•สถาบันไทยพัฒน์ จัดตั้ง “คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน” มุ่งส่งเสริม สนับสนุน และประสานเครือข่ายงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย
•เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งจะเป็นกรอบการพัฒนาระดับโลกไปอีก 15 ปี
•ประกาศขับเคลื่อนวาระ “สังคม 2020” เป็นกรอบ 5 ปีแรก ตามวิถีสหประชาชาติ
สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เมื่อปี พ.ศ.2555 และได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการลงทุนทางสังคม โดยสำนักงานเลขาธิการว่าด้วยหลักการลงทุนทางสังคม ซึ่งเป็นความริเริ่มที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติ ได้แถลงถึงการจัดตั้ง “คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Network Board (SDNB) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ศกนี้ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการส่งเสริม สนับสนุน และประสานเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในกรอบระยะเวลา 5 ปีแรก (พ.ศ.2559-2563) ภายใต้วาระสังคม 2020 หรือ Society 2020
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการของสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า บทบาทของสถาบันไทยพัฒน์ที่ผ่านมา ได้ผลักดันเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าสู่ภาคเอกชน โดยการทำงานร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน “ในปี 2012 ผมเองก็ได้รับอนุญาตจากสมัชชาสหประชาชาติ ในฐานะที่เป็นตัวแทนองค์กรสาธารณะประโยชน์ 1 ใน 4 องค์กรของประเทศไทย ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมประชุม Rio+20 หรือ การประชุมในเรื่องสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดขึ้นเมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งในครั้งนั้น 193 ประเทศได้เข้าร่วมและมีการรับรองเอกสาร The Future We Want หรือ อนาคตที่เราต้องการ ซึ่งเป็นที่มาของการริเริ่ม ทำให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs)”
การพัฒนาในระดับโลกจาก 15 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายแห่งการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งมีอยู่ 8 ข้อ การขับเคลื่อนของนานาประเทศตามเป้าหมายที่ผ่านมาก็มีส่วนที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ส่วนที่ไม่สำเร็จก็จะถูก ส่งต่อมายัง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ SDGs ที่อนุมัติใหม่นี้ต่อไป โดยเป้าหมายนี้มีการร่างกันตั้งแต่การประชุม Rio+20 เมื่อปี 2012 และเพิ่งมาสรุปได้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการในการประชุมเมื่อ 25 - 27 กันยายน ปีนี้ ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดย 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ มีทั้งหมด 17 ข้อ ซึ่งจะมากกว่า MDGs เดิมที่ใช้มา 15 ปี และกำลังจะสิ้นสุดในปี 2558
17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
1ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่
2ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
3ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ
4ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน
5บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน
6ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน
7ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน
8ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
9พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม
10ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
11ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
12ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
13ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
14อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
15พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
16ส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ
17เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา : สถาบันไทยพัฒน์
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อนี้ เป็นเป้าหมายที่ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ไปด้วยกันในลักษณะของหุ้นส่วนความร่วมมือ
จากนี้ไปอีก 15 ปี SDGs จะกลายเป็นกรอบของการพัฒนาระดับโลก และเราจะได้รับอิทธิพล จากเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผ่านมาสู่ช่องทางต่างๆ เช่น แผนพัฒนาในระดับประเทศ ของนานาประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย
ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับกระทรวง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ให้ความสนใจ ในเรื่องการขับเคลื่อนโดยใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งที่ได้รับการรับรองแล้วจากที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติ ต่อจากนี้ไปเราอาจจะเห็นความคึกคักของทั้งภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย ในการที่จะตอบรับแผนการพัฒนาโดยมี SDGs หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นจุดร่วม
“ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราต้องการจะขับเคลื่อนทางเครือข่าย และไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคประชาสังคม ภาคเอกชน หรือภาครัฐ โดยลำพัง แต่เราอยากจะเห็นความร่วมมือ ในลักษณะการทำงานของหุ้นส่วนแบบข้ามภาคีด้วย เช่นระหว่างรัฐและเอกชน ระหว่างรัฐและประชาสังคม หรือระหว่างประชาสังคมกับภาคเอกชน จึงทำให้กรอบของการขับเคลื่อนโดยใช้เป้าหมายที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าระดับสากล มาสู่การขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 ซึ่งนี่ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในสังคมไทย”
“ด้วยบทบาทของคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 ปีต่อจากนี้ไปเราอยากเห็นประชาชน ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเห็นผลดี (Perform) ภาคธุรกิจก็จะเปลี่ยนผ่าน (Transform) หรือแปรรูป ไปสู่การยกระดับการประกอบธุรกิจที่ทำให้สังคมได้รับการดูแลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน ส่วนขององค์กรภาครัฐ สังคมก็คาดหวังอยากจะเห็นการปฏิรูป (Reform) ทั้งหมดนี้คือวิสัยทัศน์ของการนำไปสู่สังคม 2020”
อย่างไรก็ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สหประชาชาติได้ประกาศได้ครอบคลุมไปถึงปี 2030 ซึ่งเราก็อยากให้เป้าหมายขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้น แต่เนื่องจากกรรมการชุดนี้อยากจะทำหน้าที่เพื่อที่จะประเมินการทำงานของตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นจึงตั้งกรอบเวลาในระยะ 5 ปี คือถึงปี 2020 ซึ่งจะมีการประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อจะนำไปสู่แผนของกรอบเวลาอีก 10 ปี ข้างหน้าคือปี 2030
“ถ้าดูจากเอกสาร Transforming our World : The 2030 for Sustainable Development ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในรายละเอียดที่เป็นเป้าประสงค์ (Goals) การพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ซึ่งมี 169 เป้าหมาย (Target) จะมีเป้าที่มีกรอบเวลาสิ้นสุดอยู่ในปี 2020 อยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเราจะเอากรอบเวลา 5 ปี มาเป็นโจทย์ในการขับเคลื่อนของบอร์ดที่ยั่งยืนชุดนี้ ผ่านความเคลื่อนไหวทางสังคม หรือที่เราเรียกว่าวาระ 2020 นี้ไปพร้อมกัน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ Roadmap ภายใน 5 ปี คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะทำหน้าที่ประสานงานในรูปแบบของกลุ่มความร่วมมือ เพื่อให้สังคมเป็นสังคมที่เราต้องการ หรือ เป็นสังคมที่พึงปรารถนานำมาสู่ยุคสังคม 2020 ร่วมกันและจะมีการประชุมคณะกรรมการครั้งต่อไปในวันที่ 6 พ.ย. นี้
อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
- เปิดตัว “บอร์ดยั่งยืน”