Q : ผมทำงานในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ในช่วงหน้าหนาว ตอนเช้าอากาศค่อนข้างเย็น บริษัทปิดแอร์บ้าง เพื่อประหยัดไฟฟ้า มาระยะหลังนี้อากาศเริ่มเย็นน้อยลง เช้ามาก็เปิดแอร์ พอเริ่มเย็นก็ปิดแอร์ ผมเป็นคนค่อนข้างไวกับอากาศที่มีฝุ่น ผมเคยเปรยว่า อากาศในห้องมีฝุ่นมาก ผู้บริหารก็ไม่เห็นจัดการอะไร ว่าควรจะล้างแอร์ หรือหาช่างมาดูแลจัดการให้จบ พนักงานก็ทำงานแบบทนสภาพกันไป ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ก็ไม่ได้สนใจ หรือไม่ได้คิดคำนึงถึงเรื่องนี้ จะขอความช่วยเหลืออะไร ก็ไม่ง่ายครับ อาจารย์จะมีคำแนะนำเรื่องนี้อย่างไรดีครับ
A : ฟังดูเป็นที่เข้าใจได้ว่าช่วงอากาศหนาวก็ปิดแอร์ นอกจากช่วยให้ได้อากาศดีๆ สดชื่นๆ จากภายนอกแล้ว ยังได้ประหยัดค่าไฟไปในตัว พออากาศร้อนขึ้น ก็กลับมาเปิดแอร์อย่างเดิม เพียงแต่คราวนี้ ปิดเร็วกว่าปกติ นัยว่าจะได้ " ช่วยกัน ประหยัดค่าไฟ " อีกสักนิด
เป็นไปได้ไหมว่า เจ้านายก็ทราบว่า พนักงานอึดอัดกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น หลังปิดแอร์แล้วประกอบกับมีฝุ่นมากขึ้นบ้าง แต่เป็นเพราะช่วงนี้มีวิกฤตหลายอย่าง ประดังประเดเข้ามาทั้งการเมืองและ เศรษฐกิจ ทำให้ยอดขายของบริษัทไม่ค่อยดี อะไรที่ประหยัดได้เลยต้องช่วยกันประหยัดก่อน เพียงแต่ผู้บริหาร อาจไม่ได้สื่อสารให้ชัดเจน ถึงสาเหตุที่แท้จริง ที่ต้องปิดแอร์ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะเกรงว่า อาจจะทำให้พนักงานรู้สึกเสียขวัญและ กำลังใจกันไปใหญ่ นอกจากนั้นฟังดูเหมือนว่า HR ที่ควรทำหน้าที่ ช่วยสร้างความเข้าใจ ระหว่างองค์กรกับพนักงาน ก็ตัดสินใจ " ใส่เกียร์ว่าง " อีกต่างหาก ปัญหาเลยเกิดขึ้น
อันที่จริงลูกค้าหลายๆ องค์กรของผม ก็ประสบปัญหายอดขายไม่กระเตื้อง เลยต้องตัดค่าใช้จ่ายกันพัลวันเหมือนกัน มองอีกมุม ก็เข้าใจองค์กรนะครับ
อย่างไรก็ตาม หากบรรยากาศในที่ทำงาน มันแย่จนทนไม่ได้ ผมแนะนำว่าควรหาโอกาสพูดคุยกับหัวหน้าโดยตรงของคุณ แบบตรงไปตรงมาดีกว่าพูดลอยๆ หรือพูดเปรยๆ อย่างที่เคยทำ เพราะอาจทำให้เขารู้สึกว่าคุณก็แค่ " ขี้บ่น " เท่านั้น ไม่ได้มีอะไรซีเรียสจริงจัง
ก่อนพูดทำการบ้านสักนิด
1. ลองถามเพื่อนๆ ดูซิว่าคนอื่นๆ เขารู้สึกเหมือนคุณหรือเปล่า มีสักกี่คน ส่วนน้อย หรือส่วนใหญ่ เพื่อให้หัวหน้าแน่ใจและ เข้าใจว่า คุณไม่ได้เรื่องมากอยู่คนเดียว
2. ลองถามพี่ๆ คนอื่นๆ ที่อยู่กับบริษัท มานานกว่าคุณว่า เขารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ หากเขาก็รู้สึกเหมือนกับที่คุณรู้สึก ทำไมเขายังทนกับสภาพแบบนั้นอยู่อีก เพื่อเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร ให้ลึกซึ้งขึ้น เพราะคนที่อยู่มาก่อนและ อาวุโสกว่าคงผ่านร้อนผ่านหนาวมาบ้าง
3. หาเรื่องไปหาหมอสักหน่อย ดีไหมครับ ให้หมอตรวจเช็คอาการ ดูว่าฝุ่นในที่ทำงาน มีผลกับสุขภาพของคุณอย่างไรบ้าง เพื่อให้การพูดคุยดูมีน้ำหนักมากขึ้น
4. มองหาทางเลือกอื่นๆ ก่อน เช่น ย้ายไปนั่งทำงาน ในห้องที่มีฝุ่นน้อยหน่อย เอาผ้ามาปิดจมูกให้หัวหน้าเห็น เอาพัดลมอันเล็กๆ มาเปิดหลังปิดแอร์แล้ว เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า คุณได้พยายามหาแนวทางการแก้ปัญหาแบบอื่นๆ แล้วก่อนที่จะมาคุย
เมื่อ เข้าไปพูดคุย ให้พูดทำนองว่า " มาขอปรึกษา " และพูดคำว่า " ผม " ให้บ่อยกว่าคำว่า " หัวหน้า " หรือ " บริษัท " เข่น พูดว่า " ในช่วงปิดแอร์ ผมรู้สึกอึดอัด เหมือนอากาศไม่ค่อยพอ " ดีกว่าพูดว่า " บริษัทน่าจะเห็นใจพนักงาน ที่ต้องนั่งทำงาน อยู่จนเย็นด้วย " หรือ " หัวหน้าน่าจะไปพูดกับผู้บริหาร เรื่องให้เปิดแอร์ ตามปกติ " เป็นต้น
สีหน้าท่าทาง ต้องดูนอบน้อม อย่าแสดงความก้าวร้าว เบื่อหน่ายหรือ เอือมระอา ทำทีว่าที่มาคุยนี่คือ อยากมาปรึกษาว่าตนเอง " ควรแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น กับสุขภาพของตัวเอง " อย่างไรดี
หลังจากพูดจบ ไม่ต้องคาดหวังผล หากไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็อย่าโกรธหรือ เสียใจ เพราะเราทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว เราใช้สิทธิที่มี อย่างเต็มที่แล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของ พนักงานที่ดีที่จะต้องปฏิบัติตาม นโยบายของผู้บริหารและ องค์กร
สุดท้ายหากไม่ไหวจริงๆ ก็คงต้อง ตัดสินใจครับว่า จะยังคงทำงานที่นี่อยู่ต่อไปหรือไม่
แนะนำได้เท่านี้ ลองพิจารณาดู เลือกทำเท่าที่โอกาสและ วัฒนธรรมขององค์กรอำนวยนะครับ
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com