xs
xsm
sm
md
lg

อดีตประธานสภาการ นสพ.เรียกร้องปกป้องเสรีภาพสื่อ วอน “ประยุทธ์” หยุดสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเฟซบุ๊ก Chakkrish Permpool
อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ฝากถึง “ประยุทธ์” ต้องรับฟังเสียงวิจารณ์ ชี้เรียก “ฐปณีย์” รายงานตัว - ต่อว่าคอลัมนิสต์ผู้จัดการ-พาดพิงมติชน ล้วนแล้วแต่ทำให้ความน่าเชื่อถือของตัวผู้นำลดลง ระบุสื่อที่ทำหน้าที่อย่างสุจริตควรได้รับการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วอนอย่าสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น

วันนี้ (25 มี.ค.) นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Chakkrish Permpool” ว่า หมายเหตุ JK หยุดสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว

“ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีคุณอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาตินี้เพียงใด หรือได้เข้ามาสู่อำนาจด้วยวิธีใด แต่ภาพสะท้อนในกระจกเงาวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยที่อาสาเข้ามานำพาสังคมให้ก้าวพ้นวิกฤตการณ์แห่งความขัดแย้ง

นั่นคือผู้นำประเทศที่ต้องมีความเสียสละ อดทน หนักแน่นในการรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจากฝ่ายใด และไม่ว่าเสียงเหล่านั้นจะยังความพึงพอใจให้ตัวเองหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การใช้อำนาจเรียกให้ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุการเสนอข่าวแรงงานไทยในประเทศอินโดนีเซีย หรือการกล่าวถ้อยคำดุดันต่อคอลัมนิสต์ผู้จัดการ การพาดพิงถึงมติชน ล้วนเป็นสิ่งที่ลดทอนความเชื่อถือศรัทธาในตัวผู้นำทั้งสิ้น

เราไม่อาจปฏิเสธว่า ปัญหาความรับผิดชอบของสื่อยังเป็นปรากฏการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นทั่วไป รัฐบาลมีอำนาจเต็มตามกฏอัยการศึก ในการห้ามจำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ รับหรือส่งซึ่งวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ อีกทั้งยังมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 เป็นเครื่องมือในการจัดการสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งก็ต้องกระทำอย่างระมัดระวังด้วยเหตุแห่งการประกาศกฎอัยการศึก คือมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่งนั้น ได้ผ่านพ้นมาจนเกือบจะครบรอบหนึ่งปีแล้ว

สิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำคือขอความร่วมมือ หรือใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่ดำเนินคดีกับสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบอย่างเด็ดขาด โดยกระบวนการพิจารณาของศาลพลเรือน

ฐาปณีย์ เอียดศรีไชย เป็นสื่อมวลชนคนหนึ่งที่รายงานข่าวตามหน้าที่อย่างสุจริต ตรงไปตรงมา การรายงานถึงโศกนาฏกรรมของเพื่อนร่วมชาติ กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นคนละเรื่องคนละกรณีกัน

ขณะเดียวกัน การเสนอบทความวิพากษ์วิจารณ์ของคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ก็เป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นความเห็นส่วนตัวซึ่งผู้เขียนจะต้องรับผิดชอบ หากเกิดกรณีละเมิด หมิ่นประมาทบุคคลอื่น หรือไปเกี่ยวข้องกับความผิดเรื่องอื่นๆ คนอ่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะมีความเห็นคล้อยตามกับผู้เขียนหรือไม่ ก็เป็นวิจารณญาณของคนอ่าน ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏซึ่งพวกเขาสามารถรับรู้จากแหล่งอื่นๆได้อยู่แล้ว ความเชื่อหรือจุดยืนของมติชนก็เช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นฐาปณีย์ เอียดศรีไชย, ผู้จัดการ, มติชน หรือสื่ออื่นใด ที่ทำหน้าที่ตามวิชาชีพอย่างสุจริต ตรงไปตรงมา สมควรจะได้รับการปกป้อง มิใช่การปกป้องบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

หากแต่เป็นการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี และจะต้องเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้เคารพบทบาทหน้าทื่ซึ่งกันและกัน ไม่ก้าวก่าย แทรกแซงหรือสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น”
กำลังโหลดความคิดเห็น