xs
xsm
sm
md
lg

4 แม่ทัพเคแบงก์จัดเต็ม รับมือการเปลี่ยนแปลงยุคไฮสปีด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

4 ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกสิกรไทย
เคแบงก์จัดเต็ม 4 แม่ทัพผนึกกำลัง เดินหน้ารับมือการเปลี่ยนแปลงในยุคไฮสปีด ชี้สารพัดปัจจัยแวดล้อมที่ต้องตระหนัก วางยุทธศาสตร์บริหารความเสี่ยงที่ท้าทาย เตรียมพร้อมบุคลากรด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ชู 3 แนวทางหลักสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
กฤษฎา ล่ำซำ รองประธานกรรมการและประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการ
กฤษฎา ล่ำซำ รองประธานกรรมการและประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อการบริหารจัดการธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ว่า ภาพรวมในวันนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกไปสู่การเป็นโลกาภิวัตน์อย่างชัดเจน หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงถึงกันไปทั้งโลก เช่น เศรษฐกิจของประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน มีข่าวการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะๆ

“โลกาภิวัตน์มีประเด็นจริงๆ ในตอนนี้ เพราะเงินถ่ายเทกันไปมา ธุรกิจเป็นเชนทั้งหมดไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าประเทศนี้จะดีหรือกลุ่มประเทศนี้ดีโดยที่อีกกลุ่มประเทศไม่ดีเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะมีความเชื่อมโยงกันมาก มีคนซื้อคนขายโยงกันไปทั้งโลก ดังนั้น ในความเป็นจริงคือนอกจากจะโยงใยกันมากและยังมีการถ่ายเทของทุนอยู่ตลอดเวลาด้วยความรวดเร็วมาก”

ในส่วนของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงมากเช่นกัน เนื่องจากเป็น Global Economy ลูกค้ารายใหญ่ต้องการไปลงทุนในต่างประเทศ นอกจากแสวงหาการทำธุรกิจในประเทศไทย จะเห็นในประเทศไทยมีกรณีใหญ่ๆ (Big Deal) เกิดขึ้นมาก เพียงในช่วงสองปีนี้ ขณะเดียวกัน ลูกค้าในระดับเอสเอ็มอีก็มีความผันแปรในแง่ของการทำธุรกิจสูงมากเพราะมีปัจจัยต่างๆ เข้ามามีผลต่อการทำธุรกิจของเขา ส่วนลูกค้าบุคคลธรรมดาในตอนนี้เริ่มเข้าสู่ยุคของคนสูงวัยมีมากขึ้นมาก

สำหรับวิวัฒนาการที่เห็นชัดที่สุดและมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือเรื่องของไอทีหรือเทคโนโลยีด้านการสื่อสารข้อมูลซึ่งสิ่งสำคัญหรือหัวใจหลักคือเรื่องความเร็ว (Speed) จึงมีการพัฒนาเข้าสู่ยุค 3G ในปัจจุบันและ 4G ต่อไป และการเก็บข้อมูลในรูปแบบใหม่คือ Cloud Computing

เช่นเดียวกับเรื่องของกฎเกณฑ์หรือระเบียบกติกาใหม่ๆ เช่น การก่อการร้ายข้ามชาติทำให้เกิดกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งในประเทศไทยทำให้เกิดความใส่ใจในเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน เป็นต้น นอกจากนี้ ในเรื่องการแข่งขัน เช่น การเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเกิดคู่แข่งและการแข่งขันใหม่ๆ ตามมาอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น จึงต้องใช้การบริหารเพื่อรองรับความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาวะแวดล้อม ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยมีการปรับโครงสร้างผู้บริหารเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยยึดลูกค้าเป็นหลักควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ
สมเกียรติ ศิริชาติไชย กรรมการและประธานกรรมการบริหารองค์การ
สมเกียรติ ศิริชาติไชย กรรมการและประธานกรรมการบริหารองค์การ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าหัวใจของสถาบันการเงินอยู่ที่การบริหารความเสี่ยง แต่จะตอบโจทย์อย่างไร ให้ได้เร็ว ตัดสินใจได้เร็ว อยู่ในความเสี่ยงที่เข้าใจและยอมรับได้ ไม่สะดุดขาตัวเองใน 3-4 ปีข้างหน้า

“เราเป็นธนาคารใหญ่จำเป็นต้องทำตัวเองให้แข็งแกร่ง เพราะเปรียบเหมือนหัวหน้าครอบครัวถ้าเราล้มทั้งบ้านเดือดร้อน ไม่ใช่แค่ล้มแบงค์เดียว แต่เศรษฐกิจไทยจะกระทบเพราะโยงกันหมด จึงเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องตอบสนองต่อเงื่อนไขต่างๆ สามารถบริหารความเสี่ยงให้คนที่วิ่งไปข้างหน้าเข้าใจและมั่นใจได้ว่ามีการดูความเสี่ยงได้อย่างครบถ้วน เพราะความเสี่ยงคือต้นทุนแฝงอย่างหนึ่ง”

สำหรับความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเผชิญในวันนี้มี 3 ด้าน คือด้านแรก ความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ (Credit Risk) เพราะในภาวะที่ทุกอย่างดูดีไปหมดเช่นนี้คือ เศรษฐกิจก็เติบโต เงินก็ไหลเข้ามามากมาย ตลาดหุ้นก็มีการซื้อขายอย่างมาก ธนาคารต่างๆ แข่งกันปล่อยสินเชื่อ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้จะมีการก่อตัวของความเสี่ยงด้านสินเชื่อหรือไม่? ความท้าทายคือ“ความพอดี”อยู่ตรงไหน? เพื่อไม่ให้องค์กรเข้าไปตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน

ด้านที่สอง ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ (Strategic Risk) เพราะในบริบทใหม่ของโลกที่ธุรกิจอื่นสามารถเข้ามาเป็นตัวกลางในการชำระเงินแทนธนาคารพาณิชย์ได้ หรือธนาคารพาณิชย์อื่นๆ จะบุกเข้ามาในเขตแดนของประเทศไทย หรือธนาคารของไทยจะบุกไปในประเทศต่างๆ รอบบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ หรือไม่? เพราะทุนจากมาเลเซียหรือจากสิงคโปร์กำลังเข้ามาในประเทศไทย จุดยืนของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ตรงไหน? นี่คือความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์อย่างยิ่ง

“เราอาจจะรู้สึกได้ว่าจะอยู่ได้ในอีกสองสามปีข้างหน้า แต่เมื่อมองไกลไปถึงห้าปีจะมีธนาคารไทยกี่แห่งที่อยู่ได้ในบริบทนี้? ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่มีคำตอบเชิงความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์”

ด้านที่สาม ความเสี่ยงในการดำเนินงาน (Operational Risk) เพราะกฎระเบียบต่างๆ มากมายมีการเปลี่ยนแปลง เช่น สหรัฐกดดันให้ประเทศไทยทำกฎระเบียบการป้องกันการสนับสนุนทางการเงินกับผู้ก่อการร้าย กฎระเบียบป้องกันการฟอกเงิน กฎระเบียบใหม่ๆ ที่จะเข้ามาหลังการเปิดเออีซีเป็นรูปธรรม รวมทั้ง เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้คนอยากใช้ mobile banking

“สำหรับกสิกรฯ มีจุดยืนจะรักษาความเป็น digital banking service ให้ได้ ซึ่งก็มีความเสี่ยงในการจัดการ ความเสี่ยงในการนำเทคโนโลยีมาใช้ การโจรกรรมฉลาดขึ้น เราเก่งขึ้นเท่าไร เขาเก่งขึ้นเท่านั้น เป็นเงาตามตัว จะไล่กันทันจะป้องกันเงินในบัญชีของลูกค้าได้อย่างไร?”

“รวมถึง ภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ไฟฟ้าพลังงานขาดแคลน ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจะกระทบกับศูนย์ข้อมูล (data center) ของเราหรือไม่? สิบกว่าล้านบัญชีที่เราดูแลอยู่ ทั้งหมดเป็นแผนเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด”
ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ
ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าการปรับตัวเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอด ซึ่งการที่กสิกรไทยมีเป้าหมายที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน ในด้านการบริหารองค์กรขนาดใหญ่เช่นนี้จึงต้องใช้วัฒนธรรมองค์กรเพื่อนำความคิดความเชื่อไปสู่บุคลากรที่มีอยู่ทั้งหมดให้ก้าวไปในทิศทางเดียวกันและบรรลุผลสำเร็จ ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรก็คือสิ่งที่ทำหรือประพฤติปฎิบัติกันอยู่ทุกวันอย่างต่อเนื่องและคนที่เข้ามารู้สึกได้โดยอัตโนมัติ

วัฒนธรรมองค์กรของกสิกรไทยในวันนี้มี 4 ข้อคือ ข้อแรก การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพราะต้องการให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และโซลูชั่น การตอบสนองที่รวดเร็ว การมี service excellence เช่น บัตรโดราเอมอนซึ่งมีบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองลูกค้า โดยลูกค้าจะรู้ได้จากการทำแบรนดิ้งและมาร์เก็ตติ้ง การสื่อสารที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ

ข้อสองคือ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ คือการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพื่ออยู่ให้ได้ในยุคไฮสปีด ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ การบริการ และโซลูชั่น มีการปรับเปลี่ยนตลอด และเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ทั้งด้านเครดิต ตลาด ปฎิบัติการ สภาพคล่อง และกลยุทธ์ รวมทั้งต้องมีข้อสามคือ การทำอย่างเป็นมืออาชีพ และเพราะเป็นองค์กรใหญ่จึงต้องมีข้อสี่คือ การทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร และบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน
ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ
ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แนวทางหลักของกสิกรฯ ที่เน้นหนักในบทบาทการเป็นสถาบันการเงินชั้นนำมี 3 ประการคือ ประการแรก การเป็น “Main Operating Bank” โดยเป็นธนาคารที่ลูกค้าใช้เป็นประจำและเป็นหลักในทุกด้านทุกเรื่องของชีวิตทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินบัญชี การลงทุนในตราสารการเงินในลักษณะต่างๆ การให้คำแนะนำการลงทุนส่วนบุคคล เช่น K Expert รวมถึง ผลิตภัณฑ์ในการลงทุน เช่น K security หรือเงินฝากในรูปแบบต่างๆ หรือตราสารหนี้ของบริษัทต่างๆ ที่ออกมาขายให้กับลูกค้า สุดท้ายคือการดูแลความเสี่ยง และข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ

ประการที่สองคือ การเป็น “ASEAN Bank” โดยการผลักดันตลาดหลักที่เรียกว่า ASEAN + 3 ซึ่งในประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงการสร้างธุรกิจซึ่งมีสายงานดูแลโดยเฉพาะ ส่วนญี่ปุ่นกับเกาหลียังเป็น inbound traffic คือเขามาลงทุนโดยใช้ partnership model ซึ่งประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ในด้านไฮสปีด สำหรับประเทศไทยเห็นชัดเจนมากว่าส่วนภูมิภาคหรือต่างจังหวัดมีการพัฒนาเห็นจากจีดีพีซึ่งเติบโตก้าวกระโดดเพราะกสิกรฯ ให้ความสำคัญมาก จะเห็นช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเห็นการเติบโตของกสิกรฯ ในตลาดต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ

ประการที่สามคือ การเป็น“Digital Bank” เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะดิจิตอลเทคโนโลยีซึ่งเป็นไปอย่างก้าวกระโดดมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ของผู้ใช้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจากการได้รับการตอบสนองที่รวดเร็ว ตรงประเด็น เข้าใจง่าย ไม่ต้องเปิดคู่มือการใช้งาน ซึ่งต้องอาศัยการอกแบบและการทำงานกับลูกค้าเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี รวมทั้ง โซเชียลมีเดียซึ่งจะมีการพัฒนาทั้งการทำงานร่วมกับพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้า โดยนำข้อมูลมากมายที่มีอยู่มาใช้พัฒนา

อีกเรื่องคือการหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partnership) ในแทบทุกเรื่องที่จะทำ เช่น ในประเทศจีนมี2 รายที่ทำงานร่วมกันซึ่งเป็นคนท้องถิ่นที่นั่น เนื่องจากตลาดอาเซียนสำหรับธนาคารยังไม่ได้เปิดร้อยเปอร์เซ็น ยังมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ แต่เมื่อลูกค้ามีความต้องการจึงต้องให้ความสำคัญและก้าวไปให้ทัน
กำลังโหลดความคิดเห็น