ชี้แนวทางธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืนด้วยหลักยึด “เกิดขึ้น-คงอยู่-ยั่งยืน” บนแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวคือการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บวกกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง เผยโรงงานเข้าสู่กระบวนการรักษ์โลกระดับที่ 4 คาดกลางปีนี้ออกเกณฑ์ระดับที่ 5 ให้ได้ใช้ ย้ำผู้บริหารต้องปรับทัศนคติรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก
วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจในวันนี้ว่า หลักศาสนาพุทธที่บอกว่าทุกสิ่งในโลกนี้ “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” แต่สำหรับธุรกิจจะต้องใช้หลักยึด”เกิดขึ้น-คงอยู่-ยั่งยืน” เพราะเมื่อธุรกิจสามารถอยู่ได้อย่างกลมกลืนกับสังคมจะสามารถอยู่ได้ยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน ดังนั้น แนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวจึงเข้ามาแทรกได้พอดีและกลมกลืนไปกับกระแสโลกคือการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น
เมื่อมองว่าอุตสาหกรรมใดจะอยู่รอดได้ในอนาคต คำตอบที่ทิศทางที่จะก้าวไปสำหรับการตลาดในอนาคตอนาคตจึงเป็นการตลาดที่ปราศจากสีเขียวหรือการใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และการรับผิดชอบต่อสังคมไม่ได้ รวมทั้ง ยังต้องเป็นการตลาดที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม
“นี่คือสิ่งที่ตกผลึกจากกระแสโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต องค์กรที่เติบโตอยู่ในวันนี้และอนาคตคือองค์กรที่สามารถมองอนาคตและชี้นำให้ไปในทิศทางนั้น เช่น ยิลเล็ตต์ ฯลฯ ยิ่งการเป็นองค์กรสีเขียวอย่างจริงจังจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคที่ชัดเจนจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน”
อนาคตของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม คือการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การนำนวัตกรรมมาใช้ การพัฒนาตนเอง และการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ และเพื่อตอบโจทย์การอยู่รอดของอุตสาหกรรมในอีก 20 ปีข้างหน้า จึงเกิดการจัดทำ มอก.9999 ด้วยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางโดยมี 3 องค์ประกอบคือ “ความมีเหตุมีผล - การรู้จักพอประมาณ - การสร้างภูมิคุ้มกัน” และ 2 เงื่อนไขคือ “ความรู้ คู่คุณธรรม” โดยยึดหลัก 4 ประการคือ ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ต้องเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ต้องคิดแบบครบวงจร (ต้นน้ำ -กลางน้ำ -ปลายน้ำ) และต้องบริหารอย่างเป็นระบบ
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมสีเขียว ในวันนี้ประเทศไทยตื่นตัวขึ้นมากกับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานขนาดใหญ่ให้ความสำคัญมากกว่าขนาดกลางและเล็ก อาจเป็นเพราะโรงงานขนาดใหญ่มีความสามารถมากกว่า และมีบุคลากรที่มีคุณสมบัติพร้อมกว่า
มีผลวิจัยจากอเมริกาบอกว่าใน 40 ปีข้างหน้า สินค้าที่ไม่มีฉลากเขียวหรือ green lable จะอยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ไม่มีโรงงานที่ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่อาจจะลงมือทำประมาณ 70% เท่านั้น ส่วนการที่โรงงานต่างๆ ที่อยู่ในแนวทางของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวยังมีน้อย เพราะผู้ประกอบการต้องการเห็นผลอย่างรวดเร็ว แต่การดำเนินการในเรื่องนี้ต้องใช้เวลา ประกอบกับโรงงานต่างๆ มีความกังวลว่า ในการปรับปรุงต่างๆ ในช่วงแรกๆ อาจจะเกิดการสะดุดในบางส่วน ดังนั้น กระทรวงฯ จึงต้องให้คำแนะนำและทำให้เห็นว่าจะคุ้มค่าในระยะยาว เช่น การปรับปรุงด้านการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงด้านความปลอดภัย เป็นต้น
สำหรับแนวคิดหลักของอุตสาหกรรมสีเขียวมี 2 เรื่องคือหนึ่ง ต้องมีวิญญาณของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในกระบวนการผลิต เพื่อให้มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เดิมเคยใช้น้ำ ใช้สารเคมี ใช้ของเสียอย่างมาก วันนี้ต้องใช้น้อยลง เป็นต้น สอง ต้องมีวิญญาณการประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากการที่กระทรวงฯ ได้ส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่ปี2554 ปัจจุบันมีสถานประกอบการเจ้าร่วมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวแล้วกว่า 11,375 โดยแบ่งเป็นระดับที่หนึ่ง ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) 6,477 ราย ระดับที่สอง ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) 2,713 ราย ระดับที่สาม ระบบสีเขียว (Green System) 2,155 ราย และระดับที่สี่ วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) 30 ราย ส่วนระดับที่ห้า เครือข่ายสีเขียว (Green Network) ยังอยู่ในระหว่างการกำหนดเกณฑ์
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2558 จากโรงงานประเภท 3 ทั้งหมดที่มีกว่า 7 หมื่นราย จะมีโรงงานประเภท 3 ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกรายคือประมาณ 2 หมื่นกว่ารายต้องเป็นโรงงานที่อยู่ในแนวทางของอุตสาหกรรมสีเขียว โดยอย่างน้อยเข้ามาอยู่ในระดับที่หนึ่งเพื่อพัฒนาต่อไปจนถึงระดับที่ห้า
“เรามีความมุ่งมั่นจริงๆ เพราะหลักเกณฑ์ที่เราออกมา เราจะเรียกชาวบ้าน โรงงาน นักวิชาการ มาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกฎเกณฑ์ที่เราจะนำมาใช้ในขั้นที่ห้า ซึ่งคาดว่าภายในกลางปี 2557 นี้จะสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้มีข้อดี 2 ประการคือหนึ่ง การกระตุ้นให้คนทุกส่วนมีส่วนร่วม และสอง การตื่นตัวตั้งแต่แรกจะทำให้ยอมลงมือทำได้ง่ายขึ้น”
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทิ้งท้ายว่า ความท้าทายวันนี้คือการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องให้ได้ ซึ่งหมายถึงความยั่งยืนโดยต้องมองว่าเราจะรวยอย่างเดียวโดยไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เพราะเป็นกระแสโลกที่กำลังมีความต้องการมากขึ้น สำหรับผู้บริหารต้องปรับทัศนคติด้วยการยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้