วิศวะจุฬาฯ โชว์วิสัยทัศน์ มุ่งสู่การเป็น “สถาบันที่สร้างวิศวกร และนวัตกรรมชั้นเลิศเพื่อสังคมโลก” เร่งสร้างสรรค์ผลงานวิชาการด้านที่เป็นต้นแบบ และนวัตกรรมต่อยอด เผยตั้งโครงการ CU-Engineering Innovation Hub กระตุ้น ล่าสุดจัดงาน“Chula Engineering Innovation Expo 2015” โชว์นวัตกรรมเด่น
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์การมุ่งสู่การเป็น “สถาบันที่สร้างวิศวกร และนวัตกรรมชั้นเลิศเพื่อสังคมโลก” คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการในด้านวิศวกรรมที่เป็นต้นแบบและภูมิปัญญาของสังคมไทย จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยมุ่งเน้นสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อยอดรากฐานที่มั่นคง อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อสังคมที่เข้มแข็งและก้าวทันโลก “Foundation towards innovation”
คณะฯ จึงได้จัดตั้งโครงการ CU-Engineering Innovation Hub ขึ้น เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นในการสร้างนวัตกรรมภายในคณะ พร้อมทั้งผลักดันและเผยแพร่ผลงานวิจัย นวัตกรรมให้เป็นที่รู้จักของสังคม ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรของคณะและสังคมไทยให้ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน
โครงการ CU-Engineering Innovation Hub จัดตั้งขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม 4 ด้าน ดังนี้ 1) นวัตกรรมการเรียนการสอน (Teaching & Learning Innovation) นำโดยคณาจารย์ เน้นการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน และวิชาการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์ โดยเฉพาะคณาจารย์ใหม่และนิสิตมีโอกาสเรียนรู้ภาคปฏิบัติจริง ตามภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย คือการเตรียมความพร้อมของบัณฑิตเพื่อเข้าสู่ทุกส่วนงานรวมถึงภาคอุตสาหกรรม
2) นวัตกรรมจากนิสิต (Student Innovation) นำโดยนิสิตปริญญาตรี โท เอก เน้นส่งเสริมและพัฒนาการเสริมสร้างความคิดของนิสิตให้มีศักยภาพและมีความรู้ความสามารถทั้งในด้านศาสตร์ทางวิศวกรรมและในด้านอื่นๆ สามารถขับเคลื่อนคณะวิศวกรรมศาสตร์สู่สังคมภายนอกในฐานะวิศวกรยุคใหม่ เพื่อให้พร้อมต่อการก้าวไปสู่สังคมและการพัฒนาประเทศ และเปิดโอกาสสำคัญให้กับนิสิตได้มีส่วนร่วมจัดการและเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพที่แท้จริงในสังคม เพื่อเป็นแนวทางและประสบการณ์ในการทำงานในอนาคตและเปิดโอกาสในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมจากผลลัพธ์การเรียนรู้จากหลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3) นวัตกรรมกระบวนงานและบริการในองค์กร (Process and Service Innovation) นำโดยบุคลากร เน้นส่งเสริมและพัฒนากระบวนการสนับสนุนการดำเนินงานภายในองค์กร โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรและเจ้าหน้าที่ของคณะได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง และต่อยอดการสรรค์สร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนงานและการบริการต่างๆ ของคณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4) นวัตกรรมและสังคม (Innovation and society ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือกับอุตสาหกรรม ชุมชน สังคมไทยและศิษย์เก่าวิศวฯ จุฬาฯ (Innovation collaborated with society) นำโดยคณาจารย์ นิสิต หรือบุคลากรร่วมมือกับศิษย์เก่าสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อสังคม และยั่งยืน เน้นกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสังคมและศิษย์เก่าเพื่อนำไปสู่กิจกรรมความร่วมมือต่างๆ เป็นการสร้างความสัมพันธ์กันได้ต่อไปในอนาคต ผ่านช่องทาง อาทิเช่น สมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ ฝ่ายกิจการนิสิต และเครือข่ายโรงเรียนมัธยม ตลอดจนคณาจารย์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) เป็นต้น
ด้วยพันธกิจที่มุ่งมั่นจะเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมที่ถ่ายทอดความเป็นเลิศแก่บัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงร่วมมือกับสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดงาน “Chula Engineering Innovation Expo 2015” ขึ้น ภายใต้แนวคิด “รากฐานสู่สังคมนวัตกรรม” เพื่อแสดงถึงศักยภาพของผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมที่ถูกคิดค้นโดยนวัตกรของคณะ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของมนุษย์
ภายในงาน “Chula Engineering Innovation Expo 2015” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2558 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 17.00 น. ณ โถงชั้น 1 อาคารวิศวฯ 100 ปี มีการเปิดตัว 3 Highlights ผลงานนวัตกรรม และผลงานนวัตกรรม 8 กลุ่ม ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ในด้านต่างๆ
สำหรับ 3 Highlights เป็นผลงานนวัตกรรมที่แสดงถึงศักยภาพของคณาจารย์ผู้คิดค้นที่จะอธิบายให้เห็นถึงการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเจาะลึก ได้แก่ 1.ฟิล์มบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ที่ช่วยยืดอายุและรักษาคุณภาพของพืชผัก ผลไม้ และอาหาร นอกจากนี้ ผลงานพลาสติกชีวภาพยังสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาขยะได้ดี
2.กลไกข้อเข่าเทียม สิ่งประดิษฐ์ เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยเสริมให้ขาเทียมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้มีการวิจัยและพัฒนาออกแบบให้กลไกข้อเข่าเป็นชนิดหลายจุดศูนย์กลางหมุน ส่งผลให้การเคลื่อนที่ของข้อเข่าหรือ การเดินของผู้พิการเหมือนธรรมชาติ และมีความแตกต่างจากกลไกข้อเข่าที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน มีชิ้นส่วนหลักและชิ้นส่วนประกอบอื่นๆ จำนวนน้อย ส่งผลให้ง่ายต่อการผลิตและบำรุงรักษา
และ3.การผลิตกระดูกเทียมจากโลหะไทเทเนียม เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจนกระดูกของร่างกายแตกหัก เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นจากการคิดค้นพัฒนา จนได้สิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นนวัตกรรม “โลหะไทเทเนียมแบบซับซ้อน” ที่จะสามารถเข้ามาช่วยประสาน เปลี่ยนถ่ายกระดูกในส่วนที่แตกหัก เพื่อผลิตกระดูกเทียมเพื่องานด้านทันตกรรม และด้านการแพทย์จนเกิดเป็นกระบวนในการผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพ รวดเร็ว และปลอดภัยสูง
ส่วนผลงานนวัตกรรม 8 กลุ่ม ที่คณะได้สร้างสรรค์ขึ้น จากความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1. Health - ผลงานนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในด้านสุขภาพของสิ่งมีชีวิต เช่น นวัตกรรมการสร้างหลอดเลือดหัวใจจากไหมไทย, กราฟกระดูก ที่จะโชว์นวัตกรรมของการประสานกระดูกใหม่ให้เข้ากับกระดูกเดิมของผู้ป่วยที่มีปัญหาในเรื่องของแตกหักของกระดูก และไม้เท้าพาร์กินสัน นวัตกรรมไม้เท้าช่วยเดินของผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสัน ที่มีปัญหาการเดินติดขัด
2. Green Engineering - สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของโลก ดังนั้นระบบการจัดการน้ำและมลพิษต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็น และค้นคว้าวิจัย จนเกิดนวัตกรรมที่ช่วยจัดการของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยนวัตกรรม “ระบบการจัดการมลพิษ”
3. Energy - ผลงานนวัตกรรมในกลุ่มของพลังงานที่จะช่วยให้ประเทศมีวิธีลดการใช้พลังงาน ด้วยการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าภายในอาคาร ให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม พร้อมด้วยระบบการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ด้วยนวัตกรรม “การจัดการพลังงานในอาคาร”
4. Automation & Testing - กลไกสิ่งประดิษฐ์ต่างๆที่คิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยชดเชยและผ่อนแรงการทำงานของมนุษย์ เช่น เครื่องช่วยยกของด้วยกลไกชดเชยแรงโน้มถ่วง, อากาศยานไร้คนขับ
5. Disaster and Safety - นวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของความปลอดภัยของมนุษย์ จากภัยพิบัติต่างๆ เช่น เครื่องวัดพลังงานกัมมันตภาพรังสี, เครื่องทดสอบบานพับบานเลื่อน
6. Infrastructure and transportation - นวัตกรรมของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง ด้วยรถต้นแบบสำรวจพื้นผิวถนน
7. Smart materials - การวิจัยพัฒนาวัสดุจนกลายเป็นนวัตกรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งโลหะไทเทเนียมแบบซับซ้อน, ฟิล์มบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และเสื้อเกราะกันกระสุน
8. IT - นวัตกรรมการคิดค้นและพัฒนาโปรแกรม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ ระบบการเรียนการสอนของโปรแกรม Courseville ที่จะช่วยให้การเรียนการสอนภายในห้องเรียนมีความน่าสนใจ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น