จ๊อบส์ ดีบี แนะ 5 วิธีง่ายๆ สำหรับคนทำงานเพื่อรับมือกับ ”ขาใหญ่”ในออฟฟิศ เริ่มจาก “ทำขาเล็ก-เอาขาหลบ-สับขาหลอก-ยื่นขาสู้-หาขาของตัวเอง”
ปัญหาเรื่อง “ขาใหญ่” หรืออีกนัยหนึ่งสามารถเรียกว่า “เจ้าที่” ในออฟฟิศ เป็นปัญหาธรรมดาสามัญอันดับ 1 ที่พบเจอได้ในเกือบทุกที่ สังเกตได้ว่าลักษณะสำคัญของ “ขาใหญ่” คือจะทำตัวเป็นกูรูในทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปกิณกะของออฟฟิศ เช่น คนนี้ไม่ถูกกับคนนั้น คนนั้นชอบอย่างนี้ และจะชอบข่มคนที่มาทีหลัง บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด จึงขอแนะนำ 5 วิธีง่ายๆ ในการใช้รับมือขาใหญ่ประจำออฟฟิศ
เริ่มจาก 1.ทำขาเล็ก คนที่ชอบทำตัวเป็นขาใหญ่ในออฟฟิศ มักจะอยากให้คนยกย่อง ชื่นชม อยากให้น้องๆ คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่า ถ้าคุณมีโอกาสเข้าไปเป็นน้องใหม่ในออฟฟิศไหน เราขอแนะนำให้คุณทำตัวใสๆ ไปก่อน เป็นขาเล็กของออฟฟิศ ฟังคุณพี่ขาใหญ่พูด หรือจะชื่นชมไปตามความเหมาะสม วิธีนี้ ถือว่าเป็นการรับมือขั้นแรก ที่มักจะได้ผล
2. เอาขาหลบ ถ้าคุณเจอขาใหญ่ที่รู้จริงก็ดีไป ถือว่าได้ฟังประสบการณ์ของคนอื่นแล้วเอามาปรับใช้กับตัวเอง แต่หากเจอขาใหญ่อารมณ์โม้ไว้ก่อนพ่อสอนไว้ เรื่องจริงไม่จริงไม่รู้ขอให้ได้อวด แล้วคุณก็จะเกิดอารมณ์หงุดหงิด รู้สึกรำคาญ ขอแนะนำว่าอย่าไปเถียงตอบ ควรพยายามหลบเลี่ยงการสนทนานอกเหนือจากเรื่องงาน เพราะถ้าเถียงไปเค้าอาจแค้นฝังหุ่น เอาคุณไปเม้าท์ต่อให้เสียชื่ออีก ไม่คุ้มแน่
3. สับขาหลอก ขาใหญ่ประจำออฟฟิศจะชอบแนะนำ ยิ่งคุณเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน เขายิ่งจะชอบกระเซ้าเย้าแหย่ เราขอแนะนำว่าเลือกฟังแต่เรื่องราวที่เป็นประโยชน์กับงานของคุณ ฟังด้วยใจที่เป็นกลาง หากโดนขู่อะไรอย่าเชื่อทั้งหมด ให้ท่องไว้ในใจว่าสิบปากกว่าไม่เท่าตาเห็น อะไรที่เรายังไม่พบเจอด้วยตัวเอง ก็อย่าเพิ่งกลัวไปก่อน เพราะจะทำให้คุณหมดกำลังใจในการทำงาน บางทีคำแนะนำที่ขาใหญ่แนะมา ไม่ตรงกับความรู้สึก หรือไอเดียที่เราคิดไว้ ก็ให้ตอบขอบคุณในคำแนะนำไปก่อน แล้วใช้วิธีสับขาหลอก โดยยึดแนวทางที่คุณอยากทำแทน ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดี อย่าให้ทัศนคติของคนอื่นมามีผลกับเรา
4. ยื่นขาสู้ วิธีนี้เราขอแนะนำให้ใช้ในกรณีที่คุณรู้สึกว่าขาใหญ่เริ่มขยับเข้ามาใกล้คุณ หรือก้าวก่ายการทำงานของคุณมากเกินไป ถ้าคุณเริ่มรู้สึกอึดอัด ก็ถอยออกมา แล้วทำตามสิ่งที่คุณคิดว่าถูกหรือดี แม้ว่ามันจะเป็นแนวทางที่ต่างจากขาใหญ่ในออฟฟิศ คำว่าสู้ในทีนี้ไม่ใช่ให้คุณไปท้าสู้ต่อยตี หรือระรานใคร แต่หมายถึง ให้คุณมีจุดยืนในการทำงานของตัวเองแล้วก็ยึดมั่นในจุดยืนนั้น แนะนำว่า ใช้วิธีการนั้นกับขาใหญ่ที่มายุ่งกับคุณจนเกินพอดีเท่านั้น
และ5. หาขาของตัวเอง เชื่อว่าไม่ใช่คุณคนเดียวแน่ๆ ที่เอือมระอาขาใหญ่ในออฟฟิศ ถ้าถึงจุดที่โดนรังแกมากจนไม่ไหวแล้ว ก็ลองเอ่ยปากถามคนอื่นดูว่ารู้สึกแบบเดียวกับคุณหรือเปล่า สร้างพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันในออฟฟิศก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายแต่อย่างใด จะได้มีคนไว้ให้ปรับทุกข์ ไว้ปลอบใจ และแชร์ความรู้สึกร่วม