xs
xsm
sm
md
lg

เฮย์กรุ๊ป เผยกุญแจ 6 ประการ สร้าง HR เป็นคู่คิดเชิงกลยุทธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภานุวัฒน์ กาญจะโนสถ
โจทย์ยากที่ท้าทายของ HR คือการสร้างหรือออกแบบระบบ เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่มีความหลากหลาย เผยเปลี่ยนบทบาท HR ให้กลายเป็น Strategic partner ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนะคติให้เปิดกว้าง และยอมรับความคาดหวังที่เปลี่ยนไป

เป็นที่ทราบกันดีว่าการบริหารธุรกิจในปัจจุบันนี้ ไม่ได้เน้นเพียงแค่การแข่งขันด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลยุทธ์ด้านบุคลากรก็นับเป็นสิ่งสำคัญต่อการบริหารองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริหารและผู้นำในองค์กรต่างก็ให้ความสำคัญในการบริหาร “คน” เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาพนักงาน สร้างให้พนักงานเกิดความผูกพันต่อองค์กร บริหารองค์กร รวมไปถึงรักษาผู้ที่มีความสามารถไว้ เพื่อสร้างโอกาสการแข่งขันและขับเคลื่อนผลประกอบการทางธุรกิจ

​“นับเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่สำคัญของเอชอาร์” นายภานุวัฒน์ กาญจะโนสถ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัทเฮย์กรุ๊ปกล่าว “ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เอชอาร์เป็นหน่วยงานที่ถูกคาดหวังให้ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ เพราะเอชอาร์เป็นผู้ที่สามารถให้แนวทางและข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญแก่ผู้นำได้ ทั้งในเรื่องการสร้างประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและองค์กร รวมไปถึงปัจจัยที่ผลักดันผลการปฏิบัติงานของธุรกิจ”
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของ เฮย์กรุ๊ป ผู้นำทางธุรกิจส่วนใหญ่เห็นว่าบทบาทของเอชอาร์ยังไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง และเอชอาร์ถึงเกือบสองในสามเองก็เห็นด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

เฮย์กรุ๊ป ได้เผยถึงกุญแจสำคัญ 6 ประการ ในการสร้างให้เอชอาร์เป็นคู่คิดเชิงกลยุทธ์ตัวจริง (Real Strategic Partner) ขององค์กร โดยไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ธุรกิจในวันนี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความต้องการในอนาคตด้วย

1. เข้าใจ สอดรับ และสนับสนุนกลยุทธ์ทางธุรกิจ

เพื่อสร้างให้เอชอาร์เป็นคู่คิดและสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริหารองค์กรได้นั้น เราต้องเข้าใจและสามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ คน และงานได้ โดยเริ่มจากการตั้งคำถาม เช่น ความต้องการด้านบุคคลากรแบบไหนที่องค์กรต้องการเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ในอีก 5 ปีข้างหน้าได้

การหาคำตอบของคำถามนี้จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธุรกิจ และความเข้าใจในผลกระทบของปัจจัยภายนอกต่อความต้องการด้านทรัพยากรบุคคลขององค์กร รวมทั้งสภาวะทางเศรษฐกิจ กิจกรรมของคู่แข่ง แนวโน้มตลาดและอุตสาหกรรม กฎข้อบังคับต่างๆ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเอชอาร์ต้องไม่เพียงแต่เข้าใจเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถแปลงความเข้าใจเหล่านั้นเป็นแผนกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลได้ โดยต้องมุ่งเน้นให้เกิดความเหมาะสมใน 5 มิติ กล่าวคือ มีจำนวนบุคคลากรที่เหมาะสม โดยมีทักษะความรู้ที่ใช่ ในตำแหน่งหน้าที่ที่ตรงกับความสามารถ ในระดับชั้นงานที่ถูกต้อง ภายใต้ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

2. ทำสิ่งที่ควรทำ

การจะเป็นคู่คิดด้านกลยุทธ์ขององค์กรนั้น เอชอาร์ต้องเข้าใจและสามารถลำดับความสำคัญของแผนกลยุทธและความต้องการในด้านต่างๆ เพื่อกำหนดแผนการทำงานเพื่อให้รองรับกับความต้องการในระดับต่างๆ ทั้งระดับพื้นฐานและระดับสูง และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นในเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบกับธุรกิจสูง และจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นให้สามารถดำเนินการตามแผนงานได้สำเร็จ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงความต้องการที่มีความสำคัญในอนาคตด้วย ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีผลกระทบในปัจจุบันเท่านั้น

3. รู้ว่าจุดไหนต้องแตกต่าง และจุดไหนต้องเป็นมาตรฐาน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาองค์กรพยายามสร้างระบบเอชอาร์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้ แต่นำไปสู่ความสิ้นเปลืองทั้งทางด้านทรัพยากรและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ในปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างความแตกต่างในการระบบและการให้บริการให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น เอชอาร์จำเป็นต้องเข้าใจว่าความยืดหยุ่นในระดับไหนที่สอดคล้องกับที่ต้องการ ทั้งในด้านความแตกต่างทางกลุ่มธุรกิจ ตลาด ภูมิภาค หรือความแตกต่างระหว่างกลุ่มพนักงาน

หากเอชอาร์สามารถรักษาความยืดหยุ่นภายใต้กรอบที่เหมาะสม รวมถึงเข้าใจประโยชน์จากการสร้างระบบหรือการให้บริการที่มีรูปแบบที่แตกต่าง เราก็จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาองค์กรให้มีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์อย่างไม่สิ้นเปลือง

4. สร้างแผนปฏิบัติงานที่รองรับทั้งปัจจุบันและอนาคต

การมีรูปแบบการดำเนินงานและโครงสร้างของเอชอาร์ที่เหมาะสมในวันนี้และพร้อมรองรับการขยายตัวของความต้องการในอนาคตนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่เอชอาร์ต้องคำนึงถึงในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ ต้องสามารถแปลงกิจกรรมเอชอาร์ให้เป็นนโยบายและกระบวนการทำงานในรายละเอียด โดยใช้จำนวนและระดับความสามารถของผู้มีความสามารถอย่างเหมาะสม ในโครงสร้างงานและตำแหน่งงานที่เหมาะสม โดยอาศัยข้อมูลและเทคโนโลยีที่เหมาะสม นอกจากนั้นยังต้องมีการกำกับดูแลและการบริหารผลการปฏิบัติงานที่เหมาะสมเพื่อให้มั่นใจว่ารูปแบบการดำเนินงานของเอชอาร์เหมาะสมกับความต้องการในปัจจุบันและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

5. มุ่งเน้นการนำไปปฏิบัติอย่างยั่งยืน

โจทย์ที่ยากของเอชอาร์อย่างหนึ่งคือการสร้างหรือการออกแบบระบบเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่มีความหลากหลาย ซึ่งความสำคัญไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบเท่านั้น แต่คือการนำระบบไปดำเนินงานอย่างยั่งยืน การสร้างการรับรู้และการยอมรับและในความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความคล่องตัวและความได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจ ทั้งนี้ การดำเนินงานอย่างยั่งยืนและการสร้างความยอมรับในการเปลี่ยนแปลงนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการในวันข้างหน้าโดยต้องออกแบบให้รองรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบระบบหรือกระบวนการย่อย หรือระบบที่เชื่อมโยงกันทั้งองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ

6. เพิ่มขีดความสามารถของเอชอาร์

สิ่งสำคัญสำหรับการเป็นคู่คิดเชิงกลยุทธ์ของเอชอาร์ ที่เหมาะสมกับทั้งปัจจุบันและอนาคต คือการสร้างทีมเอชอาร์ที่มีความมั่นใจ มีความสามารถ และคล่องแคล่ว หากเอชอาร์สามารถพัฒนาทีมของตนให้มีทักษะที่มีความจำเป็นเพื่อให้ทีมสามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมธุรกิจ สามารถแปลงกลยุทธ์องค์กรเป็นให้เป็นแผนทรัพยากรมนุษย์ตามความต้องการองค์กร และสามารถสนับสนุนองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายเอชอาร์ก็จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านกลยุทธ์ให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างแน่นอน

“สิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงบทบาทเอชอาร์ให้กลายเป็น Strategic partner ได้นั้นคือการเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนะคติของคนให้เปิดกว้าง และยอมรับความคาดหวังที่เปลี่ยนไป นอกจากนั้นยังต้องมีการวางแผนพัฒนาบุคคลากรเพื่อพัฒนาคนเอชอาร์ให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความคาดหวังขององค์กร โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจในธุรกิจขององค์กรเพื่อสร้างให้เอชอาร์มีความมั่นใจในการพูดคุย ให้คำปรึกษา และเป็น Strategic partner ให้กับองค์กร ขณะเดียวกัน องค์กรก็สามารถเชื่อมั่นได้ว่าเราสามารถสร้างความสำเร็จให้ตรงกับความคาดหวังขององค์กรได้เช่นกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น