-สถาบันไทยพัฒน์ เดินแผนกระตุ้นซีเอสอาร์บริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลังการเปิดเผย ESG 100 เตรียมจัดอันดับต่อ คาดเริ่มภายในไตรมาสที่ 2 พร้อมเปิดกว้างให้บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ร่วมพิจารณา
-ส่อง ESG 100 นัยสำคัญในการคัดกรองหุ้นคุณภาพในวิถียั่งยืน เล็งผลระยะยาว บจ.ตระหนักถึงแนวทางดำเนินธุรกิจที่มีซีเอสอาร์ ควบคู่กับข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน
หลังจาก สถาบันไทยพัฒน์ เปิดเผยรายชื่อ 100 หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) โดยเป็นการคัดเลือกจาก 567 บริษัทจดทะเบียนที่ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลจาก 6 แหล่ง ประกอบด้วย 1)ข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2)ข้อมูลการพิจารณารางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมยอดเยี่ยม และรางวัล CSRI Recognition ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 3)ข้อมูลโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย 4)ข้อมูลผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (CG Scoring) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) 5)ข้อมูลโครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ (CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Indicator) สถาบันไทยพัฒน์ และ 6) ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดยมีจำนวนกว่า 10,500 จุดข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ที่บริษัทเผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของ 100 บริษัทใน ESG100 ประมาณ 9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปของทั้งตลาดฯ ที่ 14 ล้านล้านบาท
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า กลุ่ม ESG 100 นั้นเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์ด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อนำไปใช้เป็นแหล่งข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียน (บจ.) สำหรับรองรับความต้องการของผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งต่อไปจะทวีความสำคัญเพราะไปเกื้อหนุนต่อการดำเนินธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่กิจการเข้าไปเกี่ยวข้อง
“ESG 100 บจ.ใดอยู่ในเกณฑ์การประเมิน แสดงถึงการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ที่มีข้อมูลอ้างอิงได้ ESG เป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วในองค์กรที่บอกว่ากิจการนั้นมีกิจกรรมซีเอสอาร์ซึ่งเป็นการลงมือทำจริง เป็น CSR in process โดยได้แสดงข้อมูลที่นำไปรายงานในฐานข้อมูลประจำปี ดังนั้น อีก 467 บจ. จากทั้งหมด 567 บจ. ไม่ติดอยู่ในเกณฑ์ ESG 100 ก็จะสร้างแรงกระตุ้นให้กิจการตระหนักในการเปิดเผยข้อมูลด้านซีเอสอาร์มากขึ้น ผมอยากให้มอง ESG เป็นเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้แสดงตนเองว่ากิจการมีซีเอสอาร์ ซึ่งใช้เป็นกุญแจเปิดทางไปสู่การพัฒนาความยั่งยืนแก่ บจ.และสังคมมากกว่า”
ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้พิจารณาคัดเลือกจากคุณภาพของรายงานความยั่งยืน ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) โดยจะไม่มีการใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม
สำหรับตัวแบบการประเมิน (ESG Rating Model) ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นเกณฑ์ขอบข่าย (Scope) ประกอบด้วย ความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder View) ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และวิถีระยะยาว (Long-Term Horizon) กลุ่มสองเป็นเกณฑ์หัวข้อเรื่อง (Topic) ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) และ กลุ่มสามเป็นเกณฑ์ของเนื้อหา (Materiality)
“กรอบในการคัดเลือก ESG 100 ยังไม่บอกว่า บจ.ใดได้อันดับ 1 หรือ 100 แต่เป็นการพิจารณาจาก 6 แหล่งข้อมูลดังกล่าว ส่วนการจัดอันดับจะเป็นการดำเนินการในขั้นต่อไปซึ่งยังต้องดูข้อมูลในเชิงลึกของแต่ละกลุ่มธุรกิจเนื่องจากมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมกับธุรกิจให้บริการมีรายละเอียดของเนื้อหาไม่เหมือนกัน ดังนั้น น้ำหนักที่จะใช้พิจารณาควรจะต้องให้สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มธุรกิจ หรือถ้ากำหนดสัดส่วนของ ESG ให้ชัดเจนไปเลยก็มีทั้งข้อดีที่มีความชัดเจน แต่ข้อเสียคือความเป็นธรรม ซึ่งคงจะต้องศึกษาในรายละเอียดแต่คาดว่าจะเริ่มต้นดำเนินการภายในไตรมาสที่ 2
ขณะเดียวกัน ESG ในขั้นต่อไปจะเปิดให้กิจการธุรกิจที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา ESG ซึ่งคาดว่ามีองค์กรทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ให้ความสนใจเนื่องจากองค์กรมีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ เช่น เทสโก้ โลตัส บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด เป็นต้น”
สำหรับการผนวกนำข้อมูล ESG ไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น 1.การนำไปวิเคราะห์ร่วมกับผลประกอบการ 2.จ้างนักวิเคราะห์ เรื่อง ESG โดยเฉพาะ และ 3.การทำเป็นธีมธุรกิจ เช่น ธีมธุรกิจพลังงานทดแทน เป็นต้น
“การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 นั้นเป็นข้อมูลตั้งต้นที่ผู้ลงทุนสามารถใช้คัดเลือกหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG ของหลักทรัพย์จดทะเบียนให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่กับข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน อันจะนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน การส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัท และการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน” ดร.พิพัฒน์ กล่าวในที่สุด
ESG สหรัฐฯ ยุโรป โตก้าวกระโดด
ในต่างประเทศมีการจัดทำข้อมูลและให้บริการดัชนีด้านความยั่งยืนเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุน โดยใช้ข้อมูล ESG เป็นฐานในการพิจารณา เป็นจำนวนหลายราย อาทิ เอสแอนด์พี ดาวโจนส์ ฟุตซี่ เอ็มเอสซีไอ และนับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณเม็ดเงินที่ถูกจัดสรรในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) ทั่วโลก มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ บอกว่า เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ในปี 2013-2014 ปริมาณเม็ดเงินที่ลงทุนในหมวดนี้ มีมากกว่า 6.57 ล้านล้านเหรียญ คิดเป็นร้อยละ 18 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมดที่ 36.8 ล้านล้านเหรียญ หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 6 เหรียญ จะมีไม่ต่ำกว่า 1 เหรียญที่ลงทุนโดยใช้ข้อมูล ESG ขณะที่ในยุโรป การลงทุนในหมวดนี้ มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านยูโร ส่วนในแถบเอเชียก็มีพัฒนาการของตลาดการลงทุนที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้นประมาณ 22% ซึ่งจะต้องอาศัยฐานข้อมูล ESG
ส่วนในการเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินในรูปของรายงาน ซึ่งบริษัททั่วโลกดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report เป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ESG 100 พลังงาน-ธนาคาร ครองแชมป์สูงสุด
บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ครองมาร์เก็ตแคป กว่า 9 ล้านล้านบาท หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคมากสุด คือ 12 บริษัท รองลงมาเป็นหมวดธุรกิจธนาคาร จำนวน10 แห่ง และมีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai เข้าอยู่ใน ESG100 จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ QTC, ILINK, CMO, APCO
ทั้งนี้ กระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม
•กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) 11 บริษัท เช่นบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
•กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) 10 บริษัท เช่นบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล, ซาบีน่า และไทยวาโก้
•กลุ่มธุรกิจการเงิน (Financials) 17 บริษัท เช่นธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา
•กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) 10 บริษัท เช่นบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล, อินโดรามา เวนเจอร์ส และสหวิริยาสตีลอินดัสตรี
•กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) 11 บริษัท เช่นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย, เซ็นทรัลพัฒนา และพฤกษา เรียลเอสเตท
•กลุ่มทรัพยากร (Resources) 14 บริษัท เช่นบริษัท ปตท., ปตท.สผ. และโกลว์ พลังงาน
•กลุ่มบริการ (Services) 16 บริษัท เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
•กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) 11 บริษัท เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, อินทัช โฮลดิ้งส์ และโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
ESG เป็นคำที่ใช้ในตลาดทุนโดยผู้ลงทุนเพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) หรือที่มักอ้างอิงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม