HR เคทีซีเปิดแนวรุกตามแนวคิดหลัก Make it better เตรียมพร้อมสู่เป้าหมายเป็นผู้นำบัตรเครดิตในปี 2020 เดินหน้าพัฒนาคนผ่าน 8 Core Value เริ่มต้นเน้นวางพื้นฐานและเรื่องภาวะผู้นำ
อุบลรัตน์ บุษยะกนิษฐ์ ผู้บริหารสูงสุด - ทรัพยากรบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ“เคทีซี” กล่าวถึงการขับเคลื่อนองค์กรของเคทีซีเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นที่ 1 ของผู้ให้บริการบัตรเครดิตภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2020 ตามที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระเฑียร ศรีมงคล กล่าวไว้ เธอกล่าวว่าในส่วนของการพัฒนาบุคลากรได้นำ 8 Core Value หรือค่านิยมหลักขององค์กรมาใช้เป็นแนวปฏิบัติ ตามแนวคิดหลักที่กำหนดไว้คือ Make It Better โดยเริ่มจากการคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนในองค์กรตระหนักรู้ในสิ่งที่มีและให้ความสำคัญ
ดังนั้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมาจึงมีการเปิดอบรมให้กับพนักงานทุกคน และมีการวัด Baseline โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นไลฟ์สไตล์หรือธรรมชาติของคนเคทีซีอยู่แล้วกับส่วนที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้รู้ถึงจุดอ่อนที่ต้องพัฒนาต่อไป
สำหรับโปรแกรมการพัฒนาส่วนหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับ core value เช่น เรื่อง Team Spirit เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาไปสู่ภาวะผู้นำ หรือ Leadership Program เช่น เรื่อง Corporate Governance , เรื่อง IT Awareness , เรื่อง Presentation เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการไปสู่แนวคิดหลักคือ Make It Better ได้วางองค์ประกอบไว้ 3 ด้านคือ Live Better - Work Better - Think Better โดยในส่วน Live Better เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กร ซึ่งดีอยู่แล้วให้คงอยู่แบบเดิม เพียงใส่ใจให้อยู่ใน Core Value 3 เรื่องพื้นฐาน คือ Simple - Modern - Fun เช่น ไม่ต้องผูกมัดกับการแต่งตัว แต่ต้องรู้กาลเทศะ ไม่ผูกมัดกับเวลางาน แต่รับผิดชอบตามหน้าได้อย่างดีเพราะมีพนักงานมากกว่าครึ่งที่มาไม่ทันแปดโมงเช้าแต่กลับหลังห้าโมงเย็น
แต่ส่วนที่ต้องทำให้ดีกว่าเดิมคือ Work Better และ Think Better เพื่อนำไปสู่ Core Value 5 เรื่อง คือ Dynamic - Differentiate - Co ordinate - Ownership - Professional เช่น การพัฒนาผู้บริหารระดับสูง (first line) ไปเป็น coach พัฒนาผู้บริหารระดับกลางให้เป็น creative thinker พัฒนาผู้บริหารระดับต้นให้เป็น developer และพัฒนาพนักงานทั่วไปให้เป็น operator
“เราพยายามแบ่งกลุ่มการพัฒนา โดยอายุเป็นปัจจัยหนึ่ง เช่น คนที่เป็นผู้บริหารระดับสูง หรือ first line แต่อายุยังน้อยไม่ถึงห้าสิบ จะเป็นได้ทั้ง coach และ developer แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือใครเป็นคนขับเคลื่อนองค์กร ส่วนใหญ่คือผู้บริหารระดับกลาง หรือ second line จึงต้องพยายามพัฒนากลุ่มนี้ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาอีก”
“เรื่องค่านิยมองค์กร หรือ core value เรามีมานานแล้วและมีการเผยแพร่มาก แต่ไม่ได้วางกรอบจริงจัง ขณะที่ วันนี้มีวิสัยทัศน์สู่การเป็นเบอร์ 1 เราจึงต้องเร่งพัฒนาคน โดยจะเลือก core value ที่แข็งแรงน้อยที่สุดมาพัฒนาก่อน โดยดูจาก baseline ที่ทำไว้ เพราะทั้ง 5 ตัวดังกล่าวสำคัญต่อการไปสู่เป้าหมาย ดังนั้น ในปีนี้จึงเน้นการพัฒนา core value และ leadership ให้สอดคล้องกันไป”
สำหรับความแตกต่างเรื่อง Generation ของคนในองค์กร เนื่องจากเคทีซีมีกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ประมาณ 4% ของพนักงานทั้งหมดเท่านั้น และยังเป็นเบบี้บูมที่ใช้ไฮเทค ขณะที่เจนเอ๊กซ์มีประมาณ 35% มีความเป็นตัวของตัวเอง และเจนวายมีประมาณ 61% กล้าแสดงออกอยู่แล้ว และตามปกติกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ใช้ “การสอน” มากกว่า “การสั่ง” อยู่แล้ว ทำให้เกิดความใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากองค์กรอื่นๆ ที่อาจจะมีปัญหาเรื่อง Generation
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของดาวเด่น หรือ Talent ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง เพราะต้องการเน้นเรื่องการวางพื้นฐานและเรื่องภาวะผู้นำ เพราะการทำงานได้ดีขึ้นกับภาวะผู้นำเพื่อจะขับเคลื่อนทุกอย่างให้ได้ ขณะเดียวกัน พนักงานทั้งหมดประมาณสองพันคนต้องวิ่งในจังหวะเดียวกัน ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน