อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ร่วมกับสถาบันอาหารภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เปิด“ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย” หรือ (Thai Food Heritage) ภายในบริเวณสำนักงานสถาบันอาหาร อรุณอัมรินทร์ 36 โดยร่วมออกแบบแนวคิดและรูปแบบการจัดนิทรรศการร้อยเรียงข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาด้านอาหารของไทยและข้อมูลเชิงธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารรอบด้าน นำเสนออย่างเป็นสากลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟ มุ่งเผยแพรความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ด้วยงบลงทุนเฟสแรก 60 ล้านบาท คาดผู้เข้าชมปีละ 65,000 คน พร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกเดือนมิถุนายน 2558
นายเกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้นำตลาดอีเว้นท์ในภูมิภาคอาเซียน และบริษัทอีเว้นท์อันดับ 7 ของโลก กล่าวว่า เนื่องด้วยในปีนี้ อินเด็กซ์ฯ ครบรอบ 25 ปี นอกเหนือจากการขยายธุรกิจไปในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในและต่างประเทศแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่ถือได้ว่ากำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดของอินเด็กซ์ฯ ก็คือธุรกิจการออกแบบและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการระยะยาว
โดยครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ทำงานให้กับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเปิด “ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย (Thai Food Heritage)” ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้เฉพาะทางด้านอาหารแห่งแรกของประเทศไทย ที่จะเป็นแหล่งเผยแพร่และสนับสนุนองค์ความรู้ด้านอาหารไทย และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจ และความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาที่ก่อให้เกิดรสชาติ และความวิจิตรบรรจงของอาหารไทย สู่แรงบันดาลใจในการรักษาคุณค่าของอาหารไทยให้ดำรงอยู่ สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดมูลค่าอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่เวทีโลกอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ด้านอาหาร อันเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของไทยให้ทั้งชาวไทย และต่างชาติได้รับรู้ ตลอดจนยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการอาหารไทยโดยสร้างคุณค่า (Value Creation) ในเวทีโลก อันจะนำไปสู่การพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้อย่างยั่งยืน
โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งในเชิงธุรกิจ ได้แก่ นักธุรกิจต่างชาติ นักธุรกิจในประเทศ นักลงทุนต่างชาติ กลุ่มเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการและบุคคลที่สนใจธุรกิจอาหาร ตลอดจนกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมราวปีละ 65,000 คน
“จากผลงานที่ผ่านมาของอินเด็กซ์ฯ ในด้านการออกแบบและการใช้สื่อพิเศษในงานจัดแสดงพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการระยะยาว เช่น ศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทนบางจาก (Sunny Bangchak) พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าความโดดเด่นของการนำเสนออยู่ที่การผสมผสานระหว่างการนำเสนอเนื้อหา องค์ความรู้ต่างๆ แบบดั้งเดิม หรือตามข้อเท็จจริง แต่อธิบายความให้เข้าใจง่ายขึ้น เข้ากับเทคโนโลยี ในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟอย่างลงตัว เพื่อให้สามารถดึงดูดความสนใจได้มากกว่าการนำเสนอในรูปแบบภาพนิ่ง และตัวอักษรเท่านั้น”
สำหรับแนวคิดในการออกแบบนิทรรศการภายในศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย จะสะท้อนแนวคิดหลักของ “ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย” คือ ภูมิปัญญาอาหารไทย เป็นมรดกแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยมีการออกแบบพื้นที่บริการต่างๆ มุ่งเน้นให้เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นแรงบันดาลใจ ผสมผสานการเลือกใช้สื่อมัลติมีเดียในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม
โดยจัดแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 Inspiration สุวรรณภูมิดินแดนอุดมสมบูรณ์ (The Golden Land) นำเสนอความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย และการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ด้วยเทคนิค VDO Mapping เป็นต้น โซนที่ 2 Identity ครบเครื่องครัวไทย (Delight to THAI taste) สัมผัสนวัตกรรมและภูมิปัญญาของไทยในการเลือกใช้และประยุกต์วัตถุดิบนำมาปรุงอาหารตามแบบวิถีไทยซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นำเสนอพระอัจฉริยภาพในด้านการทำอาหารของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟ (Interactive) ผู้ชมสามารถเลือกชมเมนูอาหารจากครัวสระปทุมได้ด้วยตนเอง เป็นต้น โซนที่ 3 Innovation นวัตกรรมอาหารไทยสู่ครัวโลก (Food of the World) นำเสนอข้อมูลการส่งออกอาหารไทยไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลกในรูปแบบ Sound Dome เป็นต้น โดยใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท
ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย (Thai Food Heritage) พร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกในเดือนมิถุนายน 2558 ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของค่าเข้าชม และกำหนดวันเวลาเข้าชม