xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ สงขลา เปิดบ้านให้ข้อมูลพื้นฐานประจำปี 2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้ว่าฯ สงขลา เปิดบ้านให้ข้อมูลพื้นฐานประจำปี 2557 ในฐานะหัวหน้าครัวเรือนแก่ผู้จัดเก็บข้อมูลในพื้นที่เขตเทศบาลนครสงขลา เพื่อแก้ไขคุณภาพชีวิตของครัวเรือน

วันนี้ (27 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ถนนสะเดา ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลแก่ผู้จัดเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือน ในปี 2557 จำนวน 30 ตัวชี้วัด หลังสัมภาษณ์ข้อมูลครบถ้วนทุกข้อแล้ว ผู้ว่าฯสงขลา ได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าได้มีการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง

และร่วมกับผู้จัดเก็บข้อมูลสรุปผลการจัดเก็บข้อมูลของครัวเรือนว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ผ่านเกณฑ์ในเรื่องใดบ้าง ลงในหน้าแบบสรุปคุณภาพชีวิตของครัวเรือน และผู้จัดเก็บได้มอบหน้าแบบสรุปให้แก่ผู้ว่าฯ สงขลา เพื่อรับทราบผลการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือน โดยจะมีผู้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ลงลายมือชื่อรับรองว่าได้มีการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริงแล้วรวบรวมส่งให้ผู้บันทึกเพื่อประมวลผลข้อมูลในภาพรวมของชุมชน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป

ด้านนางสินีนาฎ นภาพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน และการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) เป็นการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนในครัวเรือนในเรื่องต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่ได้กำหนดไว้ ว่า มีระดับความเป็นอยู่ในระดับใดในช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยจัดเก็บทุกครัวเรือนที่อาศัยอยู่จริงในหมู่บ้าน/ชุมชน ในพื้นที่เขตเมือง ได้แก่ เขตพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครเทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล (ที่ยกฐานมาจากสุขาภิบาล) ส่วนพื้นที่ในเขตชนบท หมายถึง พื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อบต. และเทศบาลตำบล (ที่ยกฐานะมาจาก อบต.) จะเป็นการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) ซึ่งทำการจัดเก็บเป็นประจำทุกปี โดยใช้แบบสอบถาม หรือข้อคำถามเหมือนกันทั้งข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูล จปฐ.

เพื่อให้ทราบว่าคนในครัวเรือนนั้นขณะนี้มีคุณภาพชีวิตของตนเอง และครอบครัวเป็นอย่างไร เมื่อทราบข้อมูลแล้วหากมีปัญหาต้องแก้ไขในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน สมาชิกในครัวเรือนต้องช่วยกันแก้ไข ส่วนใดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ก็เป็นหน้าที่ของผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่เข้ามาให้การส่งเสริมให้ประชาชน หรือคนในครัวเรือนนั้นมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคม ซึ่งข้อมูลพื้นฐานนี้นอกจากวัดคุณภาพชีวิตของครัวเรือนนั้นๆ แล้ว ยังสามารถวัดไปถึงคุณภาพรวมทั้งชุมชนได้อีกด้วย




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น