xs
xsm
sm
md
lg

อย่าสับสนกับสารพัดศัพท์ CSR-CSV-SE-ESG-SD / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผมเคยเจอคนบ่นว่า ทุกวันนี้มีคำย่อ คำเรียกเกี่ยวกับ หลักในการบริหารเพิ่มขึ้นมาให้รับรู้มากมาย ว่ากันเฉพาะที่เกี่ยวกับหลักความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility ที่เริ่มด้วย CSR แล้วต่อยอดแตกแขนงเป็นคำใหม่ก็เพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ แต่ก็อย่าเพิ่งสับสนเลยครับ
เพราะถ้าบริหารงาน อย่างมีแผนมีกลยุทธ์ การได้เรียนรู้หลักคิดและวิธีปฏิบัติในเรื่องที่สำคัญและอยู่ในกระแสปัจจุบันหากทำความเข้าใจแล้วนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ การเรียกคำย่อให้จำง่ายแม้หลักการอาจจะใกล้เคียงก็กลับจะช่วยไม่ให้สับสน

อย่างคำว่า CSR คนทั่วไปมักรับรู้และกล่าวถึงแค่เป็นกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ประเภทแจกทุนการศึกษา แจกสิ่งของ หรือไปช่วยปลูกต้นไม้ ทั้งๆที่ตัว S คือสังคม หรือ Social นั้น ควรมองให้ชัดว่าต้องคำนึงถึงคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีโอกาสรับผลกระทบ ทั้งบวกและลบจากการดำเนินงาน
คนหรือองค์กรที่มีหลักคิดเกี่ยวกับ CSR จึงมี “รากแก้วความดี” หรือจุดยืนพื้นฐานของการใฝ่ดี และสร้างผลงานที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีคุณธรรมในการดำเนินงาน
ดังนั้นแม้จะมีศัพท์เพิ่มขึ้นในวงการที่เกี่ยวข้องกับ CSR แต่ก็ขอให้มองว่าช่วยขยายความให้เห็นภาพการต่อยอดหรือแตกแขนงออกไป
อย่างในการดำเนินกิจการไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม บทบาทหรือกิจกรรมที่เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบหรือสร้างผลดีต่อสังคม ซึ่งรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย
CSR -in-process คือความรับผิดชอบที่ต้องมีในกระบวนการทำงานตามภารกิจ หมายความว่าตั้งแต่การวางแผน การจัดหาทรัพยากร กระบวนการผลิต จนถึงการจัดส่งสินค้าหรือบริการ ล้วนต้องซื่อสัตย์สุจริตคำนึงถึงการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมทั้งไม่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

CSR-after-process คือกิจกรรมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ อาจเป็นบทบาทต่อสังคมด้านต่างๆ ที่องค์กรเลือกทำเพื่อช่วยเหลือ อาจเป็นด้านการศึกษา การพัฒนาเยาวชน การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตชุมชน เป็นต้น
ไมเคิล อี พอร์เตอร์ นักวิชาการด้านกลยุทธ์ แนะนำให้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยกลยุทธ์เชิงรุกหรือเชิงป้องกันปัญหา เพื่อการสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดีกว่าการทำ “เชิงรับ” เมื่อเกิดปัญหาแล้ว จึงเป็น Strategic CSR และเลือกทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับสมรรถนะหรือความเชี่ยวชาญที่องค์กรมีก็เป็นการสร้างความแตกต่างและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
CSV เป็นคำที่มีการอ้างอิงมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพอร์เตอร์ได้ต่อยอดแนวคิดเชิงกลยุทธ์จาก Strategic CSR ให้กลายเป็น Creating Shared Value หรือ การสร้างคุณค่าร่วม คือโครงการที่ให้คุณประโยชน์ทั้งต่อองค์กรที่ทำและชุมชนที่ได้รับผลดีควบคู่ไปพร้อมกัน
หัวใจสำคัญก็คือการใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อชุมชนให้เกิดกิจกรรมก่อเกิดรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจที่ทำเรื่องนี้ก็ได้ผลลัพธ์เชิงธุรกิจเกิดขึ้นด้วย
ตัวอย่างเช่น เนสท์เล่ ทำโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟพันธุ์ดี แก่เกษตรกรและรับซื้อผลผลิตในราคาประกัน บริษัทบางจากฯ ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์และจัดส่งน้ำมันจากโรงกลั่นกับปั๊มน้ำมันชุมชน ขายให้สมาชิกสหกรณ์ เกิดผลตอบแทนแก่ธุรกิจและชุมชน
เป็นเรื่องน่ายินดีที่แนวความคิดเรื่องการดำเนินธุรกิจด้วยหลัก CSR มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นกระแสโลกจุดยืนเช่นนี้คือ “รากแก้วความดี” และเป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development)
ในวงการลงทุนมืออาชีพหรือนักลงทุนสถาบัน ซึ่งต้องการผลตอบแทนที่มั่นคงและยั่งยืน ก็ได้ตกผลึกเป็นเครื่องมือในการชี้วัดหลักทรัพย์ของ กิจการที่น่าเลือกลงทุนโดยได้ข้อสรุป คือบริษัทที่มีจุดเด่นด้ายความยั่งยืนซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง ESG
นั่นคือความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการเลือกคบกับกิจการที่คำนึงถึงการสร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) สร้างผลดีต่อสังคม (Social) และบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล (Governance)
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ระดับโลกมีดัชนีความยั่งยืน หรือ DJSI ที่มี 13 บริษัทไทยติดอันดับด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีความยั่งยืน หรือ TSI ส่วนสถาบันไทยพัฒน์ก็ได้ประเมินข้อมูลและประกาศรายชื่อบริษัทที่มีความโดดเด่นด้าน ESG 100 บริษัทด้วย
นี่เป็นทิศทางแนวโน้มของกระแสโลกที่ให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งองค์กรธุรกิจที่ต้องตระหนักถึงหลัก ESG ที่เป็นปัจจัยสู่ “ความยั่งยืน” ขณะที่ในตลาดก็เริ่มเกิดนักลงทุนเพื่อสังคม (Social Investment) คือ เลือกลงทุนในกิจการที่มี ESG ซึ่งมีจุดยืน CSR เป็น “รากแก้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น