โดย - ผศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ในขณะที่ ประเทศไทยเราได้รับรู้ถึง “ข่าวร้าย” ทางเศรษฐกิจมาตลอดในรอบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ อัตราการส่งออกที่ลดฮวบ ฯลฯ จนกระทั่งมีผู้วิเคราะห์ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ “คนป่วยแห่งเอเชีย” เป็นสิ่งที่น่าคิดน่าวิเคราะห์หาสาเหตุหรือวินิจฉัยหารากเหง้าแห่งปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจสังคมไทยว่าเหตุใดจากที่ยุคหนึ่งเราเคยได้รับการยกย่องชื่นชมจากองค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจหลายแห่งว่าเราเป็น “เสือตัวที่ห้า” (The fifth tiger) บ้างล่ะ หรือเป็น “มหัศจรรย์แห่งเอเชีย” (Asian miracle) บ้างล่ะ
ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบัน Martin Prosperity Institute (MPI) ซึ่งสังกัดอยู่ใน Rotman School of Management แห่ง University of Toronto ได้ตีพิมพ์รายงานประจำปีที่น่าสนใจฉบับหนึ่งที่ชื่อ The Global Creativity Index (GCI) ประจำปี ค.ศ. 2015 อาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “รายงานดัชนีความสร้างสรรค์ของโลก”
โดยพื้นฐานของรายงานนี้ มาจากแนวความคิดของนักวิชาการคนสำคัญที่ชื่อ Richard Florida ผู้มีแนวความคิดที่ว่าโลกทุกวันนี้อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และระบบนี้กำลังอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย (ไม่ใช่ “ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง” เท่านั้น แต่เป็น “การเปลี่ยนยุคสมัย” กันเลยทีเดียว) กล่าวคือ เป็นการเปลี่ยนจากยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม (Industrial model) ไปสู่ยุคใหม่ที่ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าอย่างยั่งยืนอยู่บนพื้นฐานของความรู้และความคิดสร้างสรรค์
ในยุคเดิมคือยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมนั้น (industrial capitalism) พลังที่จะสร้างความจำเริญเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ กองทัพแรงงาน และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่สำหรับยุคเศรษฐกิจทุนนิยมเชิงสร้างสรรค์ พลังที่เป็นตัวขับเคลื่อนความจำเริญเติบโตในเศรษฐกิจยุคสร้างสรรค์นี้อยู่ที่ความรู้ ความสร้างสรรค์ นวัตกรรมและทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถสูง (Talent)
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสร้างสรรค์คือทุนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่
ศาสตราจารย์ริชาร์ด ฟลอริด้าและทีมงานได้ทำการศึกษาวิจัยปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนาประเทศต่างๆในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี้ติดต่อกันมาหลายปี จนกระทั่งตีพิมพ์ผลงานที่มีชื่อเสียงออกมาเป็นหนังสือขายดีหลายเล่มหลายฉบับ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่น The rise of creative class, The flight of creative class ฯลฯ (ผู้เขียนได้ติดตามงานของ Richard Florida มาโดยตลอด และได้ใช้แนวคิดของท่านเป็นพื้นฐานในการเขียนหนังสือชื่อ “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา) คำว่า Creative class (ชนชั้นสร้างสรรค์) คือคำและแนวคิดที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาจนเสมือนเป็นเครื่องหมายทางการค้าของริชาร์ด ฟลอริด้าไปเสียแล้ว
จากการทำการศึกษาวิจัยมาหลายปี ศาสตราจารย์ริชาร์ด ฟลอริด้าได้ตกผลึกทางความคิด แล้วพัฒนาเป็นตัวแบบหรือสูตรสำเร็จขึ้นมาว่าประเทศที่จะสร้างความจำเริญเติบโต Growth และเจริญรุ่งเรือง prosperity ทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ได้ จะต้องมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญ 3 ประการ ซึ่งเขาเรียกว่า ตัวแบบสามที (“3Ts”) ของการพัฒนาเศรษฐกิจ อันได้แก่ Technology (เทคโนโลยี) Talent (คนเก่ง) และ Tolerance (ขันติธรรม)
ปัจจัยแรก “เทคโนโลยี” (Technology) เป็นปัจจัยที่สำคัญมากของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปัจจัยนี้เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คือ Paul Romer ผู้เสนอแนวคิดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นกระบวนการภายใน (Endogenous process) ที่อยู่บนพื้นฐานของการสั่งสม (Accumulation) และการใช้ (Exploitation) ความรู้ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง การสร้างสมและประยุกต์ใช้ความรู้อย่างต่อเนื่องเมื่อมาถึงจุดหนึ่งจะเกิดพัฒนาการของแนวความคิดใหม่ๆ สูตรสำเร็จแบบใหม่ๆ รวมทั้งเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีแบบใหม่ๆ ดังนั้น หากสังคมใดมีกิจกรรมของมนุษย์ในทางสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เช่น มีการวิจัยและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีโอกาสที่จะค้นพบสูตรสำเร็จใหม่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ปัจจัยที่สอง “คนเก่ง” (Talent) มีที่มาจากแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำเช่นโรเบิร์ต ลูกัส (Robert Lucas) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ (ปี ค.ศ. 1995) ที่ชี้ให้เห็นว่าความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นผลพวงมาจากทุนมนุษย์ เช่นเดียวกับเอ๊ดเวิร์ด เกรเซอร์ (Edward Glaeser) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ศึกษาพบว่ายิ่งสังคมที่เป็นเมืองมากขึ้นเท่าใดและยิ่งพื้นที่ใดมีความหนาแน่นของเมืองมากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งเป็นที่ๆ มีความได้เปรียบในเชิงผลิตภาพ (Productivity advantage) มากขึ้นเท่านั้น
รวมทั้งแนวคิดของ Jane Jacobs ในหนังสือ The Economy of Cities ที่พบว่าเมืองที่พัฒนาก้าวหน้านั้นมักจะเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยทุนมนุษย์ที่มีความหลากหลายทั้งด้านความสามารถและความเชี่ยวชาญหลั่งไหลจากภายนอกเข้ามาสู่เมืองแห่งนั้น สำหรับแนวคิดนี้เชื่อว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของเมืองที่จะต้องนำพาทุนมนุษย์เข้ามาและเพิ่มพูนทุนมนุษย์ และเนื่องจากสถานที่ใดก็ตามที่มีทุนมนุษย์มากกว่าก็ย่อมจะเติบโตได้เร็วกว่าที่ที่มีทุนมนุษย์น้อยกว่า
การเติบโตของเมือง (Urbanization) และความหนาแน่นของเมืองจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดนวัตกรรมและการเพิ่มผลิตภาพ
ปัจจัยที่สาม คือ “ขันติธรรม” (Tolerance) เกิดจากคำถามที่ว่า “ทำไมพื้นที่บางพื้นที่ เมืองบางเมืองจึงมีความโดดเด่นเหนือกว่าพื้นที่หรือเมืองอื่นๆ ในการที่จะสร้าง ดึงดูด และรักษาคนเก่งๆ เอาไว้ได้?” คำตอบที่ ศาสตราจารย์ริชาร์ด ฟลอริด้าศึกษาพบคือ พื้นที่หรือเมืองนั้นๆ มักมีลักษณะที่ “เปิดกว้าง หลากหลาย และมีขันติธรรม” (Openness, diversity and tolerance)
คำว่า “ขันติธรรม” นี้ ศาสตราจารย์ริชาร์ด ฟลอริด้า หมายถึง สังคมที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงจะต้องขจัดสิ่งที่ขัดขวางต่อการเป็นสังคมเปิดกว้างและเปิดรับความแตกต่าง (Inclusive) และเป็นที่ที่ซึ่งกระตือรือร้นที่จะขับเคลื่อนเอาความสามารถที่สร้างสรรค์ของคนออกมา
ดังนั้น สังคมเช่นนี้จึงมิใช่แค่มีขันติอดทนยอมรับต่อความแตกต่างหลากหลายเท่านั้น แต่ต้อง “เปิดรับขับเคลื่อนเชิงรุก” (Proactively inclusive) นั่นคือต้องส่งเสริมให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย
ภายใต้ ทฤษฎี 3Ts นี้ ริชาร์ด ฟลอริด้าและทีมงาน ได้นำมาเป็นแนวทางในการสร้างเป็นเครื่องมือและตัวชี้วัดถึงความจำเริญเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน (advanced economic growth and sustainable prosperity) โดยได้ทำการประเมินและจัดอันดับประเทศต่างๆทั่วโลกกว่า 139 ประเทศบนพื้นฐานของตัวชี้วัดความสร้างสรรค์ของโลกนี้ (GCI)
ผลการจัดอันดับในปี ค.ศ. 2015 นี้ โดยภาพรวมของการเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์พบว่าประเทศที่ติด 10 อันดับแรก ได้แก่ ออสเตรเลียติดอันดับเป็นที่หนึ่ง ตามมาด้วย สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ แคนาดา และเดนมาร์กกับฟินแลนด์เป็นอันดับห้าเท่ากัน ตามมาด้วย สวีเดน ไอซ์แลนด์ สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์
แต่หากพิจารณาเป็นรายปัจจัย ได้แก่
1.ตัวชี้วัดด้านเทคโนโลยี ซึ่งรายงานฉบับนี้เน้นวัดไปที่ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และการมีสิทธิบัตรด้านนวัตกรรม ผลการวัดและจัดอันดับพบว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ได้รับการจัดเป็นอันดับหนึ่งในด้านนี้ ติดตามมาด้วยญี่ปุ่น อิสราเอล สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน สิงคโปร์ และ เดนมาร์กเป็นอันดับที่สิบ
2.ตัวชี้วัดด้าน “คนเก่ง” (Talent) รายงานฉบับนี้เน้นตัวชี้วัดเกี่ยวกับการมี “ชนชั้นสร้างสรรค์” (Creative class) ในประเทศต่างๆ รวมถึงระดับการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประชาชนในประเทศนั้นๆ ผลการวัดและจัดอันดับพบว่าประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งในด้านนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย ตามมาด้วยไอซ์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ สิงคโปร์ เดนมาร์ก สโลวาเนีย เบราลุส นิวซีแลนด์ และ สวีเดน เป็นกลุ่มที่ติด 10 อันดับแรกในโลกนี้
และหากพิจารณาเฉพาะตัวชี้วัดเกี่ยวกับคนที่อยู่ในกลุ่ม “ชนชั้นสร้างสรรค์” เป็นการเฉพาะ จะพบว่า ประเทศลักเซมเบิร์ก เป็นอันดับหนึ่งในด้านนี้ ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นสร้างสรรค์คิดเป็นร้อยละ 54 ของประชากรทั้งหมด โดยคนเหล่านี้ทำงานกระจายอยู่ในทั้งภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านศิลปวัฒนธรรม และในทางธุรกิจ การบริหารจัดการและวิชาชีพสาขาต่างๆ ด้วย รองลงมาคือประเทศเบอร์มิวด้า และสิงคโปร์ (ซึ่งเคยเป็นอันดับหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2011)
3.ตัวชี้วัดด้าน “ขันติธรรม” (Tolerance) เป็นตัวชี้วัดเชิงสังคมวัฒนธรรมที่จะช่วยให้เป็นตัวดึงดูดให้คนเก่งๆ อยากมาอยู่ในประเทศนั้นและเป็นตัวช่วยทำให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการคิดสร้างสรรค์และการสร้างสรรค์นวัตกรรม รายงานฉบับนี้เน้นตัวชี้วัดเกี่ยวกับ การเปิดกว้างต่อชาติพันธุ์วรรณะ (openness to ethnic) และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา (religious minorities) และการเปิดกว้างต่อกลุ่มชาวเกย์และเลสเบี้ยน (openness to gay and lesbian people) ผลการวัดและจัดอันดับพบว่า แคนาดาจัดเป็นประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งในด้านนี้ รองลงมาคือ ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ อุรุกวัย ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน จัดอยู่ในกลุ่มสิบอันดับแรกตามลำดับ
รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอสรุปโดยภาพรวมว่า ในยุคเศรษฐกิจบนฐานความรู้ยุคใหม่นี้ จะเห็นได้ว่า “ความคิดสร้างสรรค์” ถือเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ดังจะเห็นได้จาก การที่ประเทศใดที่มีตัวชี้วัดด้านความสร้างสรรค์ GCI ในระดับสูง ก็มักจะมีระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนามนุษย์อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์ยังมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับสภาพการขยายตัวของเมืองด้วย (Urbanization) กล่าวคือ ยิ่งประเทศใด ยิ่งมีความเป็นเมืองมากขึ้นเท่าใด ก็มักจะมีคะแนนด้านความสร้างสรรค์ GCI มากตามไปด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น รายงานฉบับนี้ยังอ้างว่า ได้พบว่าประเทศใดมีคะแนนดัชนีความสร้างสรรค์ GCI ระดับสูง มักจะเป็นประเทศที่มีระดับของความเสมอภาคมากขึ้นตามไปด้วย แม้จะมีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ที่มีคะแนนดัชนีความสร้างสรรค์ GCI ระดับสูง แต่ก็มีระดับของความไม่เสมอภาคสูงด้วยเช่นเดียวกัน แต่โดยภาพรวมแล้ว คะแนนดัชนีความสร้างสรรค์ GCI ระดับสูงจะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับระดับของความไม่เสมอภาคที่ลดต่ำลง
โดยรายงานฉบับนี้เชื่อว่า ประเทศที่ลงทุนกับเรื่องของความคิดสร้างสรรค์มักจะมีแนวโน้มที่จะเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค กล่าวในทางกลับกันคือยิ่งสังคมมีความเสมอภาคมากก็มีแนวโน้มจะลงทุนในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จะทำให้สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคมของหลายๆประเทศที่เคยมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ให้บรรเทาเบาบางลงไปได้
รายงานฉบับนี้ยังพบว่า มีเส้นทางที่จะสร้างความสมดุลระหว่างความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์กับความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาค อยู่ 2 แนวทาง แนวทางแรกเรียกว่า “สายสูง” (The high road) อันเป็นแนวทางตามตัวแบบของกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย (Path of the Scandinavian nations) แนวทางนี้จะผสมผสานขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ระดับสูงให้สัมพันธ์กับการลดระดับความเหลื่อมล้ำให้ลดต่ำลง กับอีกเส้นทางหนึ่งคือ “สายต่ำ” (The low road path) อันเป็นแนวทางของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ซึ่งผสมผสานกันของขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ระดับสูงพร้อมไปกับการมีความเหลื่อมล้ำในระดับสูงควบคู่ไปด้วย
รายงานฉบับนี้แนะนำว่า แนวทางของพวก “สายสูง” ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเป็นไปไม่ได้สำหรับหลายๆ ประเทศ และน่าจะเป็นแนวทางที่จะสามารถนำไปใช้ในการชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีกว่า
สุดท้าย ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงตั้งคำถาม และรอคำตอบมานานแล้วว่า “แล้วประเทศไทยเราได้รับการจัดอันดับอยู่ที่เท่าไรในรายงานว่าด้วยความสร้างสรรค์ของโลกฉบับปี ค.ศ. 2015 นี้?”
คำตอบคือ ลำดับที่ 82 จากทั้งหมด 139 ประเทศครับ