xs
xsm
sm
md
lg

"การเมือง ภาษี กฎระเบียบที่เข้มงวด" 3 ปัจจัยเสี่ยง กระทบเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซีอีโออาเซียน เชื่อเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวใน 12 เดือน หวั่นการเมือง ภาระภาษี กฎระเบียบที่เข้มงวด กระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ เผยอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ คือปัญหาการติดสินบน คอรัปชั่น ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ

PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจ 18th Annual Global CEO Survey: A marketplace without boundaries? Responding to disruptionที่ใช้ในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ณ กรุงดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประจำปี 2558 ซึ่งผลสำรวจได้จัดทำขึ้นระหว่างเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2557 โดยได้สำรวจความคิดเห็น ของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,322 รายใน 77 ประเทศ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 76 รายใน 7 ประเทศ

ผลจากการสำรวจที่น่าสนใจ ได้แก่ ผู้นำธุรกิจอาเซียนถึง 49% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลก (Global economy) จะดีขึ้นในช่วง 12 เดือนหน้า เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ 45% และสูงกว่าความเชื่อมั่นของซีอีโอโลกโดยเฉลี่ยที่ 37% สาเหตุเพราะซีอีโอในภูมิภาคนี้มองว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคตัวเอง และเศรษฐกิจในประเทศหลักจะฟื้นตัว กอปรกับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การขยายตัวของสังคมเมือง และกำลังซื้อของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค

3 ปัจจัยเสี่ยงที่ซีอีโออาซียนมองว่า จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบาย (Economic and policy threats) มากที่สุด ได้แก่ ความวุ่นวายทางการเมือง (Geopolitical uncertainty) การจัดเก็บและผลักภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น (Increasing tax burden) และการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป (Over-regulation)

ซีอีโออาเซียนถึง 47% เชื่อว่าในปี 2558 รายได้ของบริษัท (Revenue growth) จะเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา และเกินกว่าครึ่ง (54%) ยังเชื่อมั่นว่าจะเติบโตต่อเนื่องไปอีก 3 ปีต่อจากนี้ สูงกว่าซีอีโอโลกที่เชื่อมั่นเพียง 39% และ 49% ตามลำดับ โดยตลาดสำคัญ 3 อันดับแรกที่ซีอีโออาเซียนมองว่าจะช่วยผลักดันให้รายได้ของพวกเขาเติบโต ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย

อุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ (Business threats) ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ปัญหาการติดสินบนและคอร์รัปชั่น (79%) และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (78%) ยังเป็นคงประเด็นที่บรรดาซีอีโอแสดงความกังวลมากที่สุดในปีนี้

ซีอีโออาเซียนเกือบ 60% มองว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้าองค์กรของตนจะขยายหรือต่อยอดธุรกิจหลักไปในธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรและกระจายความเสี่ยงให้แก่บริษัท โดยการหาพันธมิตร ธุรกิจร่วมทุน (Joint ventures) และความร่วมมือกันทางการค้าในรูปแบบอื่นๆ จะยังเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจของซีอีโอภูมิภาคนี้ รองจากแผนการลดต้นทุน

ซีอีโออาเซียนกว่าครึ่งระบุว่า ได้มีการนำกลยุทธ์การบริหารความหลากหลายของบุคลากร (Diversity and Inclusiveness) มาเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรแล้ว และมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่า หากนำกลยุทธ์นี้มาปรับใช้ก็จะช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นในที่สุด

ประเทศไทยยังเป็นตลาดที่ธุรกิจชั้นนำทั่วโลกต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยไทยติดอันดับ 4 ของตลาดที่น่าลงทุนนอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ในปีนี้ ขยับขึ้นจากอันดับ 6 เมื่อปีก่อน ซึ่งมีเวียดนามขึ้นมาแทนที่ ขณะที่อันดับ 1 ยังเป็นอินโดนีเซีย รองลงมา ได้แก่ เม็กซิโก โคลัมเบีย
กำลังโหลดความคิดเห็น