เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เศรษฐีหุ้นหน้าใหม่ผุดเป็นดอกเห็ดบนแดนมังกรในปีที่ผ่านมา ดันยอดรวมแซงหน้าญี่ปุ่นกลายเป็นเบอร์สองของโลก
รายงานความมั่งคั่งทั่วโลก (Global Wealth) ซึ่งเผยแพร่โดยบริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) ในวันจันทร์ (15 มิ.ย.) ระบุว่าประเทศจีนมีเศรษฐีรายใหม่ที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ราว 1 ล้านคนในปี 2557 โดยมีปัจจัยหลักจากการลงทุนในตราสารทุนท้องถิ่นซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 38
จีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐีประเภทดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ด้วยยอดรวมกว่า 4 ล้านคน ตามหลังสหรัฐอเมริกาที่มีเศรษฐีหุ้นอยู่กว่า 7 ล้านคน ส่วนอันดับสามอย่างญี่ปุ่นแม้จะมีเศรษฐีรายใหม่ราวหนึ่งล้านคนในปีก่อน แต่ก็เป็นจำนวนที่หดตัวลงจากปีก่อนหน้านั้นเพราะปัญหาเงินเยนอ่อนค่ารุนแรง
บีซีจีซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับชั้นนำจำแนกครัวเรือนเศรษฐี (millionaire household) ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth) มูลค่ามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันกอปรด้วยเงินสด ตราสารหุ้น และการลงทุนทางการเงินอื่นๆ แต่ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์ เงินเก็บสะสม การเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือสินค้าหรูหรา
ขณะที่ภาพรวมทั่วโลกมีจำนวนครัวเรือนเศรษฐีทั้งสิ้น 17 ล้านกลุ่มในปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับจำนวน 15 ล้านกลุ่มของปี 2556 โดยชี้ว่าเป็นผลมาจากสภาพตลาดสินทรัพย์ปัจจุบัน (existing assets) ที่มีความมั่นคงสูง ทั้งตลาดพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่
ความมั่งคั่งส่วนบุคคลทั่วโลกได้โตขึ้นราวร้อยละ 12 ไปอยู่ที่ 164 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา โดยประมาณร้อยละ 73 หรือ 13 ล้านล้านดอลลาร์ ของอัตราการเติบโตดังกล่าวก่อตัวจากกิจกรรมของตลาดสินทรัพย์ปัจจุบัน ส่วนที่เหลือนั้นถูกสร้างขึ้นมาใหม่
ด้านแนวโน้มของการเติบโตในเอเชียแปซิฟิกก็มีทีท่าดีกว่าในระดับโลก ด้วยอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ไปอยู่ที่ 47 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลของการขยับขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงของสองยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ทำให้เอเชียแปซิฟิกกลายเป็นภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดเป็นลำดับสองของโลก
ส่วนภูมิภาคอเมริกาเหนือที่มีมูลค่าความมั่งคั่งส่วนบุคคลกว่า 51 ล้านล้านดอลลาร์ ยังคงครองตำแหน่งแชมป์ไว้ได้ในปีก่อน ตรงข้ามกับภูมิภาคยุโรปที่ร่วงลงไปอยู่อันดับสาม ด้วยมูลค่า 40 ล้านล้านดอลลาร์
บีซีจีประเมินว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยประจำปีของความมั่งคั่งส่วนบุคคลในเอเชียแปซิฟิก อาจแตะหลักเกือบร้อยละ 10 ซึ่งจะทำให้แซงหน้าอเมริกาเหนือไปเป็นภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดของโลกภายในปีหน้า ด้วยมูลค่าคาดการณ์ 57 ล้านล้านดอลลาร์