สถาบันไทยพัฒน์ ชวนภาคธุรกิจ จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สหประชาชาติประกาศเป็นเป้าหมายโลก หวังให้ทุกประเทศนำไปขับเคลื่อน เชื่อสามารถช่วยผลักดันให้องค์กรธุรกิจไทยขึ้นแท่นเป็นผู้นำการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
จากที่ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นหัวหน้านำคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และร่วมประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้การรับรองเอกสารวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) 17 ข้อ ร่วมกับชาติสมาชิก 193 ประเทศ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs จัดทำขึ้นเพื่อใช้สานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2558 รวมทั้งใช้เป็นเป้าหมายสำหรับการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นับจากนี้ไป จวบจนปี พ.ศ.2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ เปิดเผยถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ในการนำวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ไปปฏิบัติ ให้ได้ตาม SDGs ภายหลังจากที่นานาประเทศรวมทั้งไทยได้ให้การรับรองเอกสารดังกล่าวว่า
“ในภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report ตามกรอบการรายงานสากลที่เรียกว่า GRI (Global Reporting Initiative) สามารถเริ่มต้นตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทันที ด้วยสิ่งที่องค์กรตนเองได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยการประมวลและเพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กร ให้มีความเชื่อมโยงกับ SDGs ในแต่ละข้อ ยกระดับสู่รายงานเพิ่มพูนความยั่งยืน หรือ Enhanced Sustainability Report สำหรับสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียและสังคมในวงกว้าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงคำมั่นและการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม”
หลังจากนั้น องค์กรธุรกิจจึงค่อยพิจารณาเพิ่มเติมการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องหรือตอบสนองต่อ SDGs ในข้อที่มีการดำเนินการบ้างแล้ว แต่ยังทำไม่ได้เต็มที่ หรือในข้อที่ยังมิได้มีการดำเนินการในระยะต่อไป
ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า องค์กรธุรกิจทุกแห่ง จะต้องดำเนินการตอบสนองต่อ SDGs ครบทั้ง 17 ข้อ แต่กิจการต้องสามารถเลือกเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องต่อการสร้างคุณค่า เป็นเรื่องซึ่งมีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญโดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
จากการสำรวจตัวเลขจำนวนรายงานที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะในฐานข้อมูลการเปิดเผยรายงานแห่งความยั่งยืนของ GRI ในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า องค์กรไทยมีการเผยแพร่รายงานมากสุด 241 ฉบับ ตามด้วยอินโดนีเซีย 228 ฉบับ สิงคโปร์ 148 ฉบับ มาเลเซีย 144 ฉบับ ฟิลิปปินส์ 114 ฉบับ และเวียดนาม 22 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 58)
การผลักดันให้องค์กรไทยเป็นผู้นำการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค ด้วยการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องหรือตอบสนองต่อ SDGs ผ่านกระบวนการรายงานที่เป็นสากลตามกรอบ GRI ในรูปแบบ Enhanced Sustainability Report จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายสำหรับประเทศไทย
ตัวอย่างการเปิดเผยข้อมูลตาม SDG ข้อที่ 1 เรื่องการขจัดความยากจน จะสอดรับกับธีมธุรกิจด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ยากไร้ และด้านการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีตัวชี้วัด G4-EC8 ผลกระทบทางอ้อมเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายผลกระทบ เป็นตัวบ่งชี้การดำเนินงานขององค์กร
ตัวอย่างการเปิดเผยข้อมูลตาม SDG ข้อที่ 2 เรื่องการขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน จะสอดรับกับธีมธุรกิจด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีตัวชี้วัด G4-EC7 การพัฒนาและผลกระทบจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสนับสนุน เป็นตัวบ่งชี้การดำเนินงานขององค์กร
ตัวอย่างการเปิดเผยข้อมูลตาม SDG ข้อที่ 3 เรื่องการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ จะสอดรับกับธีมธุรกิจด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งมีตัวชี้วัด G4-LA6 ชนิดและอัตราของการบาดเจ็บ โรคจากการทำงาน จำนวนวันสูญเสียและการขาดงาน และจำนวนผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติงาน จำแนกตามภูมิภาค และเพศ รวมถึงตัวชี้วัด G4-LA7 แรงงานที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน เป็นตัวบ่งชี้การดำเนินงานขององค์กร
สำหรับองค์กรไทยที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กร ให้มีความเชื่อมโยงกับ SDGs ในรูปแบบ Enhanced Sustainability Report สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://thaipat.org