xs
xsm
sm
md
lg

PwC เผยซีอีโออาเซียนมั่นใจเศรษฐกิจ-รายได้ปีนี้โต สวนทางผู้นำธุรกิจทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย
PwC เผยผลสำรวจ Global CEO Survey พบซีอีโออาเซียนมั่นใจสูงกว่าซีอีโอทั่วโลก เชื่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และรายได้ปี 58 ดีกว่าปีก่อน หลังได้รับอานิสงส์เปิดเออีซี ดันการค้า การลงทุนในภูมิภาคคึกคัก แถมเศรษฐกิจในประเทศหลักฟื้นตัว จึงมั่นใจว่าธุรกิจมีโอกาสเติบโตมากกว่าอดีต ปลื้มไทยผงาดขึ้นอันดับ 4 ตลาดน่าลงทุนนอกกลุ่ม BRIC แนะธุรกิจเร่งปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดการลงทุนและเพิ่มมูลค่าให้กิจการ พร้อมชี้ปัญหาคอร์รัปชัน และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเป็นเรื่องใหญ่ของธุรกิจอาเซียนที่ต้องเร่งแก้ไข
 
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 18 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2558 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลก จำนวน 1,322 คนใน 77 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 76 คนใน 7 ประเทศ ว่า ซีอีโออาเซียนมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลก และรายได้ของบริษัทปีนี้จะเติบโตสูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจของซีอีโอทั่วโลก โดยผู้นำธุรกิจอาเซียนถึง 49% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลก (Global economy) จะดีขึ้นในช่วง 12 เดือนหน้า เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ 45% และสูงกว่าความเชื่อมั่นของซีอีโอโลกโดยเฉลี่ยที่ 37% สาเหตุเพราะซีอีโอในภูมิภาคนี้มองว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคตัวเอง และเศรษฐกิจในประเทศหลักจะฟื้นตัว กอปรกับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การขยายตัวของสังคมเมือง และกำลังซื้อของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

“ผมมองว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนในปี 2558 น่าจะเติบโตจากปีที่ผ่านมา  เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และภายหลังจากเราก้าวเข้าสู่เออีซี น่าจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น เพราะภูมิภาคเราถือเป็นฐานการผลิตสำคัญของหลายๆ อุตสาหกรรม”

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า มี 3 ปัจจัยที่ซีอีโออาเซียนมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบาย (Economic and policy threats) มากที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ ความวุ่นวายทางการเมือง (Geopolitical uncertainty) การจัดเก็บและผลักภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น (Increasing tax burden) และการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป (Over-regulation) อย่างไรก็ดี ซีอีโออาเซียนถึง 47%  เชื่อว่าในปี 2558 รายได้ของบริษัท (Revenue growth) จะเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา และเกินกว่าครึ่ง (54%) ยังเชื่อมั่นว่าจะเติบโตต่อเนื่องไปอีก 3 ปีต่อจากนี้ สูงกว่าซีอีโอโลกที่เชื่อมั่นเพียง 39% และ 49% ตามลำดับ โดยตลาดสำคัญ 3 อันดับแรกที่ซีอีโออาเซียนมองว่า จะช่วยผลักดันให้รายได้ของพวกเขาเติบโต ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย

“วันนี้ภาคธุรกิจอาเซียนมีความเชื่อมั่นมากกว่า 3 ปีที่ผ่านมา แม้ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง มีเพียงสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวชัดเจน ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเรายังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การเปิดเสรีการค้าอาเซียนในปลายปีนี้น่าจะส่งผลให้การค้า และการลงทุนมีความคึกคัก สามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บทบาทของจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับที่ 1 ของไทย ที่กำลังดำเนินนโยบาย Going out Policy หรือผลักดันให้ธุรกิจจีนขยายการลงทุนไปต่างประเทศทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจากจีนเข้ามาอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ รวมถึงไทยซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการย้ายฐานการผลิต” 

อย่างไรก็ดี เมื่อมองถึงอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ (Business threats) ในภูมิภาคอาเซียน ปัญหาการติดสินบน และคอร์รัปชัน (79%) และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (78%) ยังเป็นคงประเด็นที่บรรดาซีอีโอแสดงความกังวลมากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ โอกาสและการแข่งขันบนเวทีเออีซี “หลังจากเปิดเออีซี ทุกประเทศในอาเซียนจะได้รับผลดีจากขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น โดยประชากรในภูมิภาคที่มีรวมกันกว่า 600 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจาก ASEANStat ระบุว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกัน 10 ประเทศ ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 122 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2556   นอกจากนี้ ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวในอาเซียนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวนเกือบ 100 ล้านคน โดยกว่า 50% เป็นการท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งของภูมิภาค อีกทั้งอำนาจการต่อรองทางการค้าในเวทีโลกที่มีมากขึ้น ขณะที่การเปิดเสรีการค้าการลงทุนจะช่วยกระตุ้นการส่งออก และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้ ซีอีโออาเซียนเกือบ 60% ยังมองว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า องค์กรของพวกเขาจะขยาย หรือต่อยอดธุรกิจหลักไปในธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไร และกระจายความเสี่ยงให้แก่บริษัท โดยการหาพันธมิตรธุรกิจร่วมทุน (Joint ventures) และความร่วมมือกันทางการค้าในรูปแบบอื่นๆ จะยังเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจของซีอีโอภูมิภาคนี้ รองจากแผนการลดต้นทุน

นอกจากนี้ เมื่อเปิดเออีซีภาคธุรกิจในอาเซียนย่อมมีการขยายงานเพิ่มขึ้น จากผลสำรวจพบว่า ซีอีโออาเซียนถึง 67% มีแผนจะเพิ่มจำนวนพนักงาน (Headcount)  ภายในปีนี้ และต่อไปเมื่อแรงงานในภูมิภาคนี้สามารถเคลื่อนย้ายกันได้อย่างเสรี จะทำให้เอกชนต้องแข่งกันแสวงหา รักษา และบริหารจัดการพนักงานที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมมากขึ้น โดยซีอีโออาเซียนถึง 55% ระบุว่า พวกเขาได้นำกลยุทธ์การบริหารความหลากหลายของบุคลากร (Diversity & Inclusiveness) มาเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรแล้ว และมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่า หากนำกลยุทธ์นี้มาปรับใช้ก็จะช่วยให้ผลการดำเนินงานของพวกเขาดีขึ้นในที่สุด 

ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยผลสำรวจพบว่า ซีอีโออาเซียนถึง 64% ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมสากล ผ่านแผนงานและนโยบายต่างๆ และปรับระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ซีอีโออาเซียน 61% ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริม และพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ธุรกิจภายในประเทศไทยผงาดขึ้นอันดับ 4 ตลาดน่าลงทุน  อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผลการสำรวจครั้งนี้ คือ ในปีนี้ประเทศไทยยังเป็นตลาดที่ธุรกิจชั้นนำทั่วโลกต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยไทยติดอันดับ 4 ของตลาดที่น่าลงทุนนอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ในปีนี้ ขยับขึ้นจากอันดับ 6 เมื่อปีก่อน ซึ่งมีเวียดนามขึ้นมาแทนที่ ขณะที่อันดับ 1 ยังเป็นอินโดนีเซีย รองลงมา ได้แก่ เม็กซิโก โคลัมเบีย ตามลำดับ
 
“ปีนี้ประเทศในอาเซียนที่ติดอันดับตลาดน่าลงทุนนอกเหนือกลุ่ม BRIC มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา เวียดนามตามติดเรามาโดยตลอดจนไม่อาจมองข้ามได้ หากเราไม่เร่งปรับตัว ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงพัฒนาทักษะแรงงาน ก็มีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนจะไหลไปตลาดเพื่อนบ้านได้” 

นอกเหนือจากนี้ ธุรกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้ซีอีโออาเซียนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีมากนักเมื่อเทียบกับมุมมองของซีอีโอทั่วโลกถึง 61% มองว่า เทคโนโลยีดิจิตอล คือโอกาสของธุรกิจการค้า ที่เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่า จะช่วยลดต้นทุนการบริหาร การขนส่ง และขยายฐานการค้าได้กว้างขึ้น หากทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้สัมฤทธิผล

โดยพวกเขาเริ่มตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว จำเป็นอย่างมากที่องค์กรต้องก้าวตามให้ทัน และนำเทคโนโลยีนั้นมาปรับใช้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นระบบการปฏิบัติงาน สินค้า และบริการแก่ลูกค้า ฯลฯ เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Advances) เป็น 1 ในเมกะเทรนด์ ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญสำหรับธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

 “ถือเป็นจุดเริ่มที่ต้นที่ดีที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) โดยเตรียมพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที การวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จก็จะยิ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคไทยที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนภาคธุรกิจเอง ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน การธนาคาร ค้าปลีก ค้าส่ง อุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ การท่องเที่ยว ระบบขนส่ง ลอจิสติกส์ ก็ต้องเร่งนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับระบบปฏิบัติการเสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดความรวดเร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ การลงทุนต่างๆ ก็ง่ายขึ้นแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันรองรับเทรนด์ดิจิตอลในอนาคตได้อีกด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น