xs
xsm
sm
md
lg

ความมีวินัยแต่ขาดความรับผิดชอบ กับมีความรับผิดชอบแต่ขาดวินัย แบบไหนดีกว่ากัน โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บ.ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: ความมีวินัย แต่ขาดความรับผิดชอบ เช่น เข้างานและ กลับตรงเวลา แต่ทำงานไม่ได้ตามกำหนดกับ ขาดวินัยแต่รับผิดชอบ เช่น เข้างานสาย แต่งานเสร็จเรียบร้อย คิดว่า แบบไหนดีกว่ากันครับ

A: โอ้โห หาคำตอบให้ยากมากเลยครับ แว๊ปแรกที่อ่าน มีคำถามในใจทันทีว่า "เราต้องเลือกคนใดคนหนึ่งเหรอครับ ไม่เลือกทั้ง 2 คนเลยไม่ได้หรือ"

คนแบบแรก (ทำงานไม่ดีแต่มีวินัย) ถึงแม้จะมาทำงานตรงเวลา แต่เข้าข่ายทำงานแบบซังกะตาย ไม่ได้ทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ หัวหน้าต้องปวดหัว คอยจำจี้จำไชกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
คนแบบหลัง (ทำงานดีแต่ไม่มีวินัย) แม้มีผลงานดี แต่พฤติกรรมบางอย่าง จะกลายเป็นต้นแบบ ที่ไม่ดีกับคนอื่นๆ และอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาในวงกว้าง

นี่คือเหตุผลที่ผมอยากเสนอว่า ถ้าเป็นไปได้ ไม่ต้องเลือกทั้ง 2 คน เพราะต่างนำปัญหามาให้ทีมงานและ องค์กรในลักษณะที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ชีวิตอาจไม่สวยงามอย่างที่ว่า ดังนั้น หากไม่มีทางเลือกจริงๆ ควรทำอย่างไร

1. ลองวิเคราะห์ดูว่า ณ ขณะนี้ อะไรสำคัญที่สุดสำหรับองค์กรของคุณ "ผลงาน" หรือ "ความมีวินัย"

2. หากคำตอบคือ "ผลงาน" สำคัญที่สุด ณ เวลานี้ ก็ให้เลือกคนที่มีผลงานดี (แต่ขาดวินัย) เพียงแต่ต้องหาโอกาสพูดคุย กับพนักงานคนนี้ว่า การมาทำงานตรงเวลา เป็นเรื่องที่หัวหน้าและองค์กรให้ความสำคัญ จึงต้องการเห็นเขาปรับปรุงตัวในด้านนี้ รวมทั้งอธิบายให้เข้าใจด้วยว่า ผลงาน กับ พฤติกรรม เป็นเรื่องที่แยกจากกัน หมายความว่า ผลงานดี ไม่ได้แปลว่า จะทำตัวอย่างไรก็ได้ คนที่ผลงานดี ต้องมีพฤติกรรมเหมาะสม ตามที่องค์กรคาดหวังด้วย ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยคือ พนักงานอ้างว่า "ทีคนอื่นยังมาสายได้" หาก "คนอื่น" ที่พนักงานอ้างถึง เป็นบุคลากรในปกครองของคุณด้วย ก็เป็นหน้าที่ที่คุณต้องแก้ไข เพราะในการบริหารจัดการ ควรมีมาตรฐานเดียวกันกับทุกๆ คน หาก "คนอื่น" ที่พนักงานอ้างถึง เป็นบุคลากรนอกหน่วยงานที่คุณดูแล ให้บอกพนักงานว่า "เรื่องนั้นนอกอำนาจการควบคุมของคุณ" แล้วกลับมาโฟกัสที่ตัวพนักงาน อธิบายให้เข้าใจว่า เหตุใดการมาทำงานตรงเวลา จึงเป็นเรื่องสำคัญและ จำเป็นสำหรับงานที่เขารับผิดชอบอยู่

3. หากคำตอบ คือ ณ ช่วงเวลานี้ "ความมีวินัย" สำคัญกว่า "ผลงาน" ก็เลือกคนที่มีวินัยดี (แต่ขาดความรับผิดชอบ) จากนั้นต้องยอมสละเวลา พูดคุยกับพนักงาน เพื่อกำหนดเป้าหมายในการทำงานและ กำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้ชัดเจน โดยซอย KPI ให้ย่อยลงเป็นรายสัปดาห์ แทนที่จะเป็นรายเดือน หรือ รายไตรมาสแบบที่ผ่านมา จากนั้น ตกลงวิธีการติดตามความคืบหน้าทุกๆ 1-2 อาทิตย์ เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานค่อยๆ ดีขึ้น

4. ในระหว่างที่ต้องเลือก คนใดคนหนึ่งทำงานให้อยู่ อยากให้คิดว่า การตัดสินใจนี้เป็นมาตรการระยะสั้น หากทั้ง 2 คนนี้ ไม่ปรับปรุงตัว ก็จำเป็นต้องหาคนอื่นมาแทน ในระยะยาว ดังนั้นในฐานะหัวหน้า คุณควรมองหา "ตัวตายตัวแทน" เข้ามาเรียนรู้งาน หรือทำงานแบบประกบคู่ไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า หากวันหนึ่งต้องตัดสินใจขั้นเด็ดขาด จะไม่มีผลกระทบต่องานที่ทำอยู่ เพราะ "ตัวเลือก" ที่มี ไม่ใช่ลักษณะของบุคลากรที่องค์กรต้องการ ไม่ว่าองค์กรของคุณ หรือองค์กรไหนๆ

ลองดูครับ ได้ผลอย่างไร อย่าลืมเล่าสู่กันฟัง

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น