xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 60 ล้านเปิดกระหึ่ม “Thai Food Heritage” ศูนย์กลางครบเครื่องเรื่องอาหารไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเพ็ชร ชินบุตร  ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร (ขวา)  นายวิศิษฐ์ ลิ้มประนะ  ประธานกรรมการ และที่ปรึกษาสถาบันอาหาร  (กลาง) และนายเกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)  ร่วมกับแถลงข่าวงาน  เปิดตัว “ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย” (Thai Food Heritage)
สถาบันอาหารทุ่ม 60 ล้านบาทเปิดตัว “ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย” (Thai Food Heritage) แห่งแรกของประเทศ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางเรียนรู้เกี่ยวกับครัวไทยครบวงจร หวังต่อยอดสร้างชื่ออุตสาหกรรมอาหารไทยกระหึ่มโลก ดันยอดส่งออกทะลุ 1.08 ล้านล้านบาท แจงพร้อมเปิดตัวเป็นทางการมิถุนายนนี้

ดร.เพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหารไทย กล่าวในการเปิดตัว “ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย” (Thai Food Heritage) ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณสำนักงานสถาบันอาหาร ณ อรุณอมรินทร์ 36 เชิงสะพานพระราม 8 ว่า ศูนย์ฯ ดังกล่าวจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการอาหารไทย รวมถึงชาวต่างชาติได้เรียนรู้และเข้าใจอาหารไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากปัจจุบันอาหารไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้สำคัญให้แก่ประเทศไทย มูลค่าส่งออกเมื่อปี พ.ศ. 2557 กว่า 1 ล้านล้านบาท และจากการสำรวจประชากร 1 ใน 3 ของโลกระบุว่ารู้จักอาหารไทย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในประเทศไทยกลับยังไม่เคยมีศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารไทยอย่างจริงจังเลย ดังนั้น การจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย” จะช่วยเสริมศักยภาพของอาหารไทยให้เติบโตมากขึ้นไปอีก

ผอ.สถาบันอาหารไทยเล่าต่อว่า แนวคิดการตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยได้นำพื้นที่ของอาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มาปรับปรุง ภายใต้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 60 ล้านบาท ซึ่งได้ให้บริษัทเอกชนอย่าง “บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับสากล ทำหน้าที่ออกแบบ และสร้างสรรค์ ขณะนี้ในเฟสแรกเสร็จแล้วกว่า 80% และพร้อมจะเปิดบริการได้จริงในเฟสแรกเดือนมิถุนายน 2558 นี้ และในปี 2559-2560 จะดำเนินการพัฒนาให้สมบูรณ์เต็มพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตรต่อไป

ทั้งนี้ แนวทางที่จะให้ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทยสามารถมีรายได้มาใช้บริหารจัดการภายในเพื่อจะขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองนั้น เบื้องต้นจะหาผู้สนับสนุนจากผู้ประกอบการธุรกิจอาหารไทยทั้งระดับใหญ่และเล็ก เบื้องต้นมีเอกชน 3 รายที่เข้ามาช่วยเหลือแล้ว ได้แก่ สุรพลฟู้ดส์, มาลี และง่วนสูน หรือตรามือ และจะพยายามเชิญชวนเอกชนรายอื่นๆ เข้ามาร่วม ตั้งเป้าว่า 60 ราย ส่วนงบที่จะขอการสนับสนุนเท่าใดนั้นจะให้ภาคเอกชนตกลงกันเอง

“ในความเป็นจริง ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทยเราจัดตั้งขึ้นโดยไม่ได้หวังเรื่องผลกำไรใดๆ เลย แต่ต้องการให้เป็นศูนย์รวมที่ผู้ประกอบการอาหารทั้งขนาดใหญ่และเล็กจะเข้ามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งต่อไปจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจอาหารครบวงจร เช่น เปิดตัวสินค้าอาหาร จัดเลี้ยง เป็นต้น โดยรายใหญ่ๆ จะสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งคงไม่ได้มากเท่าใด เพียงแต่เราต้องการให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองเพื่อเกิดความยั่งยืนมากกว่า” ผอ.สถาบันอาหารกล่าว

ทั้งนี้ ในศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย ประกอบด้วย 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่ 1 Inspiration สุวรรณภูมิดินแดนอุดมสมบูรณ์ (The Golden Land) นำเสนอความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยในการเป็นแหล่งอาหารของโลก และส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยนำเสนอด้วยเทคนิค VDO Mapping เป็นต้น

โซนที่ 2 Identity ครบเครื่องครัวไทย (Delight to THAI Taste) สัมผัสนวัตกรรมและภูมิปัญญาของไทยในการเลือกใช้และประยุกต์วัตถุดิบนำมาปรุงอาหารตามแบบวิถีไทยซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ในรูปแบบ Interactive ผู้ชมสามารถเลือกชมเมนูอาหารจากครัวสระปทุมได้ด้วยตนเอง เป็นต้น และโซนที่ 3 Innovation นวัตกรรมอาหารไทยสู่ครัวโลก (The Food of the World) นำเสนอข้อมูลการส่งออกอาหารไทยไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลกในรูปแบบ Sound Dome เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามาชมศูนย์แห่งนี้นั้นเปิดกว้างทั้งผู้ประกอบการธุรกิจอาหารไทย โดยเฉพาะระดับเอสเอ็มอี นักธุรกิจต่างชาติ นักลงทุนต่างชาติ ฯลฯ กลุ่มเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการและบุคคลที่สนใจธุรกิจอาหาร ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายด้านการท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ส่วนการคิดค่าตั๋วเข้าชมนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดตายตัว อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสม แต่ที่ตกลงกับคณะทำงานเบื้องต้น คือจะให้ต่ำที่สุด คาดคนละ 50-100 บาท

ดร.เพ็ชรกล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารระดับเอสเอ็มอีสามารถมาใช้ประโยชน์จากศูนย์ฯ ได้อย่างมาก ตั้งแต่การเรียนรู้นวัตกรรมการแปรรูปอาหารต่างๆ รวมถึงยังมีบริการครบวงจร เช่น การวิจัยและพัฒนาอาหาร การแนะนำเทคโนโลยีแปรรูปอาหารจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเป็นพื้นที่ให้เอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมมาจัดแสดงผลงาน รวมถึงเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือผู้ลงทุนต่างชาติ เป็นต้น

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มประนะ ในฐานะประธานกรรมการ และที่ปรึกษาสถาบันอาหาร ระบุว่า ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทยมีภารกิจสำคัญ คือ เป็นพื้นที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารไทยและการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย เป็นแหล่งบริการความรู้ที่สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยรูปแบบใหม่ ทันสมัย และเป็นพื้นที่ส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Engaging Stakeholder) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอาหารไทย

สำหรับการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทย เมื่อปีที่ผ่านมา (2557) กว่า 1 ล้านล้านบาท และปีนี้ (2558) ตั้งเป้าให้ถึง 1.08 ล้านล้านบาท ซึ่งจากการเปิดศูนย์ฯ แห่งนี้จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการส่งออกอาหารไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเรียนรู้ในการเพิ่มมูลค่าแปรรูปสินค้าอาหารไทยโดยใช้นวัตกรรม รวมถึงต่างชาติจะเข้าใจและรู้จักอาหารไทยมากยิ่งขึ้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


“ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย” (Thai Food Heritage) ตั้งอยู่ภายในบริเวณสำนักงานสถาบันอาหาร ณ อรุณอมรินทร์ 36 เชิงสะพานพระราม 8
ภายในศูนย์ฯ






กำลังโหลดความคิดเห็น