คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
เนื่องจากผมได้รับเชิญจากคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ร่วมปรึกษาหารือในเวที “ร่วมคิดร่วมเคลื่อน การจัดการทรัพยากรบนฐานคิดแม่ธรณี (Mother Earth) ในรัฐธรรมนูญ : แรงบันดาลใจจากประเทศโบลิเวีย” ทำให้ผมต้องอ่านทั้งร่างรัฐธรรมนูญของไทยที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ และรัฐธรรมนูญของประเทศโบลิเวีย ซึ่งได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2552 ไปพร้อมๆ กัน ผมได้พบสิ่งที่น่าสนใจมากทีเดียว กรุณาติดตามอ่านนะครับ แล้วท่านจะได้ความรู้ที่มีค่า
ท่านที่ได้ติดตามเรื่องพลังงานปิโตรเลียมคงพอจะทราบเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศโบลิเวียมาบ้างแล้ว เพราะว่ามีข่าวโด่งดังเกี่ยวกับประธานาธิบดีที่มาจากชนพื้นเมือง แล้วนำบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ได้ถูกแปรรูปไปแล้วกลับมาเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังได้เปิดเจรจากับบริษัทต่างชาติผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมจนทำให้โบลิเวียได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น
โบลิเวีย เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในตอนกลางของทวีปอเมริกาใต้ ทางตะวันตกของประเทศบราซิล โบลิเวีย มีประชากรแค่ 10.6 ล้านคน แต่มีพื้นที่ถึง 682 ล้านไร่ (ไทย 321 ล้านไร่) นับเป็นประเทศยากจน มีจีดีพี (PPP) ต่อหัวเฉลี่ย $3,030 (ไทย $15,319 ใช่ครับเลข 5 หลัก และเป็น $)
ประเทศโบลิเวีย มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก(http://en.wikipedia.org/) จากความไม่เป็นธรรมเรื่องการจัดการก๊าซธรรมชาติ ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “Movement for Socialism” ในทศวรรษ 1980 จนผู้นำในการเคลื่อนไหวได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีชื่อ Evo Morales เมื่อปี 2005 จากนั้นพัฒนาไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2009 ซึ่งเป็นฉบับที่ 17 และผ่านการรับรองมาด้วยเสียง 61% ของผู้ออกเสียงลงประชามติ (ในปี 2014 Evo Morales ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สาม)
นอกจากความน่าสนใจในเนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญของโบลิเวียที่ได้นำแนวคิดเรื่อง “สิทธิของแม่ธรณี (Mother Earth Rights)” มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ในการจัดทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญดังกล่าว (มกราคม 2009) ยังได้พ่วงเอาคำถามที่ว่าควรจำกัดการถือครองที่ดินสูงสุดไม่เกิน 5,000 เฮกแตร์ (หรือ 31,250 ไร่) หรือไม่ผลของการประชามติพบว่า มีเสียงสนับสนุนถึง 81%
ถ้าประเทศไทยจะต้องทำประชามติกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็น่าจะพ่วงประเด็นการถือครองที่ดินของคนไทยด้วยก็จะดีไม่น้อยนะครับ เพราะมีมหาเศรษฐีบางคนถือครองที่ดินถึง 6.3 แสนไร่ ทั้งๆ ที่จำนวนประชากรของเรามากกว่าเขาถึง 6 เท่า ในขณะพื้นที่ประเทศก็มีแค่ครึ่งเดียวของเขาเท่านั้น
มาที่ร่างรัฐธรรมนูญของไทยฉบับนี้ครับ ผมมี 4 ประเด็นสำคัญที่อยากจะชวนคิดดังต่อไปนี้
หนึ่ง อยากให้มีมาตราที่แสดงถึง “ความเป็นคนไทยและหลักคุณค่าที่คนไทยยึดถือร่วมกัน” ในบททั่วไป
ในบททั่วไปมี 7 มาตรา ว่าด้วยหลักการสำคัญของประเทศไทยซึ่งผมเห็นด้วยทุกมาตรา โดยที่มาตราแรกคือ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ามาตรานี้มีความสำคัญ และจำเป็น เพราะเป็นความมั่นคงของประเทศ แต่ผมเห็นว่าค่อนข้างเป็นความมั่นคงทางกายภาพ หรือทางวัตถุเสียมากกว่า เราควรจะมีสักมาตราหนึ่งเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ที่คนไทยยึดมั่นเป็นหลักการร่วมกันเหมือนกับมาตราหนึ่งนี่แหละครับ แต่เป็นเรื่องของคุณค่า หรืออุดมการณ์ที่คนไทยยอมรับร่วมกัน แม้อุดมการณ์นั้นอาจจะยังไม่เป็นจริงในวันนี้ แต่ก็ต้องฉายภาพให้เห็นเอาไว้เพื่อให้เห็นเป้าหมายร่วมในอนาคต ทำให้สังคมได้รู้ว่าเรากำลังจะนำพาประชาชนก้าวไปสู่สังคมแบบไหน
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าอุดมการณ์ต่อผืนแผ่นดิน หรือราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราจะมีอุดมการณ์ในเชิงความเป็นอัตลักษณ์ของสังคมไทยบนอาณาจักรเดียวกัน ซึ่งผมมั่นใจว่า มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ามาตราหนึ่ง จริงอยู่ครับ อุดมการณ์ที่ผมอยากจะเห็นได้ปรากฏอยู่ในมาตราอื่นๆ ที่เหลือแล้ว (แต่ไม่ครบทั้งหมด) ไม่ว่าจะเป็นในหมวด ประชาชน ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง และหมวด แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ แต่มันได้ถูกกระจายหรือทำให้เบลอ ไม่เด่นชัด หรือไม่ชัดเจนพอ ไม่เกิดแรงบันดาลใจ และขาดพลังที่จะเป็นแรงผลักเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่อนาคตร่วมกัน นอกจากนั้น ยังมีไม่ครบทุกลักษณะที่สำคัญ
ในรัฐธรรมนูญของโบลิเวียมีอยู่มาตราหนึ่งที่ผมอยากจะได้ครับ (มาตรา 8 วรรค 2) ได้บัญญัติอุดมการณ์ร่วมของสังคมโบลิเวียว่าดังนี้
Article 8
The State is based on the values of unity, equality, inclusion, dignity, liberty,solidarity, reciprocity, respect, interdependence, harmony, transparency,equilibrium, equality of opportunity, social and gender equality in participation,common welfare, responsibility, social justice, distribution and redistribution ofthe social wealth and assets for well being.
ผมขอถอดความว่า “ประเทศนี้ยึดมั่นอยู่บนระบบคุณค่าของความเป็นเอกภาพ ความเสมอภาค การรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ความมีศักดิ์ศรี อิสรภาพ ความสามัคคี การพึ่งพาอาศัยกัน การเคารพ การขึ้นต่อกันการปรองดองกัน ความโปร่งใส ความสมดุล ความเท่าเทียมกันในโอกาส การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันระหว่างเพศและสังคม สวัสดิการร่วม ความรับผิดชอบ ความยุติธรรมในสังคม การกระจายและการแบ่งปันความมั่งคั่งของสังคม และทรัพย์สินเพื่อสุขภาวะที่ดี”
เท่าที่ผมได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ ผมยังไม่พบ 2 คำข้างต้นซึ่งสำคัญมากๆ คือ “ความเท่าเทียมกันในโอกาส” และ “ความยุติธรรมในสังคม”
ผมขอขยายความด้วยการยกตัวอย่างนะครับ ถ้าข้าราชการในกรมใดกรมหนึ่งมีความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ “ความเท่าเทียมกันในโอกาส” โดยไม่มี “ระบบอุปถัมภ์หรือลูกท่านหลานเธอ” เราน่าจะเชื่อได้ว่า กรมดังกล่าวจะมีข้าราชการมีกำลังใจที่จะรับใช้ประชาชน และหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อหวังจะได้รับตำแหน่งสูงสุด โดยไม่ต้องวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ประเด็นในการให้มีมาตราดังกล่าวก็เพื่อให้คนไทยเราได้ (1) เข้าใจวัตถุประสงค์สำคัญของรัฐธรรมนูญ และ (2) เห็นภาพสังคมไทยในอนาคตได้อย่างเป็นองค์รวมที่ปรากฏอยู่ในมาตราเดียว แทนที่จะไปแอบซ่อน และกระจายอยู่ในมาตราอื่นๆ
และขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าแม้ว่าไม่มีการแบ่งแยกประเทศไทย แต่สังคมไทยเต็มไปด้วยระบบเส้นสาย พวกใครพวกมัน และความอยุติธรรมในสังคมเต็มบ้านเต็มเมือง ผมจึงได้ให้ความสำคัญใน 2 เรื่องนี้เท่ากันครับ
สอง ประเด็นความไม่ชัดเจนความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ
ผมเห็นว่าในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา 92) น่าจะมีการจำแนกประเภทของทรัพยากรธรรมชาติให้ชัดเจน คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้ เช่น สินแร่ (ดีบุก ทองคำ โปแตส ฯลฯ) ปิโตรเลียม และถ่านหิน เป็นต้น รัฐจะต้องยึดแนวคิดว่าทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เป็นสมบัติของคนรุ่นหลังด้วย การนำมาใช้ให้หมดไปโดยที่คนรุ่นหลังไม่ได้ประโยชน์ต้องถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรม การอ้างว่าก็เอาไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคแล้ว ผมคิดว่ายังไม่เพียงพอครับ เพราะงบประมาณส่วนใหญ่หมดไปกับเงินเดือนคน
ดังนั้น รัฐควรจัดตั้งกองทุน อาจจะเป็นในรูป “กองทุนบำนาญแห่งชาติ” เพื่อให้คนในรุ่นอนาคตได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วย ไม่ใช่เหลือไว้แต่หลุมดีบุก และทองคำที่ปนเปื้อนมลพิษ สารเคมีอันตราย ประเทศนอร์เวย์ซึ่งมีปิโตรเลียมเป็นจำนวนมากได้ทำให้เราเห็นแล้วครับ
นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญของประเทศโบลิเวียมีหลายมาตรามากที่กล่าวถึง “เพื่ออนาคตของคนรุ่นถัดไป”
สาม ประเด็นพลังงานควรจำแนกเขียนให้ชัดเจน
ก่อนอื่นผมขอคัดลอกมาทั้งมาตราครับ
มาตรา 93 รัฐต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงาน กำกับดูแลให้มีการประกอบการและการใช้ประโยชน์จากพลังงาน และพลังงานทดแทนอย่างได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และคุ้มค่า โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกประเภทให้เต็มศักยภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และการใช้ประโยชน์จากพลังงานทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ รวมทั้งต้องสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน องค์กรบริหารท้องถิ่น และเอกชน มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและการผลิตพลังงานเพื่อใช้เองและเพื่อจำหน่ายด้วย
ในวงการพลังงานที่ผมติดตาม เขาจำแนกพลังงานออกเป็น 2 ประเภทเท่านั้นอย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือ คือ พลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งใช้แล้วหมดไป กับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คือ พลังงานที่ใช้แล้วไม่หมด สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ เช่น ลม แสงแดด ชีวมวล พลังน้ำ เป็นต้น
แต่คำว่า “พลังงานทดแทน” เป็นคำที่คลุมเครือ เช่น ถ้าก๊าซหมดก็เอานิวเคลียร์มาแทน เป็นต้น
ใน พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 2535 ก็ไม่ได้นิยาม “พลังงานทดแทน” แต่ได้นิยาม “พลังงานหมุนเวียน” ซึ่งก็เป็นความหมายเหมือนที่ผมได้กล่าวมาแล้ว
ผมเคยมีโอกาสได้อ่านร่าง พ.ร.บ.พลังงานทดแทน ผมจำได้ว่ามีความสับสนมากครับ ที่เป็นเช่นนี้ผมเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ได้กล่าวถึง “พลังงานทดแทน” ที่คนในวงราชการใช้กันจนติดปากจนกระทั่งเกิด “กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน” (Department of Alternative Energy Development and Efficiency-กรมเกิดก่อนปี 2550)
ตามหลักวิชาคณิตศาสตร์ เมื่อเราจะนิยามอะไรลงไปโดยจำแนกเป็น เซต (Set) 2 เซตอย่างชัดเจนแล้ว เมื่อนำเซตทั้งสองมาอินเตอร์เซกชันกันแล้ว มันควรจะได้ เซตว่าง คือ ไม่มีอะไรร่วมกันเลย
ดังนั้น ผมจึงขอเสนอให้ตัดคำว่า “พลังงานทดแทน” ออกไปครับ รวมทั้งชื่อกรมด้วยครับ ควรจะเป็น “กรมอนุรักษ์พลังงาน” หรือ “กรมพัฒนาการอนุรักษ์พลังงาน” กลับมาที่มาตรา 93 ครั้นเมื่อเราจำแนกประเภทของพลังงานออกมาอย่างชัดแจ้ง (Explicit) แล้ว จะช่วยให้ผู้ปฎิบัติได้ชัดเจนและง่ายขึ้น
รัฐธรรมนูญของโบลิเวีย (มาตรา 379 วรรค 2) บัญญัติว่า “รัฐต้องประกันการผลิตพลังงานสำหรับการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกพลังงานส่วนที่เหลือต้องคาดการณ์ล่วงหน้าถึงการสำรองที่จำเป็นสำหรับประเทศ” (The State Shall Guarantee the Generation of Energy for Internal Consumption; the Export of Excess Energy Must Anticipate the Reserves Necessary for the Country.)
นี่ไงครับ เมื่อเราทราบว่าพลังงาน หรือทรัพยากรธรรมชาติประเภทใดหมดแล้วหมดเลย เกิดใหม่ไม่ได้ รัฐธรรมนูญจึงได้เตือนให้คำนึงถึงการสำรองไว้ใช้ภายในประเทศ ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็คือ “สงครามแย่งแอลพีจี” เมื่อก๊าซแอลพีจีที่ผลิตภายในประเทศไม่พอใช้ เพราะทางบริษัท ปตท.นำไปทำเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีถึงเกือบ 40% ของแอลพีจีทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อการส่งออกของบริษัท ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าในราคาแพงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคธรรมดาๆ ภายในประเทศ เมื่อผู้บริโภคโวยต่อกระทรวงพลังงาน ทาง ปตท.ก็อ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ เช่น “การเผาแอลพีจีมาเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ลดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เหมือนเอาไม้สักมาทำไม้ฟืน” “การเอาแอลพีจีมาทอดไก่ มีมูลค่าน้อยกว่าการเอาไปทำเม็ดพลาสติก ทำอุปกรณ์รถยนต์”
หรือบางครั้งก็บอกว่า “แอลพีจีไม่ใช่สารพลังงาน แต่เป็นวัตถุดิบ” ว่าไปโน่น
แต่ถ้าเราเขียนจำแนกทั้งทรัพยากรธรรมชาติ (ตามข้อสอง) และพลังงาน (ตามข้อสาม) ก็น่าจะทำให้กลุ่มทุนที่เห็นแก่ตัวมีข้ออ้างได้น้อยลง และภาคประชาชนสามารถนำไปเคลื่อนไหวยกระดับเพื่อ “ความยุติธรรมในสังคม” (ตามมาตราใหม่ที่ผมขอเพิ่ม) ได้ง่ายขึ้น
สำหรับประโยคสุดท้ายของมาตรา 93 ที่ว่าให้ ประชาชน ชุมชน ฯลฯ “มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและการผลิตพลังงานเพื่อใช้เองและเพื่อจำหน่ายด้วย” ผมอยากให้เขียนให้ชัดเจนว่า “คือไฟฟ้า” ไม่ใช่พลังงานเฉยๆ ซึ่งประชาชนแทบจะไม่สามารถผลิตได้เองเลย
การเขียนแบบนี้ผมถือว่า คลุมเครือครับ รวมไปถึงคำว่า “มีส่วนร่วม” ซึ่งจะถูกตีความให้พร่ามัวหรือเบลออีก
เอาเป็นว่า “ประชาชนมีสิทธิผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาเพื่อใช้เองและสามารถขายสู่ระบบสายส่งได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน” (อ้อ ดวงอาทิตย์ก็เป็นทรัพยากรธรรมชาตินะครับ อย่าลืม)
ผมได้แนวคิดนี้มาจากประเทศเยอรมนีครับ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ประเทศใหญ่โต และมีแสงแดดไม่มาก นอกจากนี้ ขอเรียนว่า 43 รัฐของสหรัฐอเมริกา (จากทั้งหมด 50 รัฐ) ก็มีกฎหมายรองรับในลักษณะที่ผมเสนอนี่แหละครับ
ความน่าสนใจในรัฐธรรมนูญของโบลิเวียยังมีอีกมาก มากจริงๆ ผมไม่สามารถนำมาเสนอได้หมด ผมขอคัดลอกมาเพียง 2 มาตรา (สำหรับผู้สนใจจริงๆ)
Article 345
The policies of environmental management are based on the following:
1. Participatory planning and management, with public control.
2. The application of systems of evaluation of environmental impact andcontrol of the quality of the environment, without exception and in a waythat traverses all activity of production of goods and services that use,transform or affect natural resources and the environment.
3. Liability for the conducting of any activity that produces environmentalharm; civil, criminal and administrative penalties fornon compliance withthe norms for the protection of the environment.
CHAPTER II: Natural Resources
Article 348
I. Minerals in all of their states, the hydrocarbons, water, air, soil and the subsoil,the forests, the biodiversity, the electromagnetic spectrum and all the elementsand physical forces capable of use, are considered natural resources.
II. The natural resources are of strategic character and of public importance for the development of the country.
สี่ การควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างได้อธิบายอย่างสั้นๆ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต (7 พฤษภาคม 58) ว่า เหตุผลในการควบรวม 2 หน่วยงานเข้าด้วยกันเป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน” ว่า “เพื่อไม่ต้องให้ประชาชนไปร้องเรียนหลายแห่ง”
อ้าว! ถ้าอย่างนั้นก็มีเพียงกระทรวงเดียวก็พอ หรือแค่มีมาตรา 44 เพียงมาตราเดียวก็พอนะ สนุกจัง
ถ้าผมจะแย้งแบบเถรตรง ก็จะได้ว่าสำนักงานทั้งสองนี้ตั้งอยู่ในอาคารเดียวกันอยู่แล้ว ดังนั้น เหตุผลในการควบรวมนี้ฟังไม่ได้ครับ
ถ้าผมจะแย้งว่า ทั้ง 2 หน่วยงานในปัจจุบัน คือ ทั้งกรรมสิทธิ์ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่างก็ไม่เห็นด้วยในการควบรวม อาจารย์บวรศักดิ์ ก็อาจจะแย้งด้วยเหตุผลเดียวกันกับนักการเมืองว่า “ถ้าถามนักการเมือง เขาก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะเขาเสียประโยชน์ เพราะประชาชนหรือ พลเมืองมีอำนาจมากขึ้น”
ผมขอเรียนสั้นๆ ว่า ทั้งสองหน่วยงานนี้ปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน ผู้ตรวจการเน้นการตรวจสอบว่าหน่วยงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละกระทรวง แต่คณะกรรมการสิทธิฯ เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งส่วนใหญ่กฎหมายของแต่ละกระทรวงไม่ได้บัญญัติ นอกจากนี้ กรรมการสิทธิยังเน้นตามข้อตกลงในภาคีระหว่างประเทศ
เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่แตกต่างไปจากเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายปกติครับ
ผมขออนุญาตไม่สรุปอะไรนะครับ นอกจากความรู้สึกที่ว่า แม้ไม่มีกราฟ และไม่มีรูป บทความผมก็ยังยาวเป็นปกติครับ ขอบคุณที่ทนอ่านครับ