xs
xsm
sm
md
lg

CEO เอเชีย-แปซิฟิก มั่นใจอนาคตธุรกิจ-รายได้โต ชี้ “อินโดนีเซีย-เมียนมาร์-จีน” แหล่งลงทุนฮอต เป็น“ม้ามืด”ใน 3-5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘ซีอีโอ’ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังมั่นใจการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว พร้อมเผย อินโดนีเซีย-เมียนมาร์-จีน เป็น “ม้ามืด” หรือแหล่งลงทุนฮอตของภูมิภาคในอีก3-5 ปีข้างหน้า แต่เรียกร้องให้ผู้นำประเทศตื่นตัวเรื่องการบังคับใช้กฏหมาย-ระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน ท่าเรือ เพื่อให้ภูมิภาคไร้รอยตะเข็บด้านการค้าและดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ

PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจซีอีโอในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พบซีอีโอส่วนใหญ่มั่นใจว่าธุรกิจในระยะยาวยังเติบโต โดยการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมือง จำนวนประชากรชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และดีมานต์ของการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันการเจริญเติบโตของรายได้ แม้ในระยะสั้นมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ วิกฤติหนี้ในยุโรป และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว

ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจมีบรรดาซีอีโอถึง 42% ที่มั่นใจมากต่อการเติบโตของรายได้ทางธุรกิจ (Revenue Growth) ของตนในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจในปีที่ผ่านมา ที่มีซีอีโอที่แสดงความเชื่อมั่นเพียง 36%

นอกจากนี้ ยังมีซีอีโอถึง 68% ที่กล่าวว่าตนมีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มในปี 2557 แม้ยังมีความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและเงินทุนไหลออกนอกภูมิภาคซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยง ผลสำรวจยังระบุว่า มีซีอีโอมากกว่าครึ่ง หรือ 52% ที่มั่นใจในการเติบโตของรายได้ของธุรกิจในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

“ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกมี Resilience หรือมีความยืดหยุ่นสูง พูดง่ายๆ คือ มีการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆได้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา”

“จุดแข็งประการสำคัญที่พบคือ เราเห็นผู้บริหารมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ดูได้จากสัญญาณในเชิงบวกต่อแนวโน้มรายได้ บวกกับรายได้ประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจาก Supportive factors อื่นๆ เช่น การขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมือง และดีมานต์ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน”

บรรดาซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังเชื่อว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะสามารถบรรลุเป้าหมายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น การลดอุปสรรคการกีดกันทางการค้าในภาคบริการต่างๆ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่ความร่วมมือกันมากขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิก APEC 21 ประเทศ

“อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่แน่นอนด้านการบังคับใช้กฎหมาย หรือข้อบังคับทางด้านการลงทุนแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมกันในแต่ละประเทศ จะยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว”

ผลสำรวจยังระบุว่า ซีอีโอส่วนใหญ่มองว่าจีน (35%) และสหรัฐอเมริกา (35%) จะยังเป็นตลาดหลักของการลงทุนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ประเทศต่างๆเช่น ออสเตรเลีย (29%) นิวซีแลนด์ (26%) อินโดนีเซีย (15%) และประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีจุดแข็งทางภาคบริการในภูมิภาค ได้แก่ ฮ่องกง (15%) และญี่ปุ่น (14%) ยังเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนที่สำคัญอีกด้วย

นอกจากนี้ เดนนิส แนลลี่ ประธาน บริษัทPricewaterhouseCoopers International Ltd กล่าวถึงแนวโน้มของสภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าว่า เศรษฐกิจโลกจะยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนและยังมีความเปราะบาง โดยมีความเสี่ยงขาลงจากการชะลอตัวและการเสียสมดุลของโลกมากกว่าที่คาด

“ในส่วนของเศรษฐกิจในภูมิภาค เรามองว่าเอเชียแปซิฟิกจะยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรักษาเสถียรภาพของการเติบโต เนื่องจากในภาพรวม ตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวน และทิศทางการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังเป็นไปอย่างช้าๆ”

“ภูมิภาคนี้กลายเป็นเครื่องจักรสำคัญของการขยายตัวของโลกเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นทุกภาคส่วนมีหน้าที่ต้องมองไปข้างหน้า รับการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น และประคับประคองเส้นทางที่นำไปสู่ความก้าวหน้าของเอเชีย-แปซิฟิก”

“ม้ามืด” แห่งเอเชีย-แปซิฟิก

ศิระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศอินโดนีเซีย (19%) เมียนมาร์ (11%) และจีน (8%) ยังถูกจัดอันดับให้เป็น ‘ม้ามืด’ ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว เป็นผลมาจากแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโต บวกกับความมีเสถียรภาพของประชาธิปไตย และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ถูกจัดอันดับความน่าสนใจ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (7%) เวียดนาม (7%) และอินเดีย (5%)

บรรดาซีอีโอยังเชื่อว่า ความร่วมมือกันของภาครัฐฯ ในอันที่จะเร่งให้เกิดการสนับสนุนในเรื่องของกรอบการตกลงทางการค้า การลงทุนทั้งในระดับทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคี รวมทั้ง ความร่วมมือกันในด้านอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อธุรกิจของตนอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังจะกระตุ้นให้เกิดกระแสการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศไหลเข้าสู่ภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น

โดยผลสำรวจ PwC ระบุว่า ประเด็นที่ซีอีโอในเอเชีย-แปซิฟิกมองว่ามีความสำคัญมากที่สุดต่อธุรกิจ 2 อันดับแรก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของการใช้กฏหมายข้อบังคับ (Change to regulatory) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure development) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฟฟ้า ขนส่ง น้ำ และสาธารณสุข

“ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย อเมริกา และญี่ปุ่น โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในขณะนี้ เริ่มล้าหลัง ต้องมีการอัพเกรด ต่างกับประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชีย ที่ยังคงมีช่องทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอยู่มาก ล่าสุด ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี คาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้ยังต้องการการลงทุนมากถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2553-2563 หากต้องการที่จะรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่เป็นอยู่”

“ที่ผ่านมา มองว่าเอเชียมีจุดแข็ง เพราะมีหนี้น้อยและระดับเงินออมที่แข็งแกร่ง มีกำลังพอที่จะลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ดังกล่าวได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักลงทุนบางรายอาจจะมองในเรื่องความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบ ข้อบังคับ ความไม่แน่นอนของการบังคับใช้กฏหมาย หรือแม้กระทั่งเรื่องของความโปร่งใสในการประมูล สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทำได้ คือการช่วยกันสนับสนุนการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมต่อการลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็น Infrastructure ในระยะยาวเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับผลการสำรวจอื่นๆ มีดังนี้

• ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกเกือบถึง 90% กล่าวว่าตลาดผู้บริโภคในกลุ่มชนชั้นกลาง (Middle-income consumer markets) มีอิทธิพลต่อกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจ ขณะที่ เกือบครึ่งหนึ่งของการลงทุนที่เพิ่มขึ้น มุ่งเน้นไปที่การขยายสินค้า (Products) บริการ (Services) และช่องทางการจัดจำหน่าย (Distribution channels) ใหม่ๆ

• การพัฒนาเครือข่ายบรอดแบนด์และการคมนาคมขนส่งในเขตเมืองจะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนกฏระเบียบข้อบังคับและกฏหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน

• ความต่อเนื่องของการบังคับใช้กฏระเบียบข้อบังคับทั่วทั้งภูมิภาคจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกระแสการลงทุนใหม่ๆ โดยซีอีโอถึงหนึ่งในห้ากล่าวว่าจะมองหาช่องทางในการลงทุนเพิ่ม หากกฏระเบียบข้อบังคับในประเด็นต่างๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) ธรรมาภิบาล (Corporate governance) และธุรกิจภาคบริการมีความสอดคล้องและเสมอภาค

• ซีอีโอในภูมิภาคกว่า 70% ต้องการเห็นการมีเวทีเจรจาทางการค้าเพิ่มขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิก แต่ขณะเดียวกัน ผู้นำ 22% มองว่าการเจรจาอาจนำมาซึ่งความไม่แน่นอนและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่มากขึ้นได้

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวมาจากการที่ PwC ได้จัดทำ APEC CEO Survey 2013 ‘Towards resilience and growth: Asia-Pacific business in transition’ ระหว่างเดือนมิ.ย-ส.ค. 56

โดยเก็บข้อมูลจากซีอีโอและผู้นำในอุตสาหกรรมชั้นนำ จำนวน 478 คน ในภูมิภาค รวมถึงกลุ่มประเทศสมาชิก Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ทั้งหมด 21 ประเทศ และมีการเผยแพร่ผลสำรวจนี้ในการประชุม APEC CEO Summit ประจำปี 2556 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น