Q : หนูถูกบริษัทที่ทำงานมา 8 เดือน เลิกจ้างแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย โดยบอกล่วงหน้า 1 เดือนและ ให้ค่าชดเชยอีก 1 เดือน ตามที่กฎหมายกำหนด ที่แปลกใจคือ สาเหตุในการเลิกจ้างไม่ชัดเจน ประมาณว่า ผลงานไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้รู้สึกว่า การประเมินแบบนี้ ไม่เป็นธรรมอย่างมาก เพราะตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่ หัวหน้าก็บอกว่า หนูมีความตั้งใจและ มีความรับผิดชอบดีมาก
เมื่อออกจากงานมาแล้ว จึงเข้าไปร้องที่ศาลแรงงาน เรียกค่าเสียหาย จากการถูกเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม ศาลเรียกไปไกล่เกลี่ย จึงได้รู้ว่า มีบางคนในบริษัทไม่พอใจพฤติกรรมการทำงานของหนู ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่า ไปทำอะไรให้เขารู้สึกอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง หนูมีความสัมพันธ์ที่ดี กับคนรอบข้างทุกคนและ ไม่เคยทำอะไรให้บริษัทเสียหาย
ศาลขอให้หนูลดหย่อนจำนวนเงิน ที่เรียกร้องตามที่เห็นสมควร ซึ่งก็ยินยอมแล้ว แต่ปรากฏว่า ทางบริษัทไม่ยอมจ่าย อ้างแต่ว่า ได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ศาลจึงออกหมายเรียก กรรมการผู้จัดการของบริษัท มาเจรจาที่ศาลในนัดครั้งถัดไป นี่จะเป็นครั้งแรกที่หนูต้องเผชิญหน้า กับอดีตนายใหญ่โดยตรง อาจารย์มีข้อแนะนำอะไรบ้างค่ะ
A : ขอบคุณมาก ที่ติดตามอ่านคอลัมน์เป็นประจำและ ขอบคุณที่ไว้ใจ เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง
ขอให้ความเห็นดังนี้
1. สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ผมไม่สามารถให้ความเห็นได้ เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง แต่ขอแนะนำหน่วยงาน ที่สามารถให้ความช่วยเหลือและ คำปรึกษาได้ดังนี้
ก. สภาทนายความ (www.lawyerscouncil.co.th)
ข. สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
(http://www.lawaid.ago.go.th)
ค. ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย (http://legalaid.bu.ac.th)
ง. สภาองค์กรลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (http://www.ctl.or.th)
จ. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (http://www.labour.go.th)
ลองติดต่อเข้าไป เล่าเรื่องราวให้ฟังและ ขอคำแนะนำ ผมคิดว่าน่าจะได้ความเห็นดีๆ จากผู้มีความรู้จริงและ ที่สำคัญเป็นบริการที่ ให้กับประชาชนโดยไม่ต้องเสียตังค์
2. ในระหว่างเผชิญหน้า กับเจ้านายเก่า อยากให้ตั้งสติให้ดี อย่าแสดงอารมณ์ หรือท่าทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะด้วยคำพูด สายตา หรือท่าทาง ทำตัวเป็นผู้น้อยแสดงความเคารพตามสมควร หากต้องการเอาชนะในเกมส์ใหญ่ (ได้เงินตามที่เรียกร้อง) ต้องยอมอ่อนข้อบ้างในเกมส์เล็ก (ท่าทีของเรา) ต้องทำให้ศาลเห็นว่า เราไม่ได้ “กร่าง” เกินเหตุและ ไม่ได้ฟ้องร้องเพราะอารมณ์ ต้องการเอาชนะ แต่เพราะเดือดร้อนจริงๆ ปกติศาลค่อนข้างให้น้ำหนัก กับพนักงานมากกว่านายจ้างอยู่แล้ว เพราะเห็นว่าพนักงานเดือดร้อน มากกว่านายจ้าง
3. เวลาให้การ หากมีหลักฐานประกอบจะดีมาก เช่น ในระหว่าง 8 เดือนที่ผ่านมา มีผลงานอะไรที่ชัดเจนเป็นที่ประจักษ์บ้าง เพื่อเพิ่มน้ำหนักคำพูดให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
4. อยากให้มองสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียนกับชีวิต เพื่อจะได้ไม่พลาดซ้ำอีก โดยตั้งคำถามกับตัวเองสัก 3-4 ข้อ ดังนี้
ก. หากมองด้วยใจเป็นกลาง ตัวเองมีส่วนในการก่อให้เกิด ปัญหานี้อย่างไรบ้าง
ข. หากต้องมองหาข้อบกพร่องสัก 1 ข้อ ตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ทำงานมา ข้อบกพร่องนั้น
คืออะไรและ มีแนวทางในการแก้ไข ข้อบกพร่องนั้นอย่างไรให้ไม่เกิดซ้ำอีก
ค. หากได้เงินก้อนเล็กๆ มาสักก้อน เนื่องจากศาลเมตตา ให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชย เพิ่มเติมให้
คุณวางแผนจะนำเงินก้อนนี้ ไปใช้ในการพัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง
ง. หากได้งานที่ใหม่ คุณจะระมัดระวังพฤติกรรมอะไร ให้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสในการเกิด
ปัญหากระทบกระทั่งแบบนี้อีก
แนะนำได้เท่านี้ ขอให้โชคดี
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com