xs
xsm
sm
md
lg

ESG เครื่องแสดงผล CSR นักลงทุนใช้ส่องกิจการยั่งยืน / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

ใครที่ติดตามข่าวสารเรื่อง CSR หรือหลักการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) นับวันก็จะมีศัพท์ หรือเครื่องมือดำเนินการตามแนวทางนี้เพิ่มขึ้นจนบางคนบอกว่า “สับสน”
อย่างเช่นช่วงปีที่ผ่านมาวงการธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทจัดการลงทุนจะมีการกล่าวถึง ESG และเริ่มมีกฎเกณฑ์ยืนยันความสำคัญของตัวย่อนี้กันตั้งแต่ระดับโลก ส่งแรงกระเพื่อมมาถึงเมืองไทย
แต่ผมขอบอกว่าถึงอย่างไรหลัก CSR ก็ยังคงเป็นรากแก้วที่มีคุณค่า แม้จะมีแนวคิดขยายผลเพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดีในการให้แง่มุมที่ชัดเจนในแนวทางการขับเคลื่อนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากตีความให้ครอบคลุมชัดเจนว่า ตัว S ใน CSR นั้น หมายถึง Stakeholder คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เช่นถ้าเป็นกิจการธุรกิจอุตสาหกรรม ย่อมครอบคลุมตั้งแต่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น การที่องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือ ภาคเอกชนก็ตาม หากการดำเนินกิจการทำตามพันธกิจเพื่อส่งมอบผลงานที่มีคุณค่าต่อลูกค้า หรือผู้มาใช้บริการด้วยความรับผิดชอบ คือ มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีคุณธรรม ขณะเดียวกันการดำเนินการต่างๆ ทุกขั้นตอนก็ไม่ส่งความเสียหายต่อลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม
บทบาทข้างต้นนี้จึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการดำเนินธุรกิจ หรือ CSR-in-process
แสดงว่าการขับเคลื่อนองค์กร หรือดำเนินกิจการเป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง และลดการสร้างผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันก็มีกิจการจำนวนมากทำกิจกรรม หรือโครงการช่วยเหลือสังคม เช่นด้านส่งเสริมการศึกษา การกีฬา และศิลปวัฒนธรรม หรือ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการปลูกป่า การสร้างฝายชลอน้ำ เป็นต้น กิจกรรมทำนองนี้มีลักษณะเชิงสังคมสงเคราะห์และบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ซึ่งอยู่นอกกระบวนการธุรกิจ จึงเรียกว่า CSR-after-process
จึงกล่าวได้ว่าองค์กรที่มีค่านิยม นโยบาย และกลยุทธ์ในการดำเนินกิจกรรมโดยมีหลัก CSR ผนึกอยู่ในกระบวนธุรกิจ และยังมีโครงการส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม เท่ากับว่ากำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development)
เมื่อดูจากการแถลงทิศทางของ CSR ในปี 2558 สถาบันไทยพัฒน์ก็ยังชูว่า ESG จะเป็นเรื่องสำคัญที่จะมีบทบาทสำคัญจากนี้ไป
ในแง่ของการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลดีและสร้างผลกระทบทางลบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ใน 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)
องค์ประกอบของ ESG จึงเป็น 3 มิติของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ไม่เพียงคำนึงถึงการไม่ทำผิดกฎหมายแต่ยังดูแลผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรมและให้มีคุณค่า
ก็จริงดังที่ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ สรุปให้ว่า CSR เป็นหลักที่องค์กรปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นการสื่อสารระหว่างองค์กร หรือบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสีย
แต่ ESG เป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างผู้ลงทุนกับบริษัท หรือบอกให้บริษัทรู้ว่าผู้ลงทุนใช้เกณฑ์การพิจารณา 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) และธรรมาภิบาล (G) เป็นหลักในการพิจารณาเลือกลงทุน
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การมี ESG ที่ดีนั้นเป็นการเตรียมข้อมูลจากที่ได้ทำ CSR มาแล้ว เพื่อสื่อสารกับผู้ลงทุนนั่นเอง เพราะกิจการที่บริหารด้วยหลัก CSR ที่ดีย่อมครอบคลุม 3 ด้านของ ESG อยู่แล้ว
นี่คือเครื่องมือการสนองตอบความต้องการของนักลงทุนยุคใหม่ที่มิได้ต้องการแค่ตัวเลขผลการดำเนินงานที่ดี (เก่ง) เท่านั้น แต่ยังต้องการ (ดี) ในความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

ข้อคิด...
เมื่อเร็วๆ นี้ บดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่าเห็นความสำคัญกับคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียนที่ต้องมี E+S+G ก็จะเท่ากับ SD หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน
มีการตั้งเป้าหมายว่าในเร็วๆ นี้ เมืองไทยจะมีรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มี ESG อย่างที่สถาบันไทยพัฒน์ได้เริ่มจัดรายชื่อบริษัทที่ติดกลุ่ม ESG 100 ให้เห็นแล้ว โดยจะมีดัชนีที่บอกว่าเป็นกิจการที่มีความยั่งยืนเพื่อให้นักลงทุนเลือกได้ง่ายขึ้น
เพื่อลบข้อครหาที่ว่า “เมืองไทยที่มีแต่หุ้นปั่น”
แน่นอนครับ “หุ้นปั่น ย่อมไม่มี ESG เพราะถ้ามี ESG ไม่ต้องปั่นคนก็นิยม เชื่อถือ และกิจการจะมีความยั่งยืนที่พิสูจน์ได้
แถมเมื่อดูในบทความของ วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาตลาดทุนไทย ในวารสารของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยได้ใช้กรณีตัวอย่างในต่างประเทศแสดงข้อมูลและสถิติยืนยันว่า บริษัทที่มี ESG ที่ดี จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on capital)ดีกว่า และยังมีความผันผวนของผลตอบแทนที่ต่ำกว่าด้วย เงินของผู้ถือหุ้นจึงถูกบริษัทนำไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความผันผวนต่ำกว่า
เอาละครับเรากำลังรับกระแสความตื่นตัวเรื่อง “ความยั่งยืน” ก็ต้องจริงจังกับบทบาทที่ดีในการดำเนินกิจการที่คำนึงถึงผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) และมีธรรมาภิบาล (G) เพื่อยืนยันต่อผู้ลงทุนว่าเป็นกิจการที่ใผ่ดีจะมีความยั่งยืน
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น