xs
xsm
sm
md
lg

5 วิธีที่ทำให้คุณตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้น (5 Ways to Become More Self-Aware)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บทความโดย Anthony Tjan
แปลโดย สุนทรี ปานนิลวงศ์

คุณไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้โดยปราศจากความตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness)

เป็นที่รู้กันอยู่ว่าผู้นำต้องมีคุณสมบัติในการเห็นเป้าหมายและวิสัยทัศน์ มีความน่าเชื่อถือ ดูจริงใจเปิดเผย และ ไว้ใจได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงความสำเร็จหรือความผิดพลาดของเราที่เกิดขึ้น การที่เราจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าเราเป็นใคร เราต้องมีความตระหนักรู้ในตนเองเพื่อให้เข้าใจดีว่าเราต้องการอะไรจากคนอื่น และจะเติมเต็มข้อบกพร่องในการเป็นผู้นำของเราได้อย่างไร

คำถามก็คือเราจะฝึกฝนและพัฒนาความตระหนักรู้ในตนเองได้อย่างไร มันมีหลายวิธีที่จะทำได้ ลองดู 5 วิธีที่จะทำให้คุณเป็นคนตระหนักรู้ในตนเองได้ดีขึ้น ดังต่อไปนี้

1. การทำสมาธิ (Meditate)

ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่รู้กันดีอยู่แล้วว่าการทำสมาธิเป็นการปฎิบัติเพื่อสร้างความตระหนักรู้ตนเองในทุกขณะเวลา โดยมากการทำสมาธิมักจะเริ่มต้นด้วยการเพ่งความสนใจไปยังลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นแบบกิจลักษณะหรือทำตามพิธีทางศาสนาแต่อย่างใด หากพูดกันตามตรงแล้ว เราสามารถที่จะสร้างความตระหนักรู้ในตนเองโดยการใช้เวลาเพียง 2-3 วินาทีก่อนนอนเพ่งความสนใจไปที่ลมหายใจ และบางครั้งอาจมีการใช้ตัวช่วยบ้าง ซึ่งระหว่างการทำสมาธิ ก็อาจใช้คำถามเหล่านี้กับตัวเองไปด้วย เช่น
• ฉันกำลังพยายามทำอะไรให้สำเร็จ What am I trying to achieve?
• ฉันกำลังทำอะไรที่มันได้ผล What am I doing that is working?
• ฉันกำลังทำอะไรที่ทำให้ฉันช้าลง What am I doing that is slowing me down?
• ฉันสามารถทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง What can I do to change?

อย่างไรก็ดี การฝึกสมาธิส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติได้ จริงๆ แล้วมักมาจากการทำงานตามปกติที่ดึงเราไปสู่ความสงบเงียบซะมากกว่า เช่น การล้างจาน การทำสวน หรือแม้แต่การใช้เวลาช่วงเช้าวันเสาร์เขียนหนังสือที่พิพิธภัณฑ์

2. เขียนแผนงานที่ต้องทำและลำดับความสำคัญก่อนหลัง (Write down your key plans and priorities)

อีกหนึ่งวิธีที่ดีมากซึ่งจะทำให้เราตระหนักรู้ในตนเองได้ดีขึ้นก็คือ การเขียนสิ่งที่ต้องการทำและติดตามความก้าวหน้าของมัน วอร์เรน บัฟเฟต์ (Warren Buffet) เป็นบุคคลที่เราทราบกันดีว่าเขามักเขียนเหตุผลที่เชื่อมโยงกับการลงทุนของเขาทุกๆ ครั้ง จะเห็นได้ว่าบันทึกประจำวันของเขาเต็มไปด้วยข้อมูลย้อนหลังที่จะช่วยให้เขาประเมินได้ว่าผลตอบแทนในอนาคตมาจากการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือเป็นเพียงแค่โชคช่วยเท่านั้น

ลิลู (Li Lu) หนึ่งในแกนนำนักศึกษาชุมนุมประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมิน และเป็นนักลงทุนที่มีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน ได้บอกเกี่ยวกับสิ่งที่เขาปฏิบัติเป็นประจำในช่วงหลายปีว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากเบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) ผู้ซึ่งจัดทำงบดุลแห่งคุณสมบัติประจำตัวที่ประกอบไปด้วยจุดแข็ง (หรือสินทรัพย์) และจุดอ่อน (หรือหนี้สิน) ของตนเอง (Balance sheet of both the assets and liabilities of his personal traits) เขาบอกว่าการจดบันทึกจุดแข็งใหม่ๆ ของตนเองที่เพิ่มพูนจากการเรียนรู้ รวมถึงจุดอ่อนที่รับรู้ได้ ทำให้เขาสามารถประเมินได้ว่าคุณสมบัติประจำตัวของเขามีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่เมื่อเวลาผ่านไป

3. ทำการทดสอบทางจิตวิทยา(Take psychometric tests)
การทดสอบทางจิตวิทยาจะช่วยให้เราได้เห็นตัวเองและเกิดการตระหนักรู้อย่างมีระบบ เพราะเป็นการประยุกต์หลักการที่มีระบบระเบียบเพื่อจะวัดลักษณะของบุคคล ซึ่งผลจากการวัดนี้คาดว่าจะเป็นตัวบ่งชี้หรือทำนายพฤติกรรมของบุคคลได้

การทดสอบทางจิตวิทยาเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความเชื่อว่าคำถามและคำตอบของแบบทดสอบเป็นสิ่งที่มีความหมายสามารถบอกความแตกต่างระหว่างบุคคลได้

4. ถามเพื่อนที่ไว้ใจได้ (Ask trusted friends)

ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นอย่างไรในสายตาคนอื่น ดังนั้น เราควรเชื่อในข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ของ คนสนิท เพื่อน โค้ช หรือ พี่เลี้ยงของเรา หากคุณต้องการให้เพื่อนของคุณเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพได้อย่างชัดเจน คุณต้องให้เขารู้ว่าคุณกำลังต้องการมุมมองที่ตรงไปตรงมาและสอดคล้องกับเป้าหมาย คุณต้องทำให้เพื่อนของคุณรู้สึกสบายใจที่จะให้ความเห็นแบบกันเองแต่ตรงประเด็นและจริงใจ โดยคุณอาจจะพูดกับเพื่อนว่า “ฉันกำลังถามคุณในฐานะเพื่อน ช่วยตรงไปตรงมากับฉันได้หรือไม่”

อีกวิธีก็คือขอให้เพื่อนบอกคุณทุกครั้งเมื่อคุณกำลังทำพฤติกรรมใดที่คุณรู้ว่าคุณต้องการจะเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างที่คุณอาจบอกเพื่อน เช่น “ฉันรู้ว่าตัวเองเป็นพวกชอบต่อเติมเรื่องราว (story-topper) ในทุกบทสนทนา ดังนั้น กรุณาช่วยบอกฉันทุกครั้งที่ทำแบบนั้นเพื่อที่ฉันจะได้เรียนรู้ที่จะหยุดทำสิ่งดังกล่าว”

5. ได้รับข้อมูลป้อนกลับที่ทำงาน (Get regular feedback at work )

นอกเหนือไปจากการถามเพื่อนและคนในครอบครัวอย่างกันเองเป็นครั้งคราวแล้ว คุณควรจะใช้กระบวนการหรือกลไกที่ให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างเป็นทางการในที่ทำงานของคุณบ้าง ซึ่งหากไม่มีใครที่ทำให้คุณได้จริงๆ คุณควรมองหาคนวงนอกที่จะสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับแก่คุณได้เช่นกัน ข้อมูลป้อนกลับที่ทำในเชิงสร้างสรรค์จะช่วยให้คุณเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ หัวใจหลักในการให้ข้อมูลป้อนกลับ คือ
1) ต้องมีกระบวนการ
2) ต้องมีผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพ
โดยข้อหลังจำเป็นต้องมีผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัท หรือการนำเอาที่ปรึกษาภายนอกมาช่วยดำเนินการ การใช้ที่ปรึกษาภายนอกให้ผลลัพท์ที่มีประสิทธิผลกับทั้งบริษัทขนาดเล็กและใหญ่เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นทำงานโดยไม่มีข้อมูลที่เป็นอคติมาก่อน หรือไม่มีผู้บังคับบัญชาสายตรงให้รายงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อจัดทำกระบวนให้ข้อมูลป้อนกลับแล้วเสร็จ สิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือผู้เกี่ยวข้องทุกคนต้องบันทึกสิ่งที่ได้รับจากการทำกระบวนการนั้น ไม่ว่าจะเป็นจุดแข็ง จุดอ่อน หรือจุดบอดก็ตาม

บทสรุปก็คือ ทุกคนต้องการการตระหนักรู้ในตนเอง เพราะหากปราศจากมัน เราจะไม่สามารถเป็นผู้นำได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยการตระหนักรู้ในตนเองจะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุลและสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราพูด คิด หรือรู้สึกก็ตาม การสร้างความตระหนักรู้ในตนเองไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้ความพยายามไปตลอดชีวิต แต่ด้วยการฝึกฝน 5 วิธีที่กล่าวข้างต้น มันจะทำให้คุณฝึกฝนและปฏิบัติได้เร็วขึ้นและเพิ่มมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น