Q: ผมทำงานอบรมพนักงานใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ผมมีปัญหาตรงที่ว่า เด็กใหม่หลายคนที่เข้ามาค่อนข้างมั่นใจในตัวเองสูง บ่อยครั้งไม่ค่อยตั้งใจฟังเวลาผมอบรม หรือเรียกประชุม มักชอบชวนคุยกันในกลุ่ม เคยตักเตือนว่ากล่าวไปแล้ว แต่ก็ยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม ในขณะที่พนักงานกลุ่มอื่นๆ ไม่ค่อยมีปัญหาในลักษณะนี้ ผมควรทำอย่างไรดีครับ
A: ปัจจุบันประเด็นเรื่องความแตกต่างของวัยในองค์กร (Generation Gaps) เป็นปัญหามากขึ้น อันที่จริงประเด็นนี้เป็นปัญหามานานแล้วในต่างประเทศ แต่ในเมืองไทย เพิ่งมาเกิดและ มีการพูดถึงมากๆ ใน 3-4 ปีที่ผ่านมานี่เอง ที่สำคัญคือ จากนี้เป็นต้นไป ปัญหาจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในทุกๆ องค์กร หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี
แนวทางการแก้ปัญหาให้ยั่งยืน มีทางเดียวที่ฟังดูง่ายแต่ทำยากมาก คือ "เข้าใจเขาก่อน ก่อนที่จะให้เขาเข้าใจเรา" (Seek to understand, then to be understood : ซึ่งเป็นอุปนิสัยอย่างหนึ่งของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ตามแนวคิดของ Stephen Covey ในหนังสือ 7 Habits of Highly Effective People) แปลความง่ายๆ ได้ว่า "อย่าเอาตัวเองเป็นมาตรฐาน" ซึ่งหมายถึง ทั้งการที่เรามองเขาและ เขามองเรา การแก้ปัญหาต้องทำทั้ง 2 ฝ่าย
สำหรับกรณีนี้ จึงอยากให้คุณเข้าใจก่อนว่า เด็กรุ่นใหม่มีลักษณะบางอย่างที่ไม่เหมือนเรา เพราะพวกเขาเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง
1. พวกเขามีสมาธิสั้นลง ไม่สามารถอดทนทำอะไรได้นานๆ ดังนั้นการอบรมหรือประชุมเป็นเวลานาน อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ ทำให้หมดความสนใจ ในต่างประเทศการอบรมสัมมนาลดลงเหลือครั้งละ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ทำถี่ขึ้น ในขณะที่เมืองไทย การอบรมส่วนใหญ่ใช้เวลาเป็นวันๆ ซึ่งอาจไม่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ หลายๆ องค์กรกำหนดให้ การประชุมมีระยะเวลาครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมงและ ใช้วิธีการยืนประชุม (Stand-up Meeting) แทนที่จะนั่ง เพราะเชื่อว่ายื่นทำให้การประชุมสั้นลง เป็นต้น
2. พวกเขาคุ้นชินกับการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ลูกสาวผมอายุ 17 เวลานั่งทำการบ้าน เชื่อไหมว่าเธอทำ 6 อย่างพร้อมๆ กัน คือ ทำการบ้าน, ฟังเพลง, ดูโทรทัศน์, ตอบ Facebook, Chat ใน Line และกินข้าวไปด้วย ผมเคยบอกให้ตั้งใจทำเป็นอย่างๆ ไป ปรากฎว่าล้มเหลว ดังนั้นอาจต้องพยายาม ทำความเข้าใจว่าการที่พวกเขาทำอย่างอื่นไปด้วย ระหว่างการประชุมหรือสัมมนา ไม่ได้แปลว่าไม่สนใจ หรือไม่ส่ใจในเรื่องที่กำลังพูดกัน เพียงแต่อาจคุ้นเคยกับการทำหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เท่านั้น
3. พวกเขามักผสมเรื่องงาน เรื่องเล่นกับเรื่องส่วนตัวเข้าด้วยกัน โดยไม่คิดว่าเป็นปัญหา คนรุ่นก่อนต้องการแยกงานกับเล่นออกจากกันให้ชัดเจน แปลว่าเวลาทำงานก็ทำงานอย่าเล่น ส่วนเวลาเล่นก็เล่นให้เต็มที่ แต่คนรุ่นใหม่คิดต่างไป พวกเขาเชื่อว่า Work กับ Life ต้องสามารถบูรณาการ (Integration) เข้าด้วยกันได้อย่างผสมกลมกลืนโ ดยไม่ต้องแยกว่าเวลานี้งานเวลานี้เล่น ยกตัวอย่างเช่น ออฟฟิสของกูเกิ้ลเ ป็นทั้งสถานที่ทำงานและ สถานที่ผ่อนคลายไปในตัว (ออฟฟิสของกูเกิ้ลมีโต๊ะบิลเลียด, มีเก้าอี้นวด, มีห้องนอน, มีคาราโอเกะ, มีอาหารเครื่องดื่มให้กิน ฯลฯ) ปรากฎว่า กูเกิ้ลเป็นองค์กรที่มีพนักงาน อยากทำงานด้วยมากที่สุดองค์กรหนึ่ง ในโลกเลยทีเดียว ดังนั้นอาจต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมบางอย่างคงจะดูขัดหูขัดตาไปบ้าง ให้ดูที่ผลลัพธ์แทนแล้วกัน หากทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตกลงกัน อาจต้องยอมหลับตาสักข้าง กับการกระทำบางอย่างที่ดูน่ารำคาญแต่ไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม การแสดงความเข้าใจ ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย คล้อยตาม หรือปล่อยไป สำหรับกรณีนี้สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมคือ
1. เปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น ให้คนที่คุยเก่งๆ ช่วยจดบันทึกการประชุม หรือ ให้ช่วยนำเสนอในบางเรื่อง หรือ สลับที่นั่งกับคนอื่น เพื่อแยกคู่ที่ชอบคุยออกจากกัน เป็นต้น
2. เรียกมาคุยเป็นการส่วนตัว แก้ไขทีละเรื่อง เช่น เริ่มต้นจากเรื่องการซุบซิบหรือ พูดคุยกันระหว่างการประชุม เป็นต้น ค่อยๆ แก้ไปทีละอย่าง จุดเน้นคือต้องมีโฟกัส อย่าพยายามแก้หลายๆ เรื่องพร้อมๆ กันเพราะจะได้ผลน้อยกว่า ที่สำคัญอธิบายให้เห็นถึงประโยชน์ว่าเหตุใดพฤติกรรมบางอย่างจึงควรปรับเปลี่ยนและ หากเปลี่ยนได้จะมีประโยชน์อะไรกับตัวพนักงาน อย่าทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนเพียงเพราะ "พี่ไม่ชอบ"
3. กำหนดกฎกติกามารยาทบางอย่าง ก่อนการประชุมหรือสัมมนา เช่น ห้ามนำโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์เข้ามาในห้องประชุม หรือสัมมนา, ในการประชุมจะมีคนพูดเพียงคนเดียว ณ เวลาหนึ่งๆ (คือไม่มีคนอื่นคุยกันระหว่างที่อีกคนกำลังพูด) เป็นต้น แล้วกำหนดบทลงโทษแบบขำๆ สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม เช่น ต้องเลี้ยงข้าวกลางวันเพื่อน, จ่ายค่าปรับเพื่อนำไปบริจาคการกุศล, คราวหน้าต้องเป็นคนจดรายงานการประชุม เป็นต้น
ค่อยๆ ทำไปครับ เรื่องแบบนี้ต้องละมุนละม่อม ปล่อยเลยโดยไม่จัดการอะไรก็ "เละ" หากตึงเกินไปอาจเป็นเหตุให้พนักงาน "ลาออก" เข้าใจครับว่ายาก แต่ลองดู น่าจะดีขึ้นบ้าง
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com