเช่ารายเดือน โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการสังคม โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่เริ่มต้นใหม่ ซึ่งต้องการพื้นที่ทำงาน ที่มีราคาถูก แต่ที่มากกว่านั้นคือที่นี่มักมีการจัดเสวนา เป็นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการสังคม หรือผู้สนใจทั่วไปอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้ ยังเน้นการสร้างบรรยากาศการที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความรู้กันบ่อยๆ นับได้ว่าที่นี่ก็เน้นการใช้ปัญญาฝูงชนอีกรูปแแบบหนึ่ง

เทใจดอทคอมและ Ma.D Hub for Social Entrepreneurs จึงนับเป็นองค์ร Crowdsourcing ที่น่าจับตาของไทย และเชื่อว่าองค์กรลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาให้กับสังคมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น