PwC เผยผลสำรวจซีอีโออาเซียนมั่นใจเศรษฐกิจโลก และภูมิภาคมีแนวโน้มดีขึ้น จากประมาณการเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่ม เม็ดเงินลงทุนที่เข้ามาในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังห่วงปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น ขณะที่ไทยขยับเพิ่มอันดับความน่าลงทุนมาที่อันดับ 4 จากปีก่อนอันดับ 6 แนะพัฒนาระบบเทคโนโลยี บุคลากร หวั่นเวียดนามแซง
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 18 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2558 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นซีอีโอโลก จำนวน 1,322 คนใน 77 ประเทศ พบว่า ซีอีโออาเซียนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลกว่าจะดีขึ้น 49% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 45% สูงกว่าความเชื่อมั่นของซีอีโอโลกที่อยู่ที่อยู่ในระดับ 37% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 44%
ปัจจัยที่ทำให้ซีอีโออาเซียนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทั้งในส่วนของภูมิภาคตัวเอง และเศรษฐกิจโลก ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนที่ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องภายหลังการเปิดเออีซี และกำลังซื้อของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ ซีอีโออาเซียนถึง 47% เชื่อว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา และยังเชื่อมั่นว่าจะยังเติบโตต่อเนื่องไปอีก 3 ปีต่อจากนี้ 54% สูงกว่าซีอีโอโลกเชื่อมั่่นเพียง 39% และ 49% ตามลำดับ โดยตลาดสำคัญ 3 อันดับแรกที่จะช่วยผักดันให้รายได้เติบโตได้แก่ จีน สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย
“ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจที่อ้างอิงจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ จะเห็นว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อยู่ในระดับที่ดี คือ ประมาณ 4.7% และที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็คือ ประเทศในกลุ่ม CLMV โดยคาดว่ากัมพูชา จะเติบโตได้ 7.3% ลาว 7.2% พม่า 8.5% และเวียดนาม 5.6% ส่วนไทย PwC คาดว่าจีดีพีในปีนี้จะเติบโตได้ 4-4.5%”
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า มี 3 ปัจจัยที่ซีอีโออาเซียนมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายมากที่สุด ได้แก่ ความวุ่นวายทางการเมือง การจัดเก็บและผลักภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น และการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป ส่วนประเด็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนจะกังวลปัญหาติดสินบน และคอร์รัปชัน และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ
“ปัจจัยโดยรวมที่ทั้งซีอีโอโลก และซีอีโออาเซียนห่วงเหมือนๆ กันก็คือ ความวุ่นวายทางการเมือง ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง มีเพียงสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวชัดเจน แต่ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเรายังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การเปิดเสรีการค้าอาเซียนในปลายปีนี้น่าจะส่งผลให้การค้า และการลงทุนมีความคึกคัก สามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง” นายศิระ กล่าว
ไทยขึ้นอันดับ 4 ตลาดน่าลงทุน
นายศิระ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผลการสำรวจครั้งนี้ คือ ในปีนี้ประเทศไทยยังเป็นตลาดที่ธุรกิจชั้นนำทั่วโลกต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยไทยติดอันดับ 4 ของตลาดที่น่าลงทุน นอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ในปีนี้ขยับขึ้นจากอันดับ 6 เมื่อปีก่อน ซึ่งมีเวียดนามขึ้นมาแทนที่ ขณะที่อันดับ 1 ยังเป็นอินโดนีเซีย รองลงมา ได้แก่ เม็กซิโก โคลัมเบีย ตามลำดับ ทั้งนี้ น่าจะเป็นผลมาจากการเปิด AEC ซึ่งไทยมีความได้เปรียบที่ฐานที่ตั้งเป็นจุดศูนย์ของกลางของอาเซียนจึงได้รับความสนใจในการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ดี ธุรกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงเปิดกว้างในเรื่องการบริหารบุคลากรที่จะมีความหลากหลายมากขึ้นหลังจากเปิดเออีซี ซึ่งตรงนี้ในบางประเทศได้มีการปรับตัวไปบ้างแล้ว
“ปีนี้ประเทศในอาเซียนที่ติดอันดับตลาดน่าลงทุนนอกเหนือกลุ่ม BRIC มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา เวียดนาม ตามติดเรามาโดยตลอดจนไม่อาจมองข้ามได้ หากเราไม่เร่งปรับตัว ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงพัฒนาทักษะแรงงาน ก็มีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนจะไหลไปตลาดเพื่อนบ้านได้”