สวปอ. มส.4 จัดสัมมนาเรื่อง สังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าด้วย Digital Productivity “Telecommuting : Work Anywhere Anytime” ชูแนวคิด Telecommuting รูปแบบการทำงานแบบไม่จำเป็นต้องเดินทางมาทำงานในสถานที่ทำงานตามปกติ ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ประหยัดเวลา และที่สำคัญลดความเครียดให้แก่พนักงานจากการเดินทาง ลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดการใช้พลังงาน สนองพระราชดำรัสการแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืนด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นทาง
คณะกรรมการวิชาการ ร่วมกับคณะกรรมการ CSR หลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง รุ่นที่ 4 หรือ สวปอ. มส.4 สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานการประชุมสัมมนาเรื่อง สังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ด้วย Digital Productivity “Telecommuting : Work Anywhere Anytime” โดยชูแนวคิด Telecommuting ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่พนักงานไม่จำเป็นต้องเดินทางมาทำงานที่สถานที่ทำงานตามปกติด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอันเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคดิจิตอลที่ทำให้สามารถทำงานได้จากทุกที่ซึ่งไม่ต่างจากเดิมที่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปที่ทำงานแต่อย่างใด
โดยมีตัวอย่างในหลายประเทศทั่วโลกมีการทำงานในลักษณะ Telecommuting กันอย่างแพร่หลายมานานหลายปี นับตั้งแต่มีระบบสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศมีแรงงานกว่าครึ่งมีลักษณะงานที่สามารถทำงานแบบ Telecommuting ได้
ขณะที่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเผยแพร่ในสื่อโทรทัศน์ในปี พ.ศ.2538 ทรงแนะนำการแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืนด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นทางคือ “ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ประชาชนต้องเดินทางไปทำงาน” ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่สั้นแต่เปี่ยมด้วยพระปรีชาในความคิดที่ล้ำสมัย จนถึงปัจจุบันถึงได้เป็นที่ประจักษ์ในความหมายที่พระองค์ทรงดำรัสไว้เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
ประจวบเหมาะกับเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมที่ครอบคลุม และความพร้อมของเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการทำงาน ซึ่งนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบธุรกิจในยุคดิจิตอล สู่การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย Digital Productivity เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
โดยที่ผ่านมา ในประเทศไทยได้มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมผลักดันให้ Telecommuting เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย เช่น การร่วมกับสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อหารือเสนอให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการทำงานในลักษณะ Telecommuting อย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เร่งผลักดันกฎหมายภาษีจูงใจการทำงานจากบ้าน นำผลประโยชน์ทางภาษีจูงใจทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง รวมถึงการจัดให้มีการสัมมนาเรื่องบทบาทอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อ Telecommuting “Work Anywhere Anytime เพื่อประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนต่อสังคม องค์กร และพนักงาน” โดยคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งมี สวปอ. มส.4 เป็นคณะทำงานอยู่ด้วยกัน 3 คนคือ ศ.ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน รศ.นรีวรรณ จินตกานนท์ และ พลเอก ดร.วิชิต สาทรานนท์
และจากสภาพการจราจรที่ติดขัดต้องใช้เวลาบนท้องถนนเป็นเวลานาน ทำให้หลายหน่วยงานให้ความสำคัญต่อแนวโน้มการทำงานรูปแบบใหม่อย่าง Telecommuting ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ประหยัดเวลา และที่สำคัญช่วยลดความเครียดให้แก่พนักงานที่ต้องผจญต่อสภาพการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน ซึ่งการเริ่มปรับรูปแบบการทำงานเป็น Telecommuting เพียงไม่กี่วันต่อสัปดาห์ ก็สามารถช่วยบรรเทาลดสภาพการจราจรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันลงได้ อีกทั้งยังช่วยลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้พลังงานซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศที่ต้องอาศัยการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศจากสภาพการจราจรที่ติดขัด ยังมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขของประเทศ
ขณะที่ตัวพนักงานเองก็สามารถให้เวลากับชีวิตส่วนตัว และครอบครัวได้มากขึ้น จากเวลาที่ต้องเคยเสียไปกับการเดินทาง การทำงานลักษณะ Telecommuting นับว่าสอดคล้องต่อแนวคิด work-life balance เมื่อปรับสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ และเมื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นย่อมสร้างสุข มีพลังสรรค์ และสร้างงานที่มีคุณภาพออกมาได้ แม้ว่าตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นจะเหมาะสำหรับงานบางตำแหน่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ รักความอิสระ หากแต่การเปิดโอกาสให้ทำงานลักษณะ Telecommuting ได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงไม่กี่วันต่อสัปดาห์ ก็นับเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจสำคัญที่จะได้พนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเหมาะต่อยุคดิจิตอลเข้ามาทำงานในองค์กรเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ การจัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ประธานนักศึกษาหลักสูตรการบริหารจัดการความมั่นคงขั้นสูง รุ่นที่ 4 สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สวปอ. มส.4) พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ประธานคณะกรรมการวิชาการ ศ.ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน และคณะกรรมการ ร่วมกับประธานคณะกรรมการ CSR ปิยพรรณ หันนาคินทร์ และคณะกรรมการ สวปอ. มส.4 ได้จัดให้เป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น หาแนวทางความร่วมมือ ร่วมกันผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้งานจริงในทุกภาคส่วนผ่านการถ่ายทอดจากประสบการณ์จริง
โดยมีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ธาริษา วัฒนเกส และการอภิปรายของผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ ปรานต์ สยามวาลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล ดร.หลุยส์ ดนัย คริสธานินทร์ รวมถึงประสบการณ์การใช้งานในวงการสื่อสารมวลชนจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ และนายแพทย์ธนกฤตจินตวร แพทย์ผู้บริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ดำเนินรายการโดย ดร.พีรเดช ณ น่าน ผู้ช่วยคณะกรรมการวิชาการ สวปอ. มส.4 พร้อมผู้บริหารระดับสูงที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กว่า 150 คน เข้าร่วมการประชุมสัมมนาในครั้งนี้
Company Related Link :
สวปอ. มส.