xs
xsm
sm
md
lg

ตอบโจทย์ 3 เทรนด์โลก ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


๐ โจทย์ใหญ่ท้าทายวันนี้ อาหาร-พลังงาน-ความปลอดภัย
๐ ดูปองท์หนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกวาง 3 กลยุทธ์ ไขคำตอบ 3 เทรนด์โลก
๐ ติดตามนวัตกรรมที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น


จากจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งภายในปี ค.ศ.2050 โลกจะมีประชากรสูงถึง 9,000ล้านคน จึงเกิดโจทย์ใหญ่ 3 ข้อ ข้อแรก - จะมีอาหารเพียงพอ ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ เพื่อรองรับกับประชากรโลกที่มีเพิ่มขึ้นถึงขนาดนั้นหรือไม่ ข้อสอง - จะมีพลังงานเพียงพอหรือไม่ เมื่อฟอสซิลที่ขุดจากใต้ดินหมดไป และข้อสาม - จะมีความปลอดภัยของผู้คนหรือไม่ สิ่งแวดล้อมจะได้รับความกระทบกระเทือนหรือไม่ เพียงใด

“ดูปองท์” ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก จึงตอบโจทย์ใหญ่ทั้ง 3 ข้อที่ท้าทายโลก ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.Agriculture&Nutrition (การเกษตรและอาหาร) สิ่งสำคัญคือการพัฒนาสายพันธุ์ของพืชต่างๆ ให้ดีขึ้น ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ 2.Biobased Materials (วัสดุชีวภาพ) ด้วยการสร้างวัสดุใหม่จากพืชแทนการใช้น้ำมัน
3.Advanced Materials (วัสดุคุณภาพสูง) โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือสำคัญ

นายสัตวแพทย์สมชาย เสาห์วีระพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า Agriculture&Nutrition กับ Biobased materials คือการนำเกษตรมาทำทุกอย่าง เมื่อบอกว่าจะแก้ปัญหาน้ำมันจากดินหรือ fossil fuel ไม่ใช่ทุกอย่างต้องมาจากข้าวโพด การที่ดูปองท์ใช้ข้าวโพดมากเพราะอเมริกามีข้าวโพดมาก อาจจะมาจากมันสำปะหลัง ทำเป็นแป้งและน้ำตาล แล้วพัฒนาเป็นน้ำมันหรือโพลิเมอร์ ซึ่งต้องเกิดมาจากการวิจัยและพัฒนา

ส่วนที่ดูปองท์เน้นมากคือAdvance materials หรือวัสดุคุณภาพสูง เช่น นวัตกรรมวัสดุต่างๆ ที่ใช้ผลิตโซล่าร์เซลล์โซล่าร์เซลล์ ในโซล่าร์เซลล์ มีวัสดุอยู่ 8 ชิ้น เป็นของดูปองท์ถึง 5 ชิ้น ตั้งแต่ materization คือสีที่เคลือบอยู่ในแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อคอนเวิร์ทแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงาน มีเพสคอนเวิร์ทแสงได้ถึง 20% และมีแบบ 40%อยู่ในอวกาศ แต่แพงมาก มีชีท คริสตัลไลน์ และตินฟิล์ม นอกจากนี้ ยังมีวัสดุที่ใช้ทำเสื้อกันกระสุน ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น หม้อน้ำ ฯลฯ วัสดุที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ซึ่งเน้นคุณภาพระดับสูง

สำหรับแนวทางการผลิตเทคโนโลยีชีวภาพในภาพกว้างมีมากสามารถใช้แบคทีเรีย สาหร่าย เอนไซม์ พืช หรือเชื้อรา ก็ได้ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ใช้ทั้งเครื่องมือ การวิเคราะห์ กระบวนการพัฒนา ฯลฯ เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ๆ ออกมา เช่น Biofuels , Bionanomaterial , Food&cosmetic ingredients ฯลฯ (ดูภาพประกอบp1)

ยกตัวอย่าง ในปัจจุบันมีโรงงานที่ผลิตเอทานอลให้เป็น “บิวทานอล” Biobutanol เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ทำมาจากชีวมวลหรือ biomass เช่น ข้าวโพด หรืออ้อย ซึ่งเป็นน้ำมันรุ่นใหม่ที่ให้พลังงานสูงกว่าเอทานอล 40% หรือใกล้เคียงกับเบนซินมาก หรืออีกตัวอย่างซึ่งเพิ่งจะคิดค้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือการนำข้าวโพดมาทำเป็นแป้ง เป็นกลูโคส จากนั้นใช้มียีสต์ซึ่งมีแบคทีเรียตัวใหม่ของโลกที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำให้กลูโคสกลายมาเป็นกลีเซอรอลและจากกลีเซอรอลมีแบคทีเรียอีกตัวหนึ่งที่ผ่านการสังเคราะห์ 12 กระบวนการ โดยใช้เวลาแค่ 3 วัน ออกมาเป็นโมโนเมอร์แล้วมาทำเป็นโพลีเมอร์

นี่คือนวัตกรรมใหม่ ต่อไปนี้ไม่ต้องพึ่งน้ำมัน และมีข้อดีต่อสิ่งแวดล้อมคือใช้พลังงานน้อยกว่าถึง 40% ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 30-60 % คาร์บอนฟูดปริ้นท์เป็นศูนย์เพราะตั้งแต่นำข้าวโพดมาใช้จนมาถึงการทำลายแล้วไม่เหลืออะไรในสิ่งแวดล้อมเลย ซึ่งของใหม่ๆ ที่ออกมาจะดูว่าทิ้งขยะอะไรไว้ในโลกบ้าง และโพลิเมอร์ใหม่ๆ ของดูปองท์เป็นแบบนี้ทั้งหมด

“มีคนถามว่าข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์และอาหารคน ดังนั้นในอนาคตไม่ยั่งยืนเพราะสุดท้ายมาแย่งคน คำตอบคือดูปองท์มีเทคโนโลยีที่ไม่ใช้เมล็ดข้าวโพด แต่จะใช้ส่วนของข้าวโพดที่มนุษย์ไม่ได้กิน เช่น ต้นหรือใบข้าวโพดหรือฝักที่เก็บเมล็ดไปแล้ว มาเข้ากระบวนการหมักเป็น Cellulosic Ethanol เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ทำมาจากชีวมวลหรือ biomass เช่น ใบและซังข้าวโพด หญ้าswitchgrass หรือฟางข้าวสาลี ขณะที่ในประเทศไทยทำจากมันสำปะหลัง แต่ในอนาคตจริงๆ ต้องนำวัสดุเหลือใช้มาทำ”

“อยากบอกว่าจริงๆ เราทำอะไรก็ได้หมดแล้ว เพียงแต่ว่าเราเอาแบคทีเรียอะไรใส่เข้าไป โลกในอนาคตเราจะเห็นโรงงานแบบนี้เต็มใปหมด และทำโน่นนี่ได้หมด ทำน้ำตาลก็ได้ กลูโคสก็ได้ ทำแอลกอฮอล์ ทำเบนซิน ทำโพลิเมอร์ก็ได้ โดยใช้กระบวนการเดียวกัน หมายความว่าเราสามารถใช้พืชที่มีแป้ง ซึ่งข้าวโพดคืออาหารเลี้ยงเชื้อให้แบคทีเรียกิน ดังนั้น มันสำปะหลังที่ประเทศไทยมี หรืออ้อยซึ่งบราซิลมีมาก ก็ใช้ได้”

๐ ไบโอเทค 4 มิติ

สำหรับเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Tech) ของดูปองท์ที่ใช้ในวันนี้ตอบสนองไปที่ด้านต่างๆ 4 ด้านคือ1.ในฟาร์ม สวน ไร่ โดยมีเป้าหมายต่างๆ คือการปกป้องพืชจากแมลงและโรค การเพิ่มผลผลิตจากการเก็บเกี่ยว การเสนอวิธีการปราบวัชพืชใหม่ๆ ลดการกัดกร่อนของดินและคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น การเพิ่มคุณภาพอาหารสัตว์ 2.บนโต๊ะอาหาร โดยสร้างนวัตกรรมใหม่คือน้ำมันที่ให้ประโยชน์มากขึ้น เอนไซม์สำหรับนม และโปรตีนจากพืช 3.ในชีวิตประจำวัน เช่น เส้นใยไฟเบอร์ Sorona® กับวัสดุและเชื้อเพลิงที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และ4.เพื่อโลกวันนี้ โดยมีการจัดการการเกษตรรูปแบบใหม่ การเกษตรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขภาวะทุพโภชนาการ

ยกตัวอย่าง สารโมเลกุลใหม่ๆ ที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ยากำจัดศัตรูพืชใหม่ๆ ที่มีการออกใหม่ 1 ตัวเกือบทุกปี ซึ่งปีที่ผ่านมามีการออกยาตัวใหม่ที่ออกฤทธิ์แบบเจาะจงหรือ target organ โดยให้ออกฤทธิ์ที่กรามของแมลงปากกัดเท่านั้น อย่างเช่น หนอนกอซึ่งอยู่ที่ข้าว ทำให้สัตว์และแมลงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ยุง แมงมุม กบ และเขียด ซึ่งอาศัยอยู่ในนาข้าวไม่ต้องตายไปด้วย เป็นต้น หรืออีกตัวอย่างซึ่งออกฤทธิ์กับแมลงปากดูดที่เป็นศัตรูของมะเขือเทศ และพริก เป็นต้น

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ จากการที่ปลาแซลมอนส่วนมากที่นำมารับประทาน คือ80-90% เป็นปลาแซลมอนเลี้ยง ปัญหาคือกลุ่มเอนจีโอร้องเรียนว่าการรับประทานปลาแซลมอนมีผลต่อปลาเล็กที่ถูกจับไปเป็นอาหารของปลาแซลมอน เพราะปลาแซลมอนมีอัตราแลกเนื้อ 4 ต่อ 1 คือปลาแซลมอนต้องกินปลาสด4กิโลกรัมเพื่อให้ได้น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้น การที่ดูปองท์มีโอเมก้า 3 ที่ทำมาจากข้าวโพด ทำมา 10 ปีแล้ว แต่ทำเป็นแคปซูลให้คนรับประทาน จึงคิดว่าน่าจะสามารถนำมาใช้เลี้ยงปลาแซลมอนได้ แต่แทนที่จะใช้การสกัดเพื่อให้คนกิน ก็นำมาใช้ผสมเป็นอาหารให้แซลมอน

โดยร่วมกับบริษัท “อควาชิลี” ซึ่งดำเนินธุรกิจปลาแซลมอน ทำให้ปลาแซลมอนกินปลาสดเพียง1 กิโลกรัมผสมกับอาหารที่ผลิตขึ้นใหม่ ซึ่งได้ปลาแซลมอนที่ดีกว่าธรรมชาติเพราะกำหนดได้ด้วยว่าจะใช้โอเมก้า 3 แบบใด แบบที่ดีต่อหัวใจหรือดีต่อสมอง ซึ่งของดูปองท์เป็นแบบที่ดีต่อหัวใจ และมีปริมาณเท่าไร ทำให้รับประกันได้ด้วยว่าปลาแซลมอนหนึ่งชิ้นมีปริมาณโอเมก้า 3 เท่าไร รวมทั้ง ยังได้รับการสนับสนุนจากเอ็นจีโออีกด้วย โดยใช้ชื่อแบรนด์ของปลาแซลมอนนี้ว่า “Verlasso” ซึ่งขายในอเมริกาแล้ว เป็นอีกตัวอย่างนวัตกรรมที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ตลาด

นอกจากนี้ มีการพัฒนานวัตกรรม “น้ำมันมะกอกที่ผลิตจากถั่วเหลือง” ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวเป็นศูนย์ การผลิต “เอนไซม์จากนม” เพราะระยะเวลาของการรีดนมวัวจนไปถึงโรงงานใช้เวลานานส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตมาก ทำให้นมไม่สดเสื่อมคุณภาพ ซึ่งดูปองท์มีเอนไซม์ที่ยับยั้งไม่ให้แบคทีเรียเติบโต สำหรับ “โปรตีนจากพืช” คือถั่วเหลือง มาจากการที่ คนจนในเม็กซิโกไม่มีเงินซื้อเนื้อวัวเพราะราคาแพง จึงมีการนำเศษเนื้อที่เลาะจากกระดูกมาผสมกับโปรตีนจากถั่วเหลือง 80-90% แล้วปรับปรุงโครงสร้างของเนื้อใหม่ทำให้ออกมาเป็นชิ้นเนื้อเหมือนกับสเต็กและวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต

สำหรับของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เส้ยใย “Sorona” มีข้อดีคือใช้พลังงานน้อยกว่าปกติ 30กว่า% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 63% เป็นต้น โดยมีเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อผลิต “Sorona” เกือบ 20 เทคโนโลยี เช่น fiber science&engineering , precision patterning, catalysis, biochemistry, microbiology ฯลฯ จะเห็นว่า biotech ไม่ใช่ศาสตร์เดียวที่ดูปอง? นำมาใช้ แต่ผสมด้วย 3 ศาสตร์คือชีวะ - เคมี- วัสดุศาสตร์ ซึ่งดูปองท์เรียกว่า integrated science เป็นวิทยาศาสตร์แบบผสมผสาน (ดูภาพประกอบp2)

“Sorona เป็นเม็ดพลาสติกแล้วทำเป็นเส้นใย จากเส้นใยทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น พรม เสื้อผ้า และวัสดุในรถยนต์ เราใช้เวลาแค่ 4 วันผลิตจากน้ำตาลผ่านกระบวนการออกมาเป็นน้ำ แล้วอีกกระบวนการออกมาเป็นเม็ดทำเป็นโพลิเมอร์ ขณะที่ กระบวนการทางธรรมชาติใช้เวลามาก เช่น น้ำมันจากซากพืชซากสัตว์ทับถมให้แบคทีเรียกินให้ราย่อยใช้เป็นล้านปี”

“หรือไม่ทำเป็นเม็ดแต่ออกเป็นโปรดักต์ชื่อ Zemea อยู่ในเครื่องสำอางให้ความชุ่มชื้น เป็นส่วนผสมที่มีข้อดีคือไม่แพ้ อีกตัวชื่อ Susterra เป็นสารที่ผสมในหม้อน้ำทำให้ไม่แข็งตัว เพราะจุดเยือกแข็งและจุดหลอมเหลวต่ำมาก ใช้ล้างเครื่องบินในฤดูหนาวซึ่งบินไม่ได้เพราะมีน้ำแข็งเกาะ”

ที่กล่าวมาเป็นการยืนยันว่า การเตรียมพร้อมด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการให้คำตอบของความท้าทายระดับโลกได้อย่างดีแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะนำมาใช้เมื่อไร

มุ่งสร้างนวัตกรรม

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ปีที่แล้วดูปองท์ใช้งบวิจัย 2 พันล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 6-7 หมื่นล้านบาท หรือ 6%ของยอดขาย ซึ่งที่อื่นๆ ส่วนใหญ่ใช้เพียง 1%เท่านั้น สำหรับประเทศไทยใช้ 0.2%

มีศูนย์วิจัยใหญ่อยู่ทั่วโลก 150 แห่ง มีนักวิจัยมากกว่า 1หมื่นคนจากพนักงานทั้งหมด 6 หมื่นคน

จดสิทธิบัตรในอเมริกาปีละประมาณ 1,000 สิทธิบัตร และนอกอเมริกา 2,500-2,600 สิทธิบัตร (เป็นแบบนี้มาเป็นสิบปีแล้ว) คิดเป็นวันละประมาณ 10 สิทธิบัตร

มีสินค้าใหม่ปีละประมาณ 2,000 รายการ ติดต่อกันมาประมาณ 5-6 ปีแล้ว โดยยอดขายประมาณ 1 หมื่นล้านบาทมาจากสินค้าใหม่ ซึ่งสินค้าใหม่ของดูปองท์หมายถึงสินค้าที่ออกตลาดไม่เกิน 4 ปี เพราะ“ใหม่”แปลว่าไม่มีคู่แข่งและมีสิทธิบัตร (ถ้ามีคู่แข่งจะขายทันทีและขายทั้งธุรกิจ เช่น ธุรกิจไนล่อนที่ขายไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และกลายเป็นมีการพัฒนาดีขึ้นเพราะโฟกัส หรือการขายไลเซนต์ เช่น หม้อน้ำรถยนต์ซึ่งดูปองท์ขายไลเซนต์ให้เดนโซ่ขายทั่วโลก)

มีสโลแกน “ Global Collaboratory” เมื่อ 3 -4 ปีที่แล้ว เพื่อสร้างพันธมิตรทั่วโลก เช่น ร่วมมือกับบริษัทอควาชิลิตั้งบริษัทใหม่ทำปลาแซลมอนเวอร์ลาสโซ และมีบริษัท Joint Venture Technology คือการร่วมทุนด้านเทคโนโลยี 16 แห่งในญี่ปุ่น เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการธุรกิจที่ขยายออกไป

คำตอบของประเทศไทย

การตอบโจทย์ใหญ่ทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ในส่วนของประเทศไทย นายสัตวแพทย์สมชาย เสาห์วีระพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คำแนะนำคือเรื่องการวิจัยและพัฒนา ซึ่งประเทศไทยมีงบประมาณค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ภาครัฐจึงควรจะสนับสนุนเอกชนให้ทำงานวิจัยและพัฒนาให้ดีขึ้น หรือรัฐบาลเองควรจะมีโครงสร้างที่เอื้ออำนวยในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา อีกทั้ง เรื่องการพัฒนานักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ซึ่งประเทศไทยขาดแคลน
รวมถึง ควรจะมีการร่วมมือกันมากขึ้นด้านเทคโนโลยีระหว่างรัฐกับเอกชน และสามารถทำให้เทคโนโลยีที่บริษัทเอกชนนำมาได้รับการปกป้องดูแลโดยโครงสร้างกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ

“โลกมีทางออกและทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยี โลกอนาคตดีกว่าโลกในปัจจุบัน ถ้าทุกคนมีนวัตกรรมในหัวใจ ประเทศไทยมีทางออกเพราะวันนี้เทคโนโลยีมีอยู่แล้ว ควรทำแบบญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ด้วยการซื้อไลเซนต์เทคโนโลยีมาพัฒนาต่อ เช่น ดูปองท์ไม่ได้เก่งตั้งแต่วันแรก เราซื้อมาแล้วพัฒนาต่อ อย่างโซล่าร์เซล ดูปองท์เก่งคริสตัลไลน์ ไม่เก่งตินฟล์ม แต่เพราะเชื่อว่าอนาคตคือตินฟิล์ม จึงไปซื้อเทคโนโลยีตินฟิล์มมาให้นักวิจัยพัฒนาต่อเป็น advance research”
กำลังโหลดความคิดเห็น