xs
xsm
sm
md
lg

2 องค์กรชั้นนำ ร่วมต้านทุจริตในห่วงโซ่ธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมวาณิชธนกิจ ส.บริษัทหลักทรัพย์ไทย และPwC Consulting จัดทำหลักสูตรต้านทุจริต อิงหลักการและแนวปฏิบัติสากล ติวเข้มระบบงานต้านทุจริตให้กับ 77 บริษัทโดยมีเช็คลิสต์ต้านทุจริตภาคปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทธุรกิจ

ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวในฐานะองค์กรผู้ริเริ่มเครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย (Partnership Against Corruption for Thailand Network) หรือ เครือข่าย PACT ที่ก่อตั้งโดยสถาบันไทยพัฒน์ มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการสนับสนุนภาคธุรกิจให้มีแพลตฟอร์มดำเนินการต้านทุจริตในภาคปฏิบัติ (Anti-corruption in practice) ว่า เครือข่าย PACT ได้ร่วมมือกับชมรมวาณิชธนกิจหรือ ‘ไอบีคลับ’ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และบริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เพื่อพัฒนาหลักสูตรแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจและการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกัน มิให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ตามหลักการและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่เป็นสากล พร้อมทั้งกรณีศึกษา อันจะนำไปสู่การยกระดับการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทยด้วย

“หลักสูตรนี้จัดอบรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกจากเครือข่าย PACT ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมเกินความคาดหมาย ทำให้ต้องขยายจำนวนที่นั่งจากเดิม 100 ที่นั่งเป็น 120 ที่นั่ง โดยยังมีสมาชิกที่สนใจ แต่ไม่สามารถเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ได้ จึงคิดว่า อาจจะต้องเปิดรับรุ่นที่ 2 ในเร็วๆ นี้”

หัวข้อการอบรมในหลักสูตร ประกอบด้วย ความหมายและความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต กระบวนการต่อต้านการทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ การวางกระบวนงานภายในองค์กรเพื่อยกระดับความสามารถ และความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริต รวมถึงวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูล 56-1,56-2 และ 69-1 โดยวิทยากรจากบริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) จำกัด และเครือข่าย PACT

นายนรเชษฐ์ แสงรุจิ ประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ Financial Advisor (FA) นับเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการแนะนำบริษัทผู้ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ ต่อแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ดังนั้น การจัดอบรมหลักสูตรต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ ให้สามารถให้คำแนะนำแก่บริษัทผู้ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ ในการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันมิให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตตามหลักการและแนวปฏิบัติในการต่อต้านทุจริตที่เป็นสากล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานของบริษัทจดทะเบียนไทยให้ทัดเทียมสากล และยังเป็นการปูทางสู่ความยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย

สำหรับหลักสูตรดังกล่าว เป็นการจัดอบรมเต็มวัน ซึ่งนอกจากจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในสายงานที่ปรึกษาทางการเงิน ทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ยังได้พิจารณาให้สามารถนับเป็นชั่วโมงสำหรับการทบทวนและเพิ่มพูนความรู้ได้จำนวน 3 ชั่วโมงด้วย

ด้านนาย วรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting กล่าวว่า การทุจริตในองค์กรยังคงเป็นปัญหาหลักในการประกอบธุรกิจของบริษัทไทย โดยจากการสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประเทศไทยประจำปี 2557 (Thailand Economic Crime Survey) ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 89 ของการทุจริต เกิดขึ้นจากการกระทำของคนในองค์กร ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับระดับเอเชียแปซิฟิกที่ร้อยละ 61 และระดับโลกที่ร้อยละ 56 โดยเฉลี่ย

นอกจากการทุจริตจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจและการเงินแล้ว ปัญหาดังกล่าว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ คุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการทำทุจริตค่อนข้างสูง เช่น อุตสาหกรรมการผลิต ที่ส่งผลกระทบไปทั้งระบบซัพพลายเชน ยิ่งถ้ามีผู้จัดการแผนกจัดซื้อ หรือฝ่ายควบคุมคุณภาพ เข้ามามีส่วนร่วมกับการฉ้อโกงด้วย ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมามีตั้งแต่ความปลอดภัย การเรียกคืนสินค้า หรือความเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้

“ปัญหาการทุจริตในองค์กร ถือเป็นปัญหาร้ายแรงของภาคธุรกิจ ซึ่งหากไม่มีมาตรการรับมือที่จริงจัง จะลดประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึง เพราะการทุจริตเปรียบเสมือนโรคระบาด ที่ติดต่อกันง่าย สามารถเกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งในองค์กรที่มีการป้องกันอย่างรัดกุม เนื่องจากอาชญากรและผู้กระทำความผิดนำเทคนิคการทุจริตใหม่ๆ มาใช้อยู่เสมอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้กระบวนการหลายๆ มิติมาทำงาน ซึ่งทาง PwC Consulting เองได้นำกรอบแนวทาง (Framework) วิธีการ (Methodology) และประสบการณ์ทำงาน รวมถึงแบบจำลองในการปฏิบัติงาน (Operating model) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ มาพัฒนาและปรับใช้ให้สอดคล้องกับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย” นาย วรพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นาย วรพงษ์ กล่าวว่า เครื่องมือหรือคู่มือในการต่อต้านทุจริตจะไม่เกิดประโยชน์ หากไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างเหมาะสม หรือ ผู้ใช้ขาดความเข้าใจว่า ควรนำมาใช้อย่างไร ซึ่งนอกเหนือไปจากการที่แต่ละองค์กรให้คำมั่นว่า จะต่อต้านการทุจริตแล้ว การเปิดโอกาสให้บุคลากรได้เข้ามาศึกษาให้เข้าใจในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่หน่วยงานภาคเอกชนได้เริ่มต้นที่จะศึกษาหาวิธีป้องกัน ตรวจสอบ ฟื้นฟู และตอบสนองต่อเหตุทุจริต ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการวางนโยบายและการควบคุมภายในให้สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละองค์กรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น