ปตท.ชี้เทรนด์ผู้บริโภคยุคดิจิตอลมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นเหตุให้ต้องลงทุนระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากไมโครซอฟท์ กับลูกค้าบัตรพีทีที บลูการ์ด กว่า 1.4 ล้านคน เพื่อเสนอบริการที่ตรงต่อความต้องการมากที่สุด ขณะที่ไมโครซอฟท์เผย ปตท.คือ บริษัทด้านพลังงานรายแรกที่เล็งเห็นความสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทให้ความสำคัญต่อข้อมูลของลูกค้าเป็นหลัก ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิตอลมีความหลากหลาย และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน การทำตลาดแบบแมส มาร์เกตติ้ง จึงไม่ได้ผล มีต้นทุนสูง แต่ประสิทธิภาพลดน้อยลง ดังนั้น การทำตลาดแบบเซกเมนเตชันให้ละเอียด และตรงต่อความต้องการของลูกค้ามากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ทำให้บริษัทเลือกโซลูชันบนดาต้าแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์อย่าง Dynamics CRM และระบบฐานข้อมูล SQL Server เพื่อการจัดเก็บ บริหาร และวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าโดยละเอียด และรวดเร็วต่อลูกค้าบัตรพีทีที บลูการ์ด ที่มีสมาชิกกว่า 1.4 ล้านคน และการทำธุรกรรมผ่านบัตรราว 150,000 รายการต่อวัน
ทั้งนี้ บัตรดังกล่าวนับเป็นแหล่งข้อมูลลูกค้าที่สำคัญสำหรับ ปตท.และเพื่อให้บริษัทสามารถใช้ข้อมูลนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพในการนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และบริการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในรูปของการกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ หรือเป็นประจำ อันก่อให้เกิดความผูกพันที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้นระหว่างลูกค้า กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการนำเทคโนโลยี Big Data Analytics มาใช้ในธุรกิจน้ำมันของ ปตท.นั้นถือเป็นรายแรกในอุตสาหกรรมพลังงานไทย จนสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ ปตท.เป็นองค์กรที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนด้วยพลังของข้อมูลได้
ด้าน นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในการก้าวสู่โลกยุคโมบาย และคลาวด์ ธุรกิจต้องหันมาปรับกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่โลกดิจิตอล โดยมีข้อมูลเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความสำเร็จ หรือที่ให้คำนิยามว่า ข้อมูลเปรียบเสมือนเงินตราสำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ (Data is the currency of the new economy) โดยข้อมูลจากไอดีซีระบุว่า องค์กรที่สามารถสร้าง “วัฒนธรรมข้อมูล” ในระบบการทำงานอย่างทั่วถึง มีศักยภาพที่จะทำรายได้สูงขึ้นรวมกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 4 ปีข้างหน้านี้ ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่า ภายในสิ้นปี 2560 นั้น 60% ขององค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะนำการพลิกโฉมธุรกิจนวัตกรรมดิจิตอล (digital transformation) มาเป็นหัวใจหลักในแผนกลยุทธ์ขององค์กร
ดังนั้น องค์กรยุคใหม่จะต้องสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และประมวลผลเพื่อประกอบการตัดสินใจห รือคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่ความได้เปรียบในการแข่งขัน และโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ หากองค์กรมีเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อการจัดการต่อข้อมูลแล้ว เท่ากับว่า ทุกคนในองค์กรสามารถจุดประกายความคิดเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้มุ่งสู่ความสำเร็จได้ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่มีข้อมูลเป็นหัวใจหลัก หรือ Data Culture นั่นเอง
ขณะที่ นายเคียว โอฮิระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล อนาลิทติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคาดการณ์ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี กล่าวเสริมอีกว่า ปัจจุบัน องค์กรต้องเผชิญต่อความท้าทายจากการเติบโตของข้อมูลในแบบ 3 มิติ ได้แก่ปริมาณ ความหลากหลาย และความเร็วในการสร้าง และถ่ายโอนข้อมูล การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในทุกมิตินี้ต้องอาศัยความเข้าใจในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ซึ่งเป็นเหมือนจุดกึ่งกลางระหว่างความรู้ด้านสถิติ และเทคโนโลยี
สำหรับเพอร์เพิล อนาลิทติกส์ เอง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตจากข้อมูล เชื่อว่า องค์กรที่แข็งแกร่ง ใช้ข้อมูลได้เต็มประสิทธิภาพจะต้องมีพร้อมทั้งระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคาดการณ์ที่ยอดเยี่ยม และโครงสร้างการทำงานที่เปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถเข้าถึงข้อมูล และเครื่องมือวิเคราะห์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วในทุกระดับ ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาการวิเคราะห์ข้อมูลให้เกิดผลลัพธ์ลงได้อย่างมาก จนนำไปสู่ความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง