xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกาฟ้องกลุ่มนักวิชาการจีนรวมหัวจารกรรมเทคโนโลยีมือถือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งข้อหาจารกรรมทางเศรษฐกิจต่อบุคคลสัญชาติจีนรวม 6 คนในจำนวนนี้เป็นศาสตราจารย์ 3 คนจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของแดนมังกร โดยระบุว่าคนเหล่านี้ขโมยความลับทางการค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือจากบริษัท 2 แห่ง เพื่อผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและรัฐวิสาหกิจที่ควบคุมโดยปักกิ่ง ทั้งนี้ ตามการแถลงของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในวันอังคาร (19 พ.ค.) ขณะที่ทางการจีนระบุในวันพุธ (20) ว่า “มีความกังวลอย่างแรงกล้า” เกี่ยวกับเรื่องนี้

ในคำฟ้องคดีอาญารวม 32 กระทงภายใต้กฎหมายการจารกรรมข้อมูลเศรษฐกิจปี 1996 ที่ฝ่ายอัยการสหรัฐฯยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา แต่เพิ่งเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (19) นั้น ระบุว่า หนึ่งในบุคคลที่ถูกกล่าวหาคือ ศาสตราจารย์เฮ่า จาง ที่ถูกจับกุมเมื่อวันเสาร์ (16) ขณะเดินทางถึงสนามบินลอสแองเจลีส ส่วนอีก 5 คนคาดว่ายังอยู่ในจีน

บุคคลทั้งหมดนี้อาจถูกจำคุกนานถึง 50 ปี หากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาซึ่งมีทั้งการจารกรรมข้อมูลเศรษฐกิจ ขโมยความลับทางการค้า และสมรู้ร่วมคิด เป็นต้น

คำฟ้องของฝ่ายอัยการบรรยายว่า แผนการของคนเหล่านี้คือขโมยเทคโนโลยี FBAR ที่โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่นๆ ใช้ในการกรองสัญญาณวิทยุและปรับปรุงประสิทธิภาพ จากนั้นก็แอบอ้างว่าพวกเขาเป็นผู้พัฒนาเพื่อยื่นขอสิทธิบัตรทั้งในอเมริกาและจีน

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า จำเลยเหล่านี้วางแผนขายส่วนประกอบ FBAR ให้แก่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือชั้นนำ อาทิ ซัมซุง โดยคาดการณ์ว่าตลาดส่วนนี้มีมูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2006

เมลินดา แฮก อัยการสหรัฐฯ แถลงว่า คดีนี้ตอกย้ำว่าเทคโนโลยีอ่อนไหวที่พัฒนาโดยบริษัทอเมริกันยังคงเสี่ยงถูกโจรกรรมภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลต่างชาติ

เดวิด จอห์นสัน เจ้าหน้าที่พิเศษของสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ในซานฟรานซิสโก ขานรับว่าแผนการนี้เป็นความพยายามอย่างเป็นระบบและอดทนโดยต่างชาติที่ต้องการขโมยเทคโนโลยีมีค่าของอเมริกาเพื่อนำไปแสวงหาผลประโยชน์โดยการใช้บุคคลที่ดำเนินการอยู่ในอเมริกา

ทั้งนี้ ภายใต้แผนการที่ถูกกล่าวหาว่า เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2006 นั้น จำเลยทั้งหกร่วมมือกันเพื่อขโมยความลับทางการค้าจากบริษัทอวาโก เทคโนโลยีส์ ที่มีฐานอยู่ในแคลิฟอร์เนีย และบริษัท สกายเวิร์กส์ โซลูชันส์ ในแมสซาชูเสตส์

เอกสารคำฟ้องบรรยายว่า ฝ่ายการลงทุนของมหาวิทยาลัยเทียนจิน และบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรวมถึงจำเลยบางคน ได้ร่วมกันตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อว่า อาร์โอเอฟเอส ไมโครซิสเต็มส์ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ขโมยมา โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า ความลับทางการค้านี้ช่วยให้มหาวิทยาลัยเทียนจินสร้างโรงงานผลิตชิป FBAR

จาง วัย 36 ปี เคยเป็นพนักงานของสกายเวิร์กส์ และขณะนี้เป็นศาสตราจารย์เต็มเวลาของมหาวิทยาลัยเทียนจิน

ผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นๆ ได้แก่ เว่ย ปัง วัย 35 ปี ที่เคยทำงานให้อวาโก และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์เต็มเวลาของมหาวิทยาลัยเทียนจินเช่นเดียวกัน, จินปิง เฉิน วัย 41 ปี ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเทียนจินและสมาชิกในคณะกรรมการบริการของอาร์โอเอฟเอส, ฮุยซุย จาง วัย 34 ปี เคยเรียนกับปังและเฮ่า จาง ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย (ยูเอสซี), ซ่ง โจว วัย 26 ปี นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยเทียนจิน และเจ้า กัง วัย 39 ปี ผู้จัดการทั่วไปของอาร์โอเอฟเอส

จากเอกสารคำฟ้อง ปัง และเฮ่า จาง พบกันขณะเรียนปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่ยูเอสซี ซึ่งทั้งคู่ทำวิจัยโดยได้รับทุนจากสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม (DARPA) ของอเมริกา

หลังจากเรียนจบ ปังเข้าทำงานกับอวาโก ส่วนจางทำงานให้สกายเวิร์กส์

ระหว่างปี 2006-2007 ปังและจางร่างแผนเริ่มผลิตเทคโนโลยีที่ขโมยมาขึ้นในจีน และหารือเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่หลายคนของมหาวิทยาลัยเทียนจิน ต่อมาในปี 2009 ทั้งคู่ลาออกจากบริษัทอเมริกันและบินกลับไปสอนที่เทียนจิน

ทางด้านมหาวิทยาลัยเทียนจินที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1895 และถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่ที่สุดของจีน เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ประสงค์จะออกนามผู้หนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงว่า มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ในทันที

ขณะที่ หง เหล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน บอกกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการแถลงข่าววาระปกติว่า “รัฐบาลจีนขอแสดงความกังวลอย่างแรงกล้าเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น และเรากำลังตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม”

หงไม่ให้ความเห็นเมื่อถูกสอบถามว่าเรื่องนี้จะบ่อนทำลายความสัมพันธ์จีน-อเมริกันหรือไม่ แต่กล่าวว่ารัฐบาลจีนจะดำเนินการเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า “สิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของบุคลากรชาวจีน จะได้รับการเคารพ”

ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่อเมริกากล่าวหาคนจีนจารกรรมข้อมูลเศรษฐกิจในนามรัฐบาลจีน และเรื่องนี้อาจทำให้วอชิงตันและปักกิ่งหมางใจกันอีก หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เพิ่งเดินทางเยือนปักกิ่ง และออกปากแสดงความกังวลเรื่องกิจกรรมของจีนในทะเลจีนใต้


กำลังโหลดความคิดเห็น