จุฬาฯ เตรียมประกาศผลจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 8 หมวดที่มูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด 8 องค์กรดาวเด่นเพราะเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงอยู่แล้ว พร้อมจัดอันดับ 8 องค์กรดาวรุ่งที่มีการพัฒนามูลค่าแบรนด์องค์กรแบบก้าวกระโดดมากที่สุดเป็นครั้งแรก ตอกย้ำการสร้างแบรนด์องค์กรช่วยเพิ่มยอดขาย
รองศาสตราจารย์ ดร. กุณฑลี รื่นรมย์ อาจารย์ประจำ ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของการทำงานวิจัยเรื่อง “การประเมินค่าและจัดอันดับแบรนด์องค์กรในประเทศไทย”ที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ว่าเพราะต้องการพัฒนาเครื่องมือวัดมูลค่าแบรนด์องค์กร (Corporate Brand Valuation) ที่สามารถวัดมูลค่าแบรนด์องค์กรออกมาเป็นตัวเลขทางการเงิน ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า CBS Valuation (Corporate Brand Success Valuation) ทั้งนี้ การมีแบรนด์องค์กรที่ดีมีประโยชน์หลายด้านต่อองค์กร เช่น การดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาทำงานกับองค์กร และช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับองค์กร เป็นต้น
โดยล่าสุดผลงานวิจัยในปีนี้จะถูกนำเสนอในงาน “Thailand’s Top Corporate Brand Values 2013” ในวันที่ 17 กันยายน 2556 ณ โรงแรมตะวันนา ถนนสุริวงศ์ โดยจะประกาศผลบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด หรือที่เป็น "ดาวเด่น" (Top Corporate Brand Values) และบริษัทที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด หรือที่เป็น "ดาวรุ่ง" (Corporate Brand Rising Stars) ใน 8 หมวดอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเนื่องจากมีข้อมูลที่ต้องใช้ในการทำวิจัยอย่างชัดเจน
สำหรับจุดเด่นของงานในครั้งนี้มี 3 จุดที่สำคัญ จุดแรกคือการรายงานผลการวิจัยซึ่งมีเรื่องราวและเครื่องมือการวัดแบรนด์องค์กรใน 8 หมวดอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.หมวดอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 2.หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค 3.หมวดการเงิน 4.หมวดสินค้าอุตสาหกรรม 5.หมวดทรัพยากร 6. หมวดสินค้าอุตสาหกรรม 7.หมวดบริการ และ8.หมวดเทคโนโลยี โดยมีการจัดอันดับ 8 บริษัทดาวเด่นที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดเป็นอันดันหนึ่งของแต่ละหมวด หรือ "Top Corporate Brand Values" ซึ่งพบว่ามีบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงมากนับแสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา( พ.ศ.2555) จากการใช้เครื่องมือ CBS Valuation วัดมูลค่าแบรนด์องค์กรของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 432 บริษัท ที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี ปรากฏว่าบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม มีดังนี้ 1.กลุ่มสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร “บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)” มีมูลค่า 100,498 ล้านบาท 2.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง “บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย” มีมูลค่า 238,536 ล้านบาท
3.กลุ่มการเงิน “ธนาคารไทยพาณิชย์” มีมูลค่าแบรนด์ 200,346 ล้านบาท 4.กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค “บริษัท ซาบีน่า” มีมูลค่า 6,411 ล้านบาท 5.กลุ่มทรัพยากร “บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม” มีมูลค่า 401,875 ล้านบาท 6. กลุ่มเทคโนโลยี “บริษัท เอ ไอ เอส” มีมูลค่า 258,746 ล้านบาท 7.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม “บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคัล” มีมูลค่า 44,432 ล้านบาท และ 8.กลุ่มบริการ “บริษัท ซีพีออลล์” มีมูลค่า 161,601 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการจัดอันดับ 8 องค์กรดาวรุ่ง หรือ “Thailand Corporate Brand Rising Star 2013” ที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดของแต่ละหมวดซึ่งปีที่แล้วไม่ได้มีการจัดอันดับเช่นนี้ แต่การที่ปีนี้มีการจัดทำเป็นครั้งแรกเพื่อให้เห็นว่ามีองค์กรที่สามารถพัฒนาการสร้างแบรนด์องค์กรได้อย่างก้าวกระโดด โดยพบว่าในบางหมวดมีอัตราการเติบโตนับพันเปอร์เซ็น
จุดที่สอง คือมีการคำนวณหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์องค์กรกับยอดขายของบริษัท เพื่อตอบคำถามว่าถ้ามูลค่าแบรนด์องค์กรดีแล้วยอดขายจะดีด้วยหรือไม่ ? ซึ่งในอดีตยังหาคำตอบไม่ได้ชัดเจน แต่ในปีนี้พบว่าตัวเลขสหสัมพันธ์สูงมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างการสร้างแบรนด์องค์กรและยอดขายของบริษัท
จุดที่สาม คือการเสวนาในหัวข้อ“กลยุทธ์การสร้างแบรนด์องค์กร รับมือการแข่งขันยุค AEC” ของผู้นำระดับสูงขององค์กรที่ได้รับรางวัลดังกล่าว 3 หมวด ได้แก่ หมวดสื่อสาร โดย “วิเชียร เมฆตระการ” หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค โดย ”ฐิติวุฒิ์ บุลกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) และหมวดอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง โดย ”ฑิฆัมพร เปล่งศรีสุข” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ ยังจะมีการเปิดตัวแนวทางการจัดทำหนังสือ “Corporate Brand Success Valuation” ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสำคัญของ Corporate Brand และนำเสนอโปรแกรมสำเร็จรูปในการคำนวณมูลค่าแบรนด์องค์กรให้กับองค์กรที่มีความสนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรต่างๆ ที่สนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากโดยทั่วไปหากจ้างบริษัทต่างชาติจะมีค่าใช้จ่ายหลักแสนบาทขึ้นไป