xs
xsm
sm
md
lg

แนะผู้นำรัฐ/เอกชนในอาเซียนปรับวิสัยทัศน์เปลี่ยนพฤติกรรม ชี้ทางออกปัญหา – แนวทางเผชิญความท้าทาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟิเดล รามอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
องภาพใหญ่แบบรู้ทันการเปลี่ยนแปลง อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์“ฟิเดล รามอส” แนะผู้นำรัฐ/เอกชนในอาเซียนปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพฤติกรรม ไขกุญแจสู่ทางออกปัญหา พร้อมชี้ทางเผชิญความท้าทาย เตือนอย่างมองข้ามความขัดแย้งที่ซับซ้อนและมีโอกาสขยายวงกว้าง ย้ำอาเซียนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง พร้อมยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

นายฟิเดล รามอส อดีตประธานาธิบดีของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ Ramos Peace and Development Foundation เดินทางมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “The ASEAN Community in a rapidly Changing World” ตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงอาเซียน รุ่นที่ 2

เขากล่าวมุ่งเน้นถึงปัญหาและความท้าทายในปัจจุบันที่ผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนในอาเซียนต้องประสบในศตวรรษที่ 21 นั่นคือความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขณะที่ ความทันสมัย ความรวดเร็วของเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศข้อมูลข่าวสารทำให้ปัญหาหลายอย่างได้รับการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ดังนั้น อาเซียนจึงควรปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพฤติกรรมของตน เพื่อให้สามารถก้าวผ่านปัญหาและความท้าทายทั้งหลายร่วมกันได้ ภายใต้บริบทความเปลี่ยนไปของโลกในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละประเทศในอาเซียนยังมีปัญหาภายในประเทศที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ ความบาดหมางระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นระหว่างคนในประเทศ เป็นต้น อาเซียนจึงไม่สามารถมองข้ามปัญหาความขัดแย้งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอาเซียนที่ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นได้อีกต่อไป เนื่องจากผลกระทบที่ขยายวงกว้างสู่ทุกคนและสังคมของแต่ละประเทศ

ยกตัวอย่าง ปัญหาโลกร้อนและสภาวะเรือนกระจก เป็นอีกหนึ่งกรณีของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่อาเซียนจำเป็นต้องร่วมกันจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อรักษาชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเอื้ออำนวย 3 ประการ ได้แก่ ความเข้มแข็งของรัฐ การยึดมั่นต่อหลักนิติธรรม และการมีรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและประชาชน

แม้ปัจจุบัน ประเทศอาเซียนกำลังมุ่งสนใจประเด็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในภูมิภาคมากขึ้น แต่ยังเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุได้ เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกมีความแตกต่างกันอย่างสูงทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม อาเซียนโดยรวมมีการสร้างความเข้มแข็งระหว่างกันมากขึ้น ทั้งด้านการทหารและเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศตะวันตกในยุโรปและอเมริกาเหนือกำลังอ่อนแรงลงจากผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน

จึงคาดการณ์ได้ว่า อาเซียนกำลังเติบโตในทิศทางที่มีประสิทธิภาพและกลายเป็นที่สนใจของประเทศมหาอำนาจทั่วโลก เพราะการมีทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานจำนวนมหาศาล ประกอบกับขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น อาเซียนจึงสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทแถวหน้าในเวทีโลกได้ในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย กำลังแข่งขันอย่างหนักกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน สภาพการแข่งขันและความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนยังคงมีอยู่ หากแต่เป็นเรื่องทางการทหารและเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้ว่าสหรัฐฯ ยังสามารถคงบทบาทการมีอิทธิพลครอบงำกิจการต่างๆ ของโลกได้จริง ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการทหาร แต่ปฏิเสธไม่ได้ถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของจีน อันเนื่องมาจากการมียุทธศาสตร์ที่เอื้อต่อการค้าการลงทุน ประกอบกับความพร้อมทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ ยิ่งกว่านั้น จีนยังสามารถเข้าถึงวัตถุดิบจากแหล่งผลิตทั่วโลกได้โดยง่าย ทำให้จีนมีโอกาสด้านการค้าการลงทุนในหลายทวีป

อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถสรุปว่า จีนกำลังก้าวขึ้นมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น เพราะในความเป็นจริง กระแสโลกาภิวัตน์กำลังเปลี่ยนจีนไปสู่ความเป็นทุนนิยมมากขึ้น หากแต่จีนสามารถใช้โอกาสดังกล่าว สร้างการติดต่อสัมพันธ์และเชื่อมโยงตัวเองไปกับเศรษฐกิจโลกเพื่อพร้อมก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก ภายในระยะเวลาอันใกล้

ตัวอย่างกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศอาเซียนเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของการรักษาสมดุลทางอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมากขึ้น รวมถึงความจำเป็นในการสร้างข้อตกลงและสถาบันภายในภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันและเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างกัน อาเซียนจึงจำเป็นต้องรวมตัวกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 ขณะเดียวกัน ประชาคมการเมืองความมั่นคงและประชาคมสังคมวัฒนธรรมยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างความมีเสถียรภาพ สันติภาพ และความมั่นคงในอาเซียน

ทั้ง 3 เสาหลักดังกล่าวคือเครื่องพิสูจน์ความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต่างแสดงวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ผ่านระบบความเป็นหุ้นส่วนมิตรประเทศที่มุ่งสานสัมพันธ์และพัฒนาภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน โดยการร่วมกันขจัดช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างกัน รวมถึงอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดภายในประเทศเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น แทนการมุ่งเน้นรักษาสภาพปัจจุบันและผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นหลักเท่านั้น เช่น อุปสรรคทางด้านกฎหมายการค้าการลงทุนของแต่ละประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน สินค้าและบริการอย่างแท้จริง เป็นต้น

ดังนั้น ความร่วมมือทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี ผ่านการให้ความช่วยเหลือและการพบปะเจรจายังเป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศอาเซียนควรปฏิบัติ เพื่อร่วมกันสร้างกฎกติกาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการเป็นประชาคมอาเซียน และมุ่งให้เกิดหลักนิติธรรม ความเป็นหนึ่งทางเศรษฐกิจและการมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

สรุปได้ว่า เขาเน้นความสำคัญของการปรับตัวของประเทศและประชากรอาเซียนภายใต้บริบทของความแตกต่างหลากหลายในภูมิภาค โดยการเปลี่ยนความขัดแย้งทั้งหลายให้กลายเป็นการร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างกัน และท้ายที่สุดเป้าหมายของอาเซียนคือการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ภายใต้แนวคิด Unity in Diversity ที่ทุกประเทศและประชาชนทุกคนเล็งเห็นผลประโยชน์โดยรวมของภูมิภาคเป็นสำคัญ และสามารถประสานประโยชน์กันได้ภายใต้ความแตกต่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น