PwC เผยกฎระเบียบที่เข้มงวดมาก -ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ -ดอกเบี้ยขาลง เป็น 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการทั่วโลกห่วงกระทบการดำเนินธุรกิจประกันภัยใน 2-3 ปีข้างหน้า ชี้ภัยไซเบอร์ขึ้นแท่นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่ต้องระวัง หลังเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจ แนะผู้ประกอบการต้องปรับตัว บริหารความเสี่ยงหาจุดต่าง และสร้างจุดเด่นให้เหนือคู่แข่ง
นางอโนทัย ลีกิจวัฒนะ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงานธุรกิจประกันภัย บริษัท PwC (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ Insurance Banana Skins 2015 ที่ทาง PwC ทำร่วมกับ The Centre for the Study of Financial Innovation (CSFI) โดยทำการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยจำนวนกว่า 800 รายใน 54 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ว่า การออกกฎระเบียบข้อบังคับที่มากเกินไป (Regulation) ความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจมหาภาค (Macro-economy) และอัตราดอกเบี้ย (Interest rates) เป็นปัจจัยเสี่ยง 3 อันดับแรกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัยมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้
“การออกกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับที่เข้มงวดมากเกินไป ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมประกันภัยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ทำการสำรวจ แม้ว่ากฎระเบียบข้อบังคับจะมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อภาพรวม แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบ่อยครั้งเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุน และทำให้การดำเนินธุรกิจสะดุดได้”
จากผลสำรวจพบว่า การออกกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency) ซึ่งหมายรวมถึง กรอบกำกับเงินกองทุนธุรกิจประกันภัย และพฤติกรรมการปฏิบัติงานของบุคลากรในอุตสาหกรรม (Market Conduct) ได้สร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับความยุ่งยากซับซ้อนในการต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance) แล้ว ยังสร้างความสับสนให้ฝ่ายบริหาร แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลกำไรให้ธุรกิจในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างเช่น กรอบกำกับเงินกองทุนของประเทศยุโรป หรือ Solvency II ที่จะมีผลบังคับใช้กับบริษัทประกันภัยที่อยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรืออียู ในปี 2559 นั้นได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการมากที่สุด แม้มีหลายๆ ประเทศเริ่มใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันบ้างแล้ว โดยยึดกรอบของ Solvency II เป็นแนวทางปฏิบัติ
“กฎระเบียบถือเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ขณะเดียวกันความเข้มงวดที่มากเกินไป ก็เหมือนการบีบบังคับให้ผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ แทนที่จะไปมุ่งเน้นทำธุรกิจหลักมากกว่า ซึ่งบุคคลทั้งในและนอกวงการต่างเห็นพ้องต้องกันในประเด็นนี้”
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมหภาค (Macro-economy) กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 2 ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 3 เมื่อคราวก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่แน่ใจต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ย (Interest rates) ที่ยังอยู่ในช่วงขาลงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงถัดมาที่กดดันผลตอบแทนการลงทุน ทำให้บริษัทประกันขายผลิตภัณฑ์ได้ยากขึ้น
นายเดวิด ลาสเซลเลส ผู้จัดทำผลสำรวจนี้กล่าวว่า อุตสาหกรรมประกันภัยกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยากลำบาก และอุปสรรคจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรม ทั้งหมดสะท้อนออกมาเป็นมุมมองเชิงลบ อย่างที่เห็นจากผลสำรวจในปีนี้
ด้านนายสตีเฟ่น โอเฮิร์น หัวหน้าสายงานธุรกิจประกันภัย PwC โกลบอล กล่าวว่า แนวโน้มระยะยาวของธุรกิจนี้ยังคงเป็นบวก เพราะประชากรโลกมีอายุยืนยาวและมีความมั่งคั่งมากขึ้น แต่ความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ คือ ผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงดั้งเดิม และความเสี่ยงใหม่ๆ ให้ได้ ซึ่งจุดนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความแตกต่างที่จะนำไปสู่ความสำเร็จท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน
“ภัยไซเบอร์” ความเสี่ยงใหม่ของธุรกิจประกัน
นางอโนทัย กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจของผลสำรวจครั้งนี้ คือ ภัยคุกคามจากไซเบอร์ (Cyber risk) ขยับขึ้นมาเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 4 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มทำผลสำรวจเมื่อปี 2550 สาเหตุหลักมาจากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การส่งมอบสินค้าประกันออนไลน์ การจัดการข้อมูล และอื่นๆ ทำให้ปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และการรักษาความปลอดภัยขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา
“ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจารกรรมข้อมูล หรือข้อมูลมีการรั่วไหล หรือถูกแฮกเกอร์เข้ามาล้วงข้อมูล ไปจนถึงการทำงานผิดพลาดของซอฟแวร์ เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต โดยปัจจุบันบริษัทประกันภัยตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเพิ่มมาตรการควบคุมดูแลและจัดการความเสี่ยง กลายเป็นภารกิจสำคัญของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้”
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า การขาดแคลนบุคลากรที่มีประสบการณ์และความสามารถสูง (Talent) กลับเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคนี้ เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงจะยิ่งทำให้การเฟ้นหาและรักษาคนเก่งเป็นเรื่องยากกว่าในอดีต
อย่างไรก็ดี แม้ในการสำรวจปีนี้จะพบความเสี่ยงใหม่ๆ แต่ก็มีความเสี่ยงบางประการที่มีผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง อาทิ คุณภาพในการบริหารจัดการ (Quality of Management) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate governance) ของบรรดาบริษัทประกันภัยที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจากในอดีตที่ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงอันดับต้นๆของอุตสาหกรรม รวมไปถึง ความเสี่ยงด้านภาพลักษณ์และชื่อเสี่ยง (Reputation) ก็ลดลงเช่นกัน หลังจากที่บริษัทประกันภัยหันมาให้ความสำคัญกับงานสื่อสารองค์กรมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตของสังคมออนไลน์กำลังกลายเป็นภัยคุกคามของการบริหารภาพลักษณ์และชื่อเสี่ยงองค์กรที่ต้องระวังเช่นกัน
“อุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทยไม่สามารถเพิกเฉยต่อปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้เช่นกัน โดยมองว่า นอกจากอุตสาหกรรมจะต้องรักษาความเป็นมืออาชีพและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องพร้อมปรับตัวและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่โลกกำลังเผชิญอยู่