xs
xsm
sm
md
lg

“เสี่ยปั้น” บัณฑูร ล่ำซำ ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่...อีกก้าวสำคัญของ KBANK

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง

สาเหตุที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 เหตุเกิดเพราะฟองสบู่ คือ มนุษย์ทำการเกินตัว กู้หนี้เพื่อเอาไปซื้อสินทรัพย์ในราคาที่ไม่เป็นจริง ทั้งอสังหาฯ ทั้งหุ้น ราคาก็ปั่นขึ้นไป แต่ในเมื่อราคามันไม่เป็นจริง ราคามันก็ฟุบลงมา แต่ที่ไม่ฟุบก็คือ หนี้ที่กู้มา มันค้างกลายเป็นหนี้ที่ใช้คืนไม่ได้ในสถาบันการเงิน ซึ่งเอาเงินฝากของประชาชนมาแล้วใช้คืนไม่ได้ นี่คือความหมายของคำว่า ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ

แต่ที่สำคัญก็คือ คนฝากเงินในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาค้ำประกันทั้งหมด แต่ในท้ายที่สุด เงินที่เอามาแก้ปัญหาก็คือ เงินภาษีของประชาชนทั้งที่มีอยู่ในช่วงนั้น และภาษีในอนาคตที่จนถึงบัดนี้ก็ยังใช้ไม่หมด เพราะฉะนั้น คนที่จ่ายหนี้จริงๆ แล้วก็คือ ประชาชนนั่นเอง

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นั้นทำให้มีมุมมองใหม่เข้ามาในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการหนี้เสีย ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีในระบบ ก็เริ่มมีมาในช่วงนี้...เป็นอยู่อย่างนั้น 4 ปี คือ ทุกอย่างนิ่ง ไม่มีใครทำกำไรได้ ไม่มีใครปล่อยกู้ เพราะไม่มีเงินจะให้กู้ ไม่มีเครดิต ไม่มีใครเชื่อใจใคร เป็น 4 ปี ที่อยู่ในความมืด คนตกงาน หรือไม่ตกงานก็ไม่ได้เงินเดือนขึ้น

แต่จากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ มีความตื่นตัว จากความท้าทายใหม่ในโจทย์ของการบริหารจัดการ สมมติฐานเดิมๆ ก็ใช้ไม่ได้แล้ว จากเดิมที่บริษัทการเงินจะทำเท่าไหร่ก็ได้ จะเล็กจะใหญ่ไม่จำเป็น แยกๆ กันทำไป ..กฎเกณฑ์ที่ห้ามธุรกิจการเงินทำธุรกิจหลายอย่างก็หมดไป เพราะมันพิสูจน์แล้วว่ามันใช้ไม่ได้ ฐานจะไม่แน่นพอ เวลาเกิดอะไรไม่มีฝาให้พิง ก็เกิดโครงสร้างใหม่ๆ ขึ้น คือ ยอมให้ธุรกิจการเงินรวมกันได้ ซึ่งทำให้ธุรกิจการเงินกลับมาฟื้นตัวได้ เป็นโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดการฟื้นตัว เพราะถ้าสถาบันการเงินไม่ฟื้นเศรษฐกิจจะเดินต่อไปไม่ได้

สู่บริบทใหม่ทางธุรกิจ

มาจนกระทั่งปี 2006-2007 เศรษฐกิจเริ่มแข็งแกร่ง มาถึงยุคที่เริ่มมองไปข้างหน้า ก็มามองจุดตรงกันคือ จีน ก็มีการจัดสัมมนากันทั่วไปหมดเรื่องจีน เรียนภาษาจีนกันใหญ่ ก็เป็นการตื่นตัวที่่ถูกต้อง เป็นบริบทใหม่ของธุรกิจว่าการที่เราจะอยู่ในยุคนี้โดยไม่คำนึงถึงประเทศใหญ่ที่อยู่เหนือเรา และมีบทบาททุกๆ ทางเพิ่มขึ้นในโลกมนุษย์ไม่ได้ เป็นการเตรียมตัวเพื่อที่จะพบกับโจทย์ใหม่ของการค้าขาย จากเดิมที่มีแต่ฝรั่ง ก็มีอีกขั้วเข้ามา แต่ฝรั่งก็ไม่ทิ้ง ก็ต้องรู้ทั้ง 2 ด้าน ต่อไปนี้ไม่ใช่ฝั่งเดียวที่ครองโลก จะมีอีกหลายขั้วที่เข้ามา

ทางกสิกรไทยก็เริ่มที่จะออกไปในช่วงนี้เหมือนกัน ผ่านมา 10 ปี ก็ได้เปิดสาขาที่จีน 2-3 สาขา ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่เราเริ่มตั้งแต่ตอนนั้น ถ้ามาเริ่มตอนนี้ ก็ไม่รู้จะเริ่มยังตรงไหน เพราะโจทย์ใหญ่ไปแล้ว อย่างน้อยตอนนี้เราก็มีเท้าเหยียบไว้ในเมืองจีนแล้ว

มาถึงตอนนี้ ล่าสุดก็ AEC plus 3 ซึ่งคือ อาเซียนบวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นโจทย์ธนาคารพาณิชย์เริ่มจับต้อง แล้วก็บางส่วนเริ่มออกไปบ้างแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องมีการปรับตัวให้ทัน ฝ่ายบริหารของทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจการเงิน ก็ต้องมีการปรับความคิด องค์กร การทำงาน เพื่อที่จะรับกับความท้าทายของโจทย์ใหม่ที่อยู่ตรงหน้า จะปรับมาก ปรับน้อย อย่างไรก็ตาม ต้องให้มีความคล่องตัวในการที่จะทำธุรกิจในกรอบใหม่ กติกาใหม่ โลกใหม่ของการค้าขาย และความท้าทายที่ไร้พรมแดน ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ ทำให้มาถึงเรื่องของการก้าวไปด้วยของ 2 บริษัทที่มีบรรพบุรุษเดียวกันคือ ธนาคารกสิกรไทย และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต

“ทั้ง 2 บริษัทนี้ชีวิตเริ่มต้นใกล้ๆ กันคือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่แบงก์โตเร็วกว่า เพราะแบงก์โตไปพร้อมเศรษฐกิจ ขณะที่ประกันโตช้าเพราะในตอนนี้คนยังไม่เห็นความสำคัญ จนมาปัจจุบัน ความคิดของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เห็นความสำคัญของการประกันชีวิต หรือการออมเงินในเชิงประกันชีวิต ทำให้ช่วง 4-5 ปีประกันโตเร็วมาก ซึ่งเราก็เข้าไปถือหุ้นในเมืองไทยประกันชีวิตผ่าน เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง ที่ธนาคารถือหุ้นอยู่ 51% และกรุ๊ปโฮลดิ้งถือหุ้นเมืองไทยประกันชีวิตอยู่ 75% ก็ถือว่าเราเข้าไปในธุรกิจประกันเต็มตัว และทันท่วงที”

การผนึกกันครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมตัวทางยุทธศาสตร์ที่จะรับมือกับบริบทใหม่ของธุรกิจการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย และเป็นโอกาสด้วย ซึ่งทั้งธนาคาร และเมืองไทยประกันชีวิตมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นผลิตภัณฑ์ทงการเงินที่มนุษย์ใช้ได้ด้วยกัน เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรจะเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ชุดเดียวกัน ทำให้ลูกค้าได้ใช้อย่างเต็มที่ แล้วก็ไม่ใช่แต่เฉพาะลูกค้าไทย ก็มี AEC plus ด้วยอีก

ถ่ายเลือดเก่า เติมเลือดใหม่

ถ้าถามว่าเราพร้อมมั้ยที่จะรับมือกับโอกาสที่จะเกิดขึ้น และความท้าทายกับกฎเกณฑ์ใหม่กับตลาดที่กว้างขึ้น โจทย์เหล่านี้ ทำให้เราต้องจัดการกับตัวเอง ทีมงานที่ต้องรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นให้ได้ประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกัน ก็ต้องป้องกันความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ซึ่งเราก็มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของธนาคารที่จะถึงในเดือนเมษายนนี้ จะมีการเสนอข้อบังคับของธนาคารที่จะกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการของธนาคารมีอายุไม่เกิน 72 ปี ซึ่งสมัยก่อนไม่มี จากกติกาใหม่ทำให้กรรมการธนาคารพ้นตำแหน่งไป 5 ท่าน ซึ่ง 4 ท่านแสดงความจำนงขอออกตำแหน่งไว้แล้ว ได้แก่ คุณบรรยงค์ ล่ำซำ แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการที่ปรึกษาแก่คณะจัดการ คุณศุกรีย์ แก้วเจริญ แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการที่ปรึกษาแก่คณะจัดการ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ และกรรมการกำกับดูแลกิจการ คุณเอลิซาเบธ แซม แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ และคุณฮิโรชิ โอตะ แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการกำกับดูแลกิจการ

และในการประชุมผู้ถือหุ้นเดือนเมษายน จะแต่งตั้ง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายกลินท์ สารสิน ให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และเลือกตั้ง นายสมเกียรติ ศิริชาติไชย เป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ซึ่งอันนี้เสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแล้ว ...นี่เป็นสิ่งที่เกิดในระดับคณะกรรมการ ที่ต่อไปนี้จะมีคนอายุน้อยกว่า 60 มากกว่าคนอายุมากกว่า 60 และถือเป็นคนหนุ่มที่มีความสามารถ

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการยังได้มีมติแต่งตั้งให้ผมดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายสมชาย บุลสุข ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ นายกฤษฎา ล่ำซำ ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร พร้อมกันนั้น แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ 2 ท่านก็คือ นายปรีดี ดาวฉาย และนายธีรนันท์ ศรีหงส์

ก้าวต่อไปของ KBANK

สำหรับแนวทางการทำงานต่อไป ณ ขณะนี้ เรามองโจทย์ของธนาคารกสิกรไทยกับเมืองไทยประกันชีวิตเป็นโจทย์ยุทธศาสตร์เดียวกัน เป็นหน่วยยุทธศาสตร์เดียวกัน อยู่ในปรัชญาของธุรกิจชุดเดียวกัน และทำงานไปด้วยกัน เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่แน่น มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจทุกด้าน ยกเว้น โรงรับจำนำ และเราอยู่ในโครงสร้างที่พร้อมที่จะให้บริการทางการเงินที่มีคุณภาพ และครอบคลุมกับความต้องการของชีวิตมนุษย์ ในทางที่เราเลือกจะไปทั้งในไทย และ AEC plus

เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีบุคคลที่จะมีบทบาทครอบคลุมทั้ง 2 บริษัทคือ ทั้งธนาคารกสิกรไทย และเมืองไทยประกันชีวิต ก็คือ คุณกฤษฎา ล่ำซำ จะไปทำงานในระดับกลยุทธ์ทั้ง 2 องค์กร นอกจากเป็นรองประธานของธนาคารแล้ว ก็ไปเป็นรองประธานกรรมของทั้งกรุ๊ป โฮลดิ้ง และเมืองไทยประกันชีวิตด้วย เพื่อเชื่อมกันในระดับยุทธศาสตร์ ครอบคลุมถึงแนวคิดว่าเราไปทิศทางไหน ตลาดไหน สร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกัน สร้างระบบปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะด้านไอที บริหารทรัพยากรมนุษย์ ประมาณนี้ อีกท่านคือ คุณสมเกียรติ ศิริชาติไชย ไปรับบทบาทในเรื่องการบริหารความเสี่ยง เป็นประธานบริหารความเสี่ยงของเมืองไทยประกันชีวิตควบด้วย

“การปรับโครงสร้างครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของทั้ง 2 องค์กร ก็เพื่อเตรียมตัวรับกับความท้าทาย และโอกาสของธุรกิจที่จะเข้ามาพร้อมกัน กับโลก และธุรกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งเราก็หวังว่า ถ้าร่วมมือกันได้ดี ทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และการจัดการ ปฏิบัติการ เราจะเป็นองค์กรทางธุรกิจการเงินที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพที่จะสนองความต้องการทางการเงินที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า...”
กำลังโหลดความคิดเห็น