xs
xsm
sm
md
lg

จัดใหญ่งาน “นวัตกรรมอาหารไทย” ปลุก SMEs รับเทรนด์อนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร (ขวา)  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร  ร่วมเปิดงาน NFI OPEN HOUSE ฉลองสู่ปีที่ 20  ณ ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร อรุณอมรินทร์ 36
สถาบันการอาหาร จัดใหญ่ งาน “NFI OPEN HOUSE” ชูอุตสาหกรรมก้าวล้ำด้วยนวัตกรรมอาหารไทย” ฉลองสู่ปีที่ 20 ระหว่าง 30 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2558 ณ อาคารสถาบันอาหาร ย่านอรุณอมรินทร์ ด้าน “ปลัดอุตสาหกรรม” ปลุกผู้ประกอบการไทยสร้างนวัตกรรมตอบตลาดให้โดนใจ พร้อมเผย 13 แนวโน้มนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐากถาพิเศษเรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการพัฒนานวัตกรรม” ในพิธีเปิดงาน NFI OPEN HOUSE “Fine Cut Show Case อุตสาหกรรมก้าวล้ำด้วยนวัตกรรมอาหารไทย” ว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหาร อันดับที่ 14 ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนร้อยละ 2.29 ของมูลค่าส่งออกอาหารโลก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเน้นการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass Product) โดยมีเทคโนโลยีการผลิตที่เหมือนๆ กัน จนทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันและบางครั้งเกิดการขายตัดราคากันเอง

จากการจัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก (Global Competitive Index : GCI) ซึ่งทำการสำรวจโดย World Economic Forum ประจำปี ค.ศ. 2014-2015 พบว่า หากพิจารณาในด้านนวัตกรรมเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลก 148 ประเทศ พบว่าในปี 2557 ไทยมีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมอันดับที่ 67 ของโลก (อันดับ 1-5 ได้แก่ ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา) ตกจากอันดับที่ 66 ในปี 2556 และที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถของปัจจัยทุกด้านในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย จะพบว่าด้านนวัตกรรมยังเป็นจุดอ่อนของไทย การนำนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและมีโอกาสเข้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น

ดังนั้น ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมโดยสถาบันอาหารเน้นส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอาหาร ทั้งพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบสนองความต้องการของตลาดโลก ซึ่งตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้ารับการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวม 330 ผลิตภัณฑ์

โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการที่ผ่านมาร้อยละ 70 ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ส่วนอีกร้อยละ 30 ยังคงต้องมีการวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ในรายที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในสายการผลิต จะพบว่าสามารถจำหน่ายออกสู่ตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และตลาดประเทศเพื่อนบ้าน CLMV เป็นต้น

นอกจากนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันอาหาร ได้ดำเนินการในลักษณะการจัด Business Matching ให้กับผู้ประกอบการโดยพาไปพบกับผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้าในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป เป็นต้น โดยพบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายที่สามารถเปิดตลาดกับนักธุรกิจที่ต่างประเทศและมีการสั่งซื้อต่อเนื่อง

นายอาทิตย์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่ากระแสการปรับเปลี่ยนการบริโภคและรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่จะมาแรงในอนาคตมีด้วยกัน 13 แนวโน้มที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อปรับตัวให้ทันต่อความต้องการของตลาดโลก ได้แก่ 1) การหันมามุ่งเน้นเรื่องสุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ให้คุณค่าเฉพาะ (Functional Food Products) 2) การหันมามุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร 3) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรและวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ และวิถีชีวิตในเมืองที่เร่งรีบ ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูป (Instant Foods) อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-cook) และอาหารพร้อมทาน (Ready-to-eat) ซึ่งหาซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อต่างๆ กันมากขึ้น

4) การตระหนักและการรับรู้ของผู้บริโภค ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผู้ผลิตควรมีการนำเสนอข้อมูลความเป็นมาของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการบริโภคว่ามีที่มาอย่างไรบ้าง 5) สารอาหารหรือคุณประโยชน์ที่ได้จากธรรมชาติ 6) ผลิตภัณฑ์ที่เน้นการชะลอความแก่และบำรุงสุขภาพ 7) อาหารที่มีโปรตีนครบถ้วน 8) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ 9) การลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ 10) สินค้าในหมวดหมู่เพื่อสุขภาพ จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มใช้คำว่า Additive/Preservative free แทนคำว่า Natural กันมากขึ้น

11) ประสบการณ์ความอร่อยแบบใหม่ๆ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้อาหารและขนมที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุกเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สินค้าเหล่านี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดี เนื่องจากมีลูกเล่นทางเนื้อสัมผัส กลิ่นรส และรสชาติของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากเดิม 12) ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก และ13) ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารกและผู้สูงวัย ผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นผลิตเพื่อเด็กทารก และผู้สูงอายุมีมากขึ้น

นายอาทิตย์กล่าวในช่วงท้ายว่า นวัตกรรมมิใช่เพียงแค่ความคิดสร้างสรรค์ หรือความคิดใหม่ๆ แต่ต้องเป็นความคิดใหม่ที่สามารถขายได้จริง หรือการทำให้ความคิดใหม่ๆ มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในโลกการค้ายุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันอาหาร พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ก้าวเข้าสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม และหวังว่าการจัดงานในวันนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการทุกท่านในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยด้วยนวัตกรรมออกสู่เวทีโลกได้ในอนาคตอย่างมั่นใจ

ด้านนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า งาน NFI OPEN HOUSE จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Fine Cut Show Case อุตสาหกรรมก้าวล้ำด้วยนวัตกรรมอาหารไทย” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2558 เป็นการจัดกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกอาคารโดยรอบสถาบันอาหาร และอาคารศูนย์การเรียนรู้อาหารไทยหรือ Thai Food Heritage ย่านอรุณอมรินทร์ 36 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทบาท ภารกิจของสถาบันอาหาร ทั้งการบริการปกติ และการดำเนินโครงการที่สำคัญภายใต้นโยบายครัวไทยสู่โลกในวงกว้าง ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในงานบริการด้านต่างๆ ให้กับลูกค้าสถาบันอาหาร ทั้งยังเป็นโอกาสดีในการขยายการรับรู้สู่กลุ่มลูกค้าใหม่ นอกจากนี้ก็เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าฮาลาลที่นับวันจะมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการส่งออกอาหารของไทยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ งานครั้งนี้ยังเป็นการฉลองการก่อตั้งสถาบันอาหารและก้าวสู่ปีที่ 20 ภายในงานเป็นการรวมหลายกิจกรรมเข้าด้วยกัน สำหรับไฮไลท์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คือ การจัดแสดงผลงานและนิทรรศการผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการ จำนวน 105 ผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวเกรียบหนอนไหม, ห่อหมกปลาแมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง, ทอดมันทะเลชุบแป้งสอดไส้น้ำจิ้มลาวาแช่แข็ง, หมี่กรอบส้มซ่าปลาทูแม่กลอง, มังคุดผง, ชามังคุด, แยมมังคุด, คัสตาร์ดทุเรียน, ปลาร้าบองทรงเครื่องแบบผง, เยลลี่ผักพร้อมทาน,ข้าวกล้องงอกผสมกล้วยน้ำว้าสุกพร้อมชง และซุปต้มยำแก่นตะวัน เป็นต้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสนับสนุนภายใต้โครงการพิเศษของสถาบันอาหารประจำปี 2558 ได้แก่ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารไทย และโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าชมงานยังสามารถพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็นกับนักวิชาการเฉพาะด้านที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละฝ่ายงานภายในสถาบันอาหารในรูปแบบคลินิกให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งยังมีการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมของฝ่ายต่างๆ ขณะเดียวกันได้ยังนำองค์ความรู้ของแต่ละหน่วยงานมาจัดเป็นหัวข้ออบรม เสวนา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย (Thai Food Heritage) ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้สมัยใหม่เฉพาะทางด้านอาหารแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย คาดว่าจะมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเชื่อมโยง นักศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงานรวม 2 วันไม่น้อยกว่า 700 คน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ 360 องศา” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น