PwC ชี้ บจ.ไทยตกเป็นเหยื่อการทุจริตเรื้อรัง ผลสำรวจพบในปีนี้เกือบ 40% ของ บจ.ยอมรับมีการตรวจพบการทุจริตสูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเกิดอาชญากรรม ศก.โดยรวม ปรับตัวดีขึ้น เหลือ 26% หลังภาครัฐ และเอกชนตื่นตัว พร้อมออกมาตรการป้องกันรับสินบน และคอร์รัปชัน พร้อมต่อต้านการทุจริตในองค์กรอย่างจริงจัง ย้ำไซเบอร์ครามยังพุ่ง หลังธุรกิจไทยธุรกิจเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้น
นายวรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensic services บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ PwC's 2016 Global Economic Crime Survey : Economic crime in Thailand ประจำปี 2559 ซึ่งบริษัทเป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าวขึ้นทุก 2 ปี โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีผู้ตอบแบบสอบถามสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 261 ราย จากครั้งก่อนมีเพียง 76 ราย ซึ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามมาจากองค์กรธุรกิจหลายประเภท ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐว่า ปีนี้มีการตรวจพบการทุจริตในบริษัทจดทะเบียนไทยสูงกว่าครั้งก่อน โดยผลสำรวจพบว่า 39% ของบริษัทจดทะเบียนไทย (Listed companies) ยอมรับว่า มีการตรวจพบการทุจริตในปีนี้ ขณะที่มีบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียน (Private companies) เพียง 16% ที่มีการตรวจพบทุจริต เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 41% และ 30% ตามลำดับ
สำหรับปัญหาอาชญากรรมเศรษฐกิจของไทยนั้น มีสัญญาณดีขึ้น โดยอัตราการทุจริต (Fraud rate) อยู่ที่ 26% ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนที่ 37% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐ และภาคเอกชนเริ่มตื่นตัวร่วมกันป้องกัน ตรวจสอบ และปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ยังมีหลายองค์กรเช่นกันที่ไม่มั่นใจว่า ระบบการป้องกันของตนมีประสิทธิภาพเพียงพอในการตรวจจับการกระทำความผิดจนอาจเป็นที่มาของอัตราทุจริตที่ลดต่ำลงในปีนี้
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า ประเภทของการทุจริตที่ตรวจพบมากที่สุด 3 อันดับแรกของไทย ได้แก่ การยักยอกสินทรัพย์ (Asset misappropriation) ที่ 78% ตามด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cybercrime) ที่ 24% และการรับสินบนและคอร์รัปชัน (Bribery and corruption) ที่ 19%
“การยักยอกสินทรัพย์ยังคงเป็นประเภทของการทุจริตที่พบมากที่สุดในไทย โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกกว่า 10% ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลในเรื่องนี้อย่างมาก ขณะที่ผู้ที่กระทำการทุจริตส่วนใหญ่เกือบ 80% ล้วนเป็นพนักงานในองค์กรทั้งสิ้น โดยในปีนี้เราพบว่า พนักงานระดับล่างประกอบทุจริตมากที่สุด ต่างจากปีก่อนที่ตรวจพบมากในหมู่พนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไป”
ทั้งนี้ ภาคเอกชนไทยต้องตระหนักถึงการจัดหามาตรการ และระบบการป้องกันการทุจริตที่แข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญต่อการสื่อสารภายในองค์กร และการสร้างค่านิยมภายในองค์กรว่า การทุจริตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ซึ่งพนักงานถือเป็นตัวแปรสำคัญในการบริหารความเสี่ยงด้านการทุจริต เพราะนอกจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ และภาคการเงินแล้ว ยังส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ความเชื่อมั่นของพนักงาน และความสัมพันธ์กับหน่วยงานกำกับดูแลด้านกฎระเบียบอีกด้วย
“ส่วนตัวมองว่าหลายองค์กรยังขาดนโยบาย และระบบการจัดการที่มีมาตรฐาน และเป็นรูปธรรม อีกทั้งพนักงานส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่า การรายงาน หรือร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในองค์กรจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน หรือรอจนมีข้อมูลครบถ้วนก่อนจึงจะแจ้งได้ แต่ที่จริงแล้ว พนักงานสามารถแจ้งเบาะแสได้ในทันทีที่พบความผิดปกติ โดยบริษัทจะเป็นผู้นำข้อมูลดังกล่าวไปสืบหาข้อเท็จจริงในขั้นต่อไป ยิ่งแจ้งเร็ว ฝ่ายที่กำกับดูแลก็จะยิ่งหาข้อมูล และหาทางรับมือต่อการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น”
ไซเบอร์ครามพุ่ง หลังธุรกิจมุ่งสู่ The Internet of Things (IoT)
นายวรพงษ์ กล่าวว่า จากผลสำรวจในปีนี้พบว่า อัตราการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cybercrime) ทั้งโลก และประเทศไทยจัดเป็นภัยร้ายแรงทางเศรษฐกิจอันดับที่ 2 โดยเขยิบจากอันดับที่ 4 ในการสำรวจคราวก่อน ทั้งนี้ ทั่วโลกมีอัตราการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ อยู่ที่ 32% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 24% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อนที่ 18%
“เราเห็นเทรนด์การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของภัยคุกคามไซเบอร์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ก็เช่นกัน ผู้ตอบแบบสอบถามไทยถึง 22% ยอมรับว่า เคยตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งเรามองว่า อาจมาจากการที่องค์กรหันมาใช้รูปแบบการทำธุรกิจผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือคอมพิวเตอร์อัจฉริยะเข้ากับสิ่งต่างๆ รอบตัวมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”
นายวรพงษ์ กล่าวเสริมว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ขยายวงกว้างมากขึ้นทำให้องค์กรต่างๆ เพิ่มช่องทางให้พนักงานสามารถเชื่อมต่อ และเข้าถึงระบบปฏิบัติการของบริษัทผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้จากทุกที่แม้ไม่ได้อยู่ในบริษัท ซึ่งอาจก่อให้เกิดช่องโหว่ให้อาชญากรทางคอมพิวเตอร์สามารถเจาะเข้าสู่ระบบของบริษัทได้จากทั่วโลกโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า มีผู้บริหารเกือบครึ่ง (49%) ที่ประเมินมูลค่าความเสียหายทางการเงิน (Financial damage) จากการตกเป็นเหยื่อภัยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ไว้ราว 100,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 3.5 ล้านบาท) ขณะที่ 16% ประเมินมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 100,000-1,000,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 3.5-35 ล้านบาท) ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ตอบแบบสอบถามยังมองว่า การจารกรรมข้อมูลที่ระบุความเป็นส่วนตัว (Personal identity information) ความเสียหายด้านชื่อเสียง (Reputational damage) และการสูญเสียข้อมูลที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property loss) ถือเป็นภัยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่สร้างผลกระทบร้ายแรงมากที่สุด 3 อันดับแรก
“สิ่งที่เรากังวลในประเด็นนี้ คือ ความพร้อมของผู้บริหารในการรับมือต่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ บ่อยครั้งเราจะพบว่า บริษัทยังขาดมาตรการ หรือแนวทางการแก้ไขในเชิงรุก โดยผลสำรวจพบว่า มีคณะกรรมการ หรือบอร์ดบริหารน้อยกว่าครึ่งที่มีการตรวจสอบข้อมูลถึงสถานะ และความพร้อมขององค์กรในการรับมือต่อไซเบอร์คราม ขณะเดียวกัน มีองค์กรไทยเพียง 26% ที่มีการวางแผนรับมือในเรื่องนี้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งอัตราดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 37%”
สินบน-คอร์รัปชันหด หลังรัฐ-เอกชนเข้ม
การรับสินบน และคอร์รัปชันถือเป็นภัยร้ายแรงทางเศรษฐกิจที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุว่า อัตราการรับสินบน และคอร์รัปชัน ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 19% เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนที่ 39%
“ปัญหาการรับสินบน และคอร์รัปชันของไทยที่ปรับตัวลดลงถือเป็นสัญญาณที่ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐออกมากระตุ้นให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ขณะที่เอกชน และองค์กรอิสระเองต่างก็ตื่นตัวในการสร้างเครือข่ายต่อต้านทุจริต อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน คงไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นไปได้ในชั่วข้ามคืน” นายวรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลประกาศว่าภายในปี 2559 จะเริ่มเห็นกฎหมาย และข้อบังคับต่างๆ ที่ใช้ในการต่อต้านทุจริต และประพฤติมิชอบอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว ประกอบกับภาคเอกชนยังได้จัดตั้งโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand's Private Sector Collective Action against Corruption : CAC) โดยโครงการดังกล่าว จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 ด้วยแนวร่วมภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเปิดเผยว่า 15% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยถูกถามให้จ่ายสินบนในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวปรับลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนที่ 28% ขณะเดียวกัน มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 9% ในปีนี้ที่ระบุว่า ตนสูญเสียโอกาสทางธุรกิจให้แก่คู่แข่งที่เชื่อว่ามีการจ่ายสินบน ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนที่ 24%
แม้อัตราการรับสิน และคอร์รัปชันจะปรับตัวลดลง นายวรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศในระยะยาว อีกทั้งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งปัญหาการทุจริต และคอร์รัปชันถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ผลสำรวจระบุว่า 25% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยังคงเชื่อว่าบริษัทมีความเสี่ยงที่จะเกิดการรับสินบน และคอร์รัปชันในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ 23% ไม่แน่ใจว่าจะเกิดการทุจริตรับสินบน และคอร์รัปชันขึ้นในองค์กรหรือไม่ในระยะข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป